สร้างจิตสำนึกได้จริงรึเปล่า? กรณีขนส่งมีแนวคิด”สอบใบขับขี่ผ่าน ร.ร.เอกชน อบรม15ชม.”





 

เรียกได้ว่า ประชาชนโวยวายกันลั่นโซเชียล เมื่อคมนาคมเสนอขอปรับกฎกระทรวงเรื่องการทำใบขับขี่ส่วนบุคคล-สาธารณะใหม่ โดยเพิ่มการอบรมจากเดิม 5 ชั่วโมง เป็น 15 ชั่วโมง เพื่อให้มีทักษะในการขับรถที่ดีขึ้น รวมทั้งมีทัศนคติที่ดีในการใช้รถใช้ถนนด้วย

นอกจากนี้ ยังเปิดให้เรียน อบรม สอบใบขับขี่ รวดเดียว ได้ที่โรงเรียนเอกชนที่ได้รับการรับรองจากกรมการขนส่งทางบก เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนในการหาที่เรียน อบรม และสอบใบขับขี่ เพราะทุกวันนี้มีประชาชนมารับบริการในหน่วยงานราชการจำนวนมากจนรองรับได้ไม่เพียงพอ สนนราคาค่าใช้จ่ายต่อคนไม่เกิน 6,000 บาท

ขณะที่หลายคนมองว่า การจ่ายเงินเรียน อบรม และสอบใบขับขี่ กว่า 6,000 บาท เป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชน ทั้งยังไม่เชื่อว่า ระยะเวลาเพียง 15 ชั่วโมง จะสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ใช้รถใช้ถนน ปลูกฝังจิตสำนึกให้ดีขึ้นได้

เรียน อบรม สอบ = 6,000 บาท คุ้มไหม !?
อบรม 15 ชั่วโมง ปลูกฝังจิตสำนึกได้จริงหรือ !?

เชื่อ 15 ชั่วโมงจำเป็น! เน้นเนื้อหา-ฝึกทักษะชีวิตจริง เทียบต่างประเทศถือว่าน้อย
นพ.ธนพงษ์ จินวงศ์ ในฐานะผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน ยอมรับว่า 15 ชั่วโมงยังน้อยไปด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยหัวใจสำคัญควรเน้นไปที่เนื้อหาว่า จะทำอย่างไรให้ผู้เรียนได้ปรับทัศนะ วิธีคิดในด้านการขับขี่ ทำให้ผู้เรียนได้รู้ว่า อะไรคือความเสี่ยง รวมทั้ง เมื่อเกิดความเสี่ยงจะต้องอาศัยทักษะอย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ ควรจะแบ่งสัดส่วนการอบรม 15 ชั่วโมง แบ่งเป็นการอบรมทฤษฎี 1 ใน 3 ส่วน ประเด็นเรื่องผลกระทบ ข้อกฎหมายจราจรที่สำคัญ เน้นการเปลี่ยนทัศนคติ ส่วนที่เหลือ 2 ใน 3 เป็นเวลาของการฝึกทักษะการปฏิบัติ เช่น การปรับเก้าอี้ ปรับกระจกไม่ให้มีจุดบอดในการมองข้าง หรือผ่านหน้าโรงเรียนจะต้องระวังอะไร มองอย่างไร เป็นรายละเอียดที่จะเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง

แนะ อบรมผ่อนชั่วโมง แก้ปัญหาลางาน
ขณะเดียวกัน นายวรพล สิงห์เขียวพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์ เห็นด้วยเช่นเดียวกันหากจะเพิ่มการอบรมจากเดิม 5 ชั่วโมงเป็น 15 ชั่วโมง โดยให้เหตุผลว่า รถเปรียบเสมือนอาวุธชนิดหนึ่ง ถูกใช้เป็นเครื่องมือฆ่าคนได้ พร้อมเชื่อมั่นว่า ยิ่งอบรมมากก็ยิ่งทำให้โอกาสที่จะปฏิบัติตามกฎหมายดีขึ้น มีจิตสำนึกที่ดีขึ้น อย่างน้อย 1% ก็ยังดี

อีกทั้ง หากสามารถสะสมชั่วโมงเรียนได้ ยิ่งจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการลางานอบรมทำใบขับขี่ และหากสอบไม่ผ่านภาคปฏิบัติควรจะยืดระยะเวลาให้เก็บชั่วโมงอบรมนานขึ้นเป็น 1 ปี ไม่ใช่แค่ 3 เดือนเหมือนอย่างทุกวันนี้ สำหรับคนที่ไม่มีเวลามาสอบปฏิบัติ

เรียน อบรม สอบ ไม่เกิน 6,000 บาท ลงทุนเพื่อไลเซ่นส์ เชื่อไม่แพง!?
นายวรพล กล่าวว่า 6,000 บาท เป็นค่าเรียนขับรถ ค่าอบรม และค่าสอบทำใบขับขี่ด้วย สำหรับตนถือว่าไม่แพง เพราะหากจะให้ตนลองจัดคอร์สเรียนอบรมขับขี่ปลอดภัย ต้องใช้เงินถึงหลักหมื่นบาท แต่ทั้งนี้ ไม่ควรจะบังคับว่าจะต้องสอบใบขับขี่กับโรงเรียนเอกชนอย่างเดียวเท่านั้น เพราะบางคนขับรถได้อยู่แล้ว หรือมีคนสอนที่ดีกว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนกับโรงเรียนเอกชน ดังนั้น กรมการขนส่งทางบกก็ควรที่จะเปิดโอกาสให้คนเหล่านั้นได้สอบใบขับขี่กับทางราชการด้วย

ขณะที่ นพ.ธนพงษ์ มองว่า หากประเทศไทยต้องการเห็นโรงเรียนที่มีมาตรฐาน ซึ่งจุดคุ้มทุนสถานที่ ห้อง ครูฝึก แต่ละโรงเรียนการลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ถ้าให้เก็บค่าบริการต่ำมาก ก็จะกลายเป็นการขาดคุณภาพได้

แต่ทั้งนี้ อัตราไม่จำเป็นต้อง 6,000 บาท ซึ่งทางกรมการขนส่งฯ ก็ระบุว่า เพดานราคาสูงสุดคือ 4,000-6,000 บาท ขึ้นอยู่กับว่าโรงเรียนนั้น มีผู้ต้องการจะเรียนมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีผู้เรียนเยอะก็ไม่จำเป็นต้องมาเก็บเต็มเพดาน

“ถ้ามีข้อจำกัดในเรื่องของค่าใช้จ่าย บางประเทศจะใช้การเรียนแบบสะสมหน่วย ค่อยๆ เก็บสะสมชั่วโมงเรียนไป แต่สำหรับกรณีเป็นลูกจ้าง ต้องการใบขับขี่มาทำงาน ไม่สามารถใช้ระยะเวลาเก็บชั่วโมงได้ ผมคิดว่ามันคือการลงทุนที่จะได้ไลเซ่นเพื่อไปสมัครงาน เหมือนกับการสอบเข้าทำงานที่มีเกณฑ์การรับสมัครว่า จะต้องสอบภาษาต่างๆ ผ่านเกณฑ์เท่าไหร่” ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน ให้ความเห็น

เปิดช่องเอกชน ซื้อ-ขาย ใบขับขี่ ง่ายขึ้นจริงหรือ!?
สำหรับร่างกฎหมายสอบใบขับขี่ใหม่ จะให้ไปเรียนขับรถกับโรงเรียนเอกชน พร้อมเปิดอบรมและสอบใบขับขี่เบ็ดเสร็จที่นั่น ส่วนทางกรมการขนส่งฯ จะค่อยๆ ลดจำนวนลงเหลือกลุ่มรถสาธารณะ และรถใหญ่ อาจดูเหมือนเป็นการเปิดช่องให้เอกชนทำมาหากินซื้อ-ขายใบขับขี่ได้ง่ายขึ้นหรือไม่

ผู้จัดการ ศวปถ. อธิบายว่า ข้อกังวลดังกล่าวนั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของการออกใบอนุญาตให้กับโรงเรียน และการเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งต้องยอมรับว่า โรงเรียนเอกชนก็ถือว่าเป็นจุดแข็งที่กรมการขนส่งฯ สามารถบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดได้ เมื่อเทียบบุคลากรของตัวเอง อย่างที่อาจจะเคยได้ยินว่า ภาคปฏิบัติที่นี่ง่าย กว่าที่นั่น ซึ่งอาจจะมีบางแห่งที่อะลุ้มอล่วย ซึ่งคนที่อยู่ในระบบราชการด้วยกันการกำกับไม่ง่ายนัก เมื่อเทียบกับเอกชนนั้น กรมการขนส่งฯ เหมือนถือดาบอยู่ในมือ อีกทั้ง โรงเรียนเอกชนคงไม่กล้าเอาธุรกิจราคา 10-20 ล้านบาท มาเสี่ยงถูกเพิกถอนใบอนุญาตแน่นอน

นอกจากนี้ อาจจะมีการรีเช็กอีกครั้ง โดยตรวจสอบจากผู้ที่ฝ่าฝืนกฎจราจรว่า ได้ใบขับขี่มาจากโรงเรียนไหน หรือพบว่าคนที่ไม่พร้อม ไม่มีทักษะ แต่ผ่านมาจากโรงเรียนนี้เจ้าประจำ ก็จะโดนตรวจสอบเรื่องมาตรฐานเป็นพิเศษกถือเป็นการช่วยรีเช็กมาตรฐานโรงเรียนอีกชั้นหนึ่ง

สอบใบขับขี่เข้มแค่ไหน หากกฎหมายยังหย่อนก็ไร้ประโยชน์!?
ด้าน นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) เปิดเผยว่า แม้การเพิ่มชั่วโมงการอบรมเป็น 15 ชั่วโมง แต่หากการบังคับใช้กฎหมายไม่ทำงาน ทำผิดแต่ไม่ได้รับการลงโทษ หรือผิดซ้ำผิดซากก็ยังอยู่บนท้องถนนได้ มาตรการออกใบขับขี่ที่เข้มงวดก็ไร้ประโยชน์ แต่หากทำผิดแล้วได้รับโทษ ผิดซ้ำซากไม่อนุญาตให้ขับรถอีกต่อไป เชื่อว่าจิตสำนึกของคนเรากลับเข้าร่างได้แน่นอน

“อันที่จริงผมอยากให้ลบภาพมือใหม่หัดขับออกให้หมด นั่นหมายความว่า ต้องฝึกจนเขาชำนาญระดับหนึ่งจนกระทั่งเข้ามาขับขี่บนถนนแล้วไม่เป็นอุปสรรคแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน ดังนั้น จึงต้องอาศัยระยะเวลาพอสมควร ไม่ใช่แค่เพียงอบรม 5 ชั่วโมง ปฏิบัติ 10 ชั่วโมง แต่ยังรวมไปถึงเทคนิคการสอนด้วย ซึ่งเรายังขาดเรื่องการให้ข้อมูลสถานการณ์ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ความรุนแรงในแต่ละวัน และการปลูกฝังจิตสำนึกด้านความปลอดภัย” ผอ.สคอ. แสดงทัศนะ

กระแสต้านอื้อ! ครม. ตีกลับขนส่งฯ ปรับแก้ใหม่ อย่าให้ ปชช. เดือดร้อน
อย่างไรก็ดี การสอบใบขับขี่แบบใหม่นั้น ยังไม่ประกาศใช้ในเร็ววันนี้แน่นอน โดย นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เผยว่า หลังจากการที่เสนอ ครม.ไป เกิดกระแสค่อนข้างเยอะ ทางคมนาคมจึงได้ถอนเรื่องนี้ออกจาก ครม. ก่อน และตีกลับมาให้ขนส่งดูรายละเอียดอีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องและไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน

ทั้งนี้ สำหรับเรื่องที่ประชาชนมีความกังวลมาก มีอยู่ 3 ประเด็น ได้แก่

1. จะต้องผ่านการอบรมทั้งภาคทฤษฎี 5 ชั่วโมง ปฏิบัติ 10 ชั่วโมง ต้องมีการหัดขับรถจริง
2. ค่าใช้จ่ายถ้าเข้าไปเรียน อบรม ของเอกชน ค่าใช้จ่ายยังสูงอยู่ 
3. ทางกรมการขนส่ง มีโรงเรียนที่สอนเต็มรูปแบบจำนวนไม่มาก ทางเลือกตรงนี้ยังถือว่า ยังไม่สะท้อนกับการปรับการให้บริการ

“ตอนนี้นำเรื่องกลับมาทบทวนดูอีกครั้ง ลองปรับดูในข้อกังวลของต่างๆ ของประชาชน แต่ยืนยันว่า เป้าหมายเรายังเหมือนเดิม คือ เพื่อให้ผู้ขับขี่มีมาตรฐาน ให้คนขับรถเป็น รู้กฎจราจร รักษาวินัยจราจร รวมทั้ง ผู้ขับขี่ต้องรับผิดชอบทั้งต่อตัวเอง ผู้โดยสาร และผู้ร่วมทาง ด้วย” อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ระบุ

ข่าวจาก : ไทยรัฐออนไลน์เฉพาะกิจ

 

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: