หวั่นกระทบบัตรทอง30บาท นายกฯสั่งเบรกการใช้งบ 2.2แสนล้านบรรเทาภัยน้ำท่วม





 

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการพิจารณาถึงโครงการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เพื่อสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภค-บริโภค และอุตสาหกรรม ภายใต้วงเงินงบประมาณ 2.2 แสนล้านบาท ที่กรมชลประทานเสนอ โดยนายกฯอนุมัติการดำเนินโครงการ แต่ไม่อนุมัติวงเงินงบประมาณ เพราะกังวลว่าเม็ดเงินมหาศาลที่อนุมัติไปอาจกระทบโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่นๆ และโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง หรือบัตร 30 บาทที่เป็นรัฐสวัสดิการที่คนไทยส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบ

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ทั้งนี้ ในการประชุมนายกฯยังได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบบริหารจัดการน้ำ ไปจัดลำดับความสำคัญและเร่งด่วน มีหลายโครงการดำเนินการในระยะยาว 5-6 ปี หลายโครงการยังดำเนินการไม่ได้ จึงมอบให้ท้องถิ่นไปเร่งหารือและดำนินการขจัดปัญหา เพื่อให้โครงการที่สามารถดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2561 นำมาหารือใหม่ในรอบถัดไป โดยท้องถิ่นที่รับผิดชอบแต่ละโครงการในพื้นที่ต้องร่วมหารือ หรือประชุมผ่านคณะกรรมการกลุ่มย่อย ที่ประกอบด้วย ท้องถิ่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สำนักงบประมาณ เมื่อผ่านคณะกรรมการกลุ่มย่อยแล้ว ค่อยเสนอกนช.อีกครั้ง

"ส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบโครงการน้ำ นำเสนอโครงการเข้าประชุมกลุ่มย่อยก่อน เพื่อให้ ทส.ไปสำรวจว่าแต่ละพื้นที่มีโครงการอะไร ต้องใช้งบประมาณเท่าไร เพราะมีงานบางอย่างเช่นแหล่งเก็บน้ำในส่วนท้องถิ่น เป็นงานที่ถ่ายโอนอำนาจการดูแลให้ท้องถิ่นแล้วแต่ไม่มีการซ่อมบำรุง โดยอ้างว่าไม่มีงบประมาณซ่อมบำรุง อาทิ โครงการที่บางสะพาน มีการพังเยอะ แต่ไม่มีเงินซ่อมบำรุง คณะกรรมการฯกลุ่มย่อยจึงจำเป็นต้องมีสำนักงบประมาณเข้าเป็นกรรมการด้วยเพื่อให้การอนุมัติงบประมาณในขั้นตอนที่ส่งกลับมาถึงนายกฯในกนช.อีกรอบ ง่ายและรอบคอบมากขึ้น" พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันที่ 9 พฤษภาคมนี้ กระทรวงเกษตรฯจะเสนองบประมาณรายจ่ายปี 2561 ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนจะเสนอให้สภานิติแห่งชาติ(สนช.)เห็นชอบต่อไป โดยงบประมาณรายจ่ายทั้งปีประมาณ 106,438.7411 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.83% หรือ 7,733.256 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีได้รับอนุมัติงบประมาณ 98,705.4851 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำ 47,252.8032 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.47% หรือ 2,021.3297 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีได้รับจัดสรรงบประมาณ 45,231.4735 ล้านบาท คิดเป็น 44.39% ของวงเงินงบประมาณที่ขอจัดสรร และงบประมาณรายจ่าย 59,185.9379 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.68% หรือ 5,711.9263 ล้านบาท จากปีก่อนที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ 53,474.0116 ล้านบาท คิดเป็น 55.61% ของวงเงินงบประมาณที่ขอจัดสรร

นายเลิศวิโรจน์ กล่าวว่า ส่วนงบประมาณรายจ่ายจำแนกตามแผนบูรณาการ รวมวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 62,848.5043 ล้านบาท เรียงลำดับโครงการที่ได้ขอรับจัดสรรงบประมาณในอันดับต้นๆ ดังนี้ 1.เป็นงบประมาณบริหารจัดการน้ำ ที่บูรณาการกัน 4 หน่วยงานคือ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และกรมฝนหลวง วงเงินที่ขอจัดสรรรวมประมาณ 42,771.8441 ล้านบาท หรือ 69% ของงบบูรณาการ 2.งบประมาณสำหรับพัฒนาศักยภาภการผลิต วงเงิน 9,050.6727 ล้านบาท หรือ 14% ของงบบูรณาการ 3.งบประมาณในการเสริมสร้างความเข็มแข็งและยั่งยืนให้เศรษฐกิจวงเงิน 7,267.7359 ล้านบาท หรือ ประมาณ 11%ของงบบูรณาการ ที่เหลือกระจายกันไปในกรมต่างๆ ที่รับผิดชอบโครงการบูรณาการมากน้อยต่างกัน

ข่าวจาก : ประชาชาติธุรกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: