จับตาดู! ระวังซ้ำรอย! “ดร.สมิทธิ”เตือนฝนถล่มอาจคล้ายปี’54 เตรียมรับมือพายุถล่มอีก2ลูก!





 

ดร.สมิทธ เตือน อย่าประมาท จัดการน้ำให้ดี คาดปีนี้อาจเจอฝนถล่ม คล้ายปี 54 ชี้ที่ผ่านมา ฝนตกหนักเพราะความกดอากาศแผ่ลงมา แต่มาแบบผิดปกติ ไม่ได้เดินทางตามเส้นศูนย์สูตร ด้าน กรมอุตุฯ คาดการณ์ จะมีพายุเข้าไทย ช่วงมิถุนายน – สิงหาคม 2 ลูก! 

ดร.สมิทธ ธรรมสโรช อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผย กับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า ที่ฝนตกหนักในช่วงนี้ ถือเป็นช่วงการเปลี่ยนฤดู ความกดอากาศสูงแผ่ลงมา แต่…เป็นการแผ่ลงมาแบบผิดปกติ แตกต่างจากที่เคยเกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยมีการแผ่ไปที่จีนแล้วลงมาทางทิศตะวันตกของประเทศไทย

“ปกติแล้วความกดอากาศจากขั้วโลกเหนือ จะแผ่ขนานตามเส้นศูนย์สูตรลงมาด้านล่าง แต่สิ่งที่เกิดในปีนี้กลับไม่เป็นแบบนั้น คือ ความกดอากาศกลับส่ายไปส่ายมา ไม่ได้แผ่ลงมาแบบเดิม ถือเป็นเรื่องผิดปกติ ส่งผลให้อากาศแปรปรวน โดยเฉพาะภาคอีสานของเราจะมีอากาศแปรปรวน ฝนฟ้าคะนอง มีฟ้าผ่า ประจุไฟฟ้าในอากาศสูงจึงต้องระมัดระวัง หากฝนตกฟ้าคะนอง เราไม่ควรออกไปยืนกลางแจ้ง เพราะช่วงนี้ฟ้าผ่าลงพื้นดินมากผิดปกติ”

ส่วนสาเหตุที่ผิดปกติ จากการได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่น ที่เดินทางมายังประเทศไทย เขาไม่ได้บอก บอกแต่เพียงว่า ความกดอากาศสูงที่ควรจะเป็น คือแผ่ตามเส้นศูนย์สูตร แต่กลับไม่ได้เป็นแบบนั้น กลับแผ่ออกเป็นลิ่มๆ ดังนั้น หากลิ่มความกดอากาศสูง ปะทะกับอากาศร้อน ที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร จุดนั้นก็จะมีฝนตกลงมากที่สุด

เหตุดังกล่าว ไม่ได้เกิดกับขั้วโลกเหนืออย่างเดียว แต่เกิดกับขั้วโลกใต้ด้วย สังเกตจากประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ก็เผชิญกับฝนตกหนัก และฟ้าผ่า

หลังจากนี้เราจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าเราจะเจอความกดอากาศในลักษณะดังกล่าวอีกหรือไม่ จากข้อมูลสถิติของกรมอุตุนิยมวิทยา บางคนบอก โอ๊ย…ไม่เป็นไร ปีนี้ไม่เหมือนปี 2554 น้ำไม่ท่วมภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง แต่…ผมบอกเลยว่าคิดแบบนั้นไม่ได้แล้ว

“ผมคาดว่าในเดือนต่อไปจะมีพายุเข้าอีก เดิมทีหลังฤดูฝนมันควรจะไม่มีพายุเข้ามาก แต่ผมคาดว่าน่าจะมีพายุเข้าอีก และคิดว่ากลัวจะเหมือนปี พ.ศ.2554 และน้ำจะเข้าไปในเขื่อนต่างๆ ที่เราบริหารกัน ทั้งนี้ เราควรจะมีการบริหารน้ำในเขื่อนให้ดี ที่ผ่านมา ผู้บริหารเขื่อนไม่ได้อยู่ในสังกัดเดียวกัน เช่น เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ กฟผ. เป็นผู้บริหาร ส่วนเขื่อนเล็กๆ จะอยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน”

ที่ผ่านมา ผู้บริหารเขื่อนมักเห็นฝนตกลงมาก็ดีใจ ก็เก็บกักน้ำกัน ต่างคนต่างเก็บ พอเก็บได้มากพ้นฤดูฝน คิดว่าไม่มีฝนแล้ว แต่เกิดมีพายุเข้ามา น้ำที่เข้ามาก็จะล้นเขื่อน ตกใจจึงต้องเร่งระบายออกมาพร้อมๆ กัน โดยที่ไม่คุยกันว่าใครจะปล่อยมากปล่อยน้อยเท่าไร จนกลายเป็นมหาอุทกภัย

เมื่อถามว่าคิดว่าปีนี้จะเจอแบบปี 2554 ใช่หรือไม่ ดร.สมิทธ กล่าวว่า “ผมเป็นห่วงอยู่…ผมเคยฟังพระราชดำริของ รัชกาลที่ 9 ท่านทรงเรียกเจ้าหน้าที่เขื่อนมาตักเตือนว่า ต้องคอยดู อย่าคิดว่าน้ำแห้ง แล้วจะเก็บๆ อย่างเดียว ถ้าปล่อยออกมาแล้วมันก็ไม่มีที่ไหนจะไป มันก็จะไปลงที่นาชาวบ้าน แล้วก็ลงแม่น้ำใหญ่ๆ ปิง วัง ยม น่าน รวมเป็นเจ้าพระยา แล้วก็รับไม่ไหวก็จะไหลท่วมกรุงเทพฯ”

อดีตอธิบดีกรมอุตุฯ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา เราไม่มีหน่วยงานใดมาสั่งการในการควบคุมการปล่อยน้ำ ทางที่ดี เราควรจะมีการประชุมกับทุกหน่วยงานที่ดูแลเรื่องเขื่อน เป็นไปได้ควรจะมีการพูดคุยกันทุกวัน เพื่อควบคุมการปล่อยน้ำ ว่าเขื่อนไหนควรปล่อยมาก ปล่อยน้อย หรือเก็บกักไว้ก่อน โดยเฉพาะเขื่อนที่ต้องรองรับเส้นทางพายุ ซึ่งเราสามารถนำข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยามาใช้งานได้ ซึ่งเขามีการพยากรณ์ไว้ทั้งหมด ว่าอีก 1-2 เดือนหน้าจะมีพายุหรือไม่ โดยเฉพาะเขื่อนที่ตั้งอยู่ในเส้นทางพายุที่เคยเข้ามา เขื่อนนั้นต้องมีการระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ควรเก็บน้ำไว้มาก

"สิ่งที่เป็นห่วงชีวิตคนมากกว่า โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากมีลมมรสุมพัดผ่านทั้งสองฝั่ง ที่สำคัญคือ แถวนั้นมีเทือกเขาตะนาวศรี และ เทือกเขาบรรทัด ซึ่งฝนส่วนใหญ่จะตกในเทือกเขา จากนั้นก็จะไหลลงมาพรวดเดียว ดังนั้น พื้นที่ นครศรีธรรมราช ปัตตานี ต้องระมัดระวัง หากลงมาจริงๆ หนีไม่ทันหรอก ที่ผ่านมา เรามีบทเรียนมาพอสมควรแล้ว ว่าเราควรบริหารจัดการน้ำให้ดี ควรจะเก็บไว้และปล่อยออกมาบ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 54 ไม่ใช่เกิดจากภัยธรรมชาติอย่างเดียว แต่เกิดจากเราด้วย อย่าไปโทษธรรมชาติมากไป เพราะมันเกิดจากฝีมือเราด้วย"

อย่างไรก็ดี หลังจากพูดคุยกับ ดร.สมิทธ แล้ว ทีมข่าวได้โทรสอบถามไปยังกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่ออยากทราบว่าประเทศเราเผชิญพายุมาแล้วกี่ลูก และจะต้องเจออีกกี่ลูก จากการได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ ได้ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เรายังไม่เจอพายุเข้าเต็มๆ สักครั้ง แต่ก็มีเฉียดๆ ผ่านมา 4 ลูก ลูกที่หนักที่สุดคือ พายุไซโคลนมารุทา แต่ก็อ่อนแรงหมดฤทธิ์ในประเทศพม่า และยังมาไม่ถึงประเทศไทย 

ทั้งนี้ เมื่อถามว่ามีการคาดการณ์ว่าไทยจะเจอพายุหรือไม่ เจ้าหน้าที่กรมอุตุฯ ตอบว่า จากการเก็บสถิติต่างๆ และมีการคาดการณ์ว่าไทยอาจจะต้องเผชิญพายุ เข้ามาทางตอนเหนือของประเทศ 2 ลูก ช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ส่วนจะเป็นพายุระดับใดนั้นคาดว่าสูงสุดน่าจะเป็นดีเปรสชัน พายุที่ประเทศไทยโดนหนักที่สุดเจอแค่ครั้งเดียวคือ พายุไต้ฝุ่นเกย์ ในปี พ.ศ.2532 

นอกจากนี้ ทีมข่าวฯ จึงสอบถามต่อไปว่า ในปี พ.ศ.2554 ประเทศไทย โดนพายุกี่ลูก เจ้าหน้าที่กรมอุตุฯ ตอบว่า "โดนเต็มๆ เพียง 1 ลูก คือ นกเตน นอกจากนี้ มีอีก 4 ลูก ที่ไทยรับอิทธิพลจากพายุที่เข้ามาใกล้เคียงเท่านั้น

ข่าวจาก : ไทยรัฐออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: