ผิดคาด!! สช.ชี้ หมอ-พยาบาล “ไม่ขาดแคลน” อีก10ปีข้างหน้า “สาธารณสุข” ล้นตลาด!!





 

สช. ชี้ “หมอ – พยาบาล” ไม่ขาดแคลน เผย อัตรารวม 2 วิชาชีพต่อคนไทยเกินกว่าสัดส่วนที่ WHO กำหนด 2.28 ต่อ 1,000 ประชากร แต่มีปัญหาการกระจายตัว นักวิชาการชี้ 10 ปี ข้างหน้า “หมอ – หมอฟัน – พยาบาล” เพียงพอ หากกำลังการผลิตเท่าเดิม แต่ขาดแคลน “เภสัชกร” ด้านกลุ่ม “นักสาธารณสุข” อาจล้นความต้องการ ชู “ทีมหมอครอบครัว” ดูแลประชาชนใกล้บ้าน คนไทยดูแลสุขภาพตัวเองเป็น ลดการไป รพ. ได้
       
3 เม.ย.60 ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวในเวที สช. เจาะประเด็น ครั้งที่ 1/2560 เรื่อง “ล้นตลาดหรือขาดแคลน! ถึงเวลาสแกนกำลังคนด้านสุขภาพ” ว่า บุคลากรด้านสุขภาพเพียงพอต่อการดูแลประชากรหรือไม่นั้น ในระดับสากลองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดจำนวน “แพทย์และพยาบาล” ต่อประชากรไว้ที่ 2.28 คนต่อประชากร 1,000 คน หากประเทศใดน้อยกว่าอัตราส่วนนี้ ถือว่าขาด หากมากกว่าสัดส่วนดังกล่าวถือว่ากำลังคนอยู่ในระดับที่ใช้ได้ สำหรับประเทศไทยอัตรารวมของแพทย์และพยาบาลต่อประชากรไทยถือว่าเกินสัดส่วน 2.28 คนต่อประชากร 1,000 คน หมายความว่าจริงๆ แล้วประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลน แต่เป็นปัญหาเรื่องของระบบการจัดการและการกระจายกำลังคน ที่จะต้องกระจายลงสู่ชุมชนให้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พยายามแก้ปัญหา เช่น มีการโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ซึ่งก็ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ทั้งนี้ หากมองในสัดส่วนของแพทย์ต่อพยาบาล ประเทศไทยสัดส่วนจะอยู่ที่หมอ 1 คนต่อ พยาบาล 5 คน ซึ่งถือเป็นโอกาสในการดำเนินการเรื่องสุขภาพอย่างเป็น “ทีม” ซึ่ง สธ. กำลังดำเนินการในเรื่องทีมสุขภาพ 

นพ.ฑินกร โนรี คณะอนุกรรมการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศในทศวรรษหน้า กล่าวว่า ประเทศไทยควรมีแพทย์และพยาบาลกี่คน ถือเป็นคำถามเชิงนโยบายที่มาเสมอและประชาชนเองก็อยากทราบ ซึ่งจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่เหมาะสมโดยเฉพาะในอนาคตประมาณ 5 – 10 ปีข้างหน้า จึงถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะวางแผน ดังนั้น การจะศึกษาว่ากำลังคนทางสุขภาพของประเทศไทยในอนาคตควรมีประมาณเท่าไร จึงต้องพิจารณาก่อนว่า ประเทศไทยต้องการระบบสุขภาพแบบใดใน 10 ปีข้างหน้า เช่น หากยึดระบบสุขภาพแบบสหรัฐอเมริกา คือ มีแต่แพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ ก็จะมีการวางแผนกำลังคนแบบหนึ่ง แต่หากจะเน้นความเข้มแข็งของระบบบริการปฐมภูมิ รูปแบบกำลังคนก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วประเทศไทยกำลังเจอความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร คือ คนเกิดน้อยลง และมีผู้สูงอายุจำนวนเพิ่มมากขึ้น ต้องการการดูแลเพาะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายมากขึ้น การดูแลในระดับที่เหมาะสม รัฐสามารถดูแลได้ ก็คือ การสร้างความเข้มแข็งของระบบปฐมภูมิ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ปัจจุบันกำลังคนด้านสุขภาพถือว่าเพียงพอ แต่มีปัญหาระบบการกระจายบุคลากร โดยพบว่าบางจังหวัดมีแพทย์เกินกรอบ ส่วนบางจังหวัดก็มีแพทย์น้อยกว่ากรอบ เช่นเดียวกับวิชาชีพพยาบาลทีมีปัญหาการกระจายบุคลากรเหมือนกัน
       
นพ.ฑินกร กล่าวว่า เมื่อดูจากข้อมูลปริมาณกำลังคนด้านสุขภาพ ปัจจุบันพบว่า แพทย์มีจำนวนประมาณ 50,000 คน สัดส่วนการดูแลประชาชนอยู่ที่ประมาณ 1 ต่อ 1,292 คน พยาบาลมีประมาณ 158,000 คน สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 419 คน ทันตแพทย์ประมาณ 11,500 คน สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 5,643 คน เภสัชกรประมาณ 26,100 คน สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 2,494 คน เป็นต้น ขณะที่เมื่อดูการผลิตบุคลากรด้านสุขภาพพบว่า อัตราการผลิตแพทย์อยู่ที่ประมาณ 3,000 คนต่อปี พยาบาลผลิตได้ปีละ 11,000 คน ทันตแพทย์ผลิตได้ปีละ 616 คน และกำลังจะเพิ่มเป็น 826 คน เป็นต้น ซึ่งการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ถือว่าเพิ่มจำนวนมากขึ้น อย่างแพทย์เมื่อช่วง 40 – 50 ปีก่อน ประเทศไทยจะรู้สึกว่ามีจำนวนแพทย์น้อย จึงเร่งการผลิตเพิ่มมากขึ้นจากเดิมปีละประมาณ 800 คน ก็เพิ่มมาเป็นประมาณ 3,000 คน ซึ่งหากผลิตแพทย์ในอัตรานี้ ใน 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีแพทย์เพิ่มอีกเกือบ 30,000 คน
       
“สิ่งที่ต้องคำนึงคือ อัตราประชากรของประเทศไทยจะไม่ได้เพิ่มมากขึ้นอย่างอดีตที่ผ่านมา เพราะคนไทยเกิดน้อยลง ดังนั้น การคาดการณ์จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ในอนาคต เมื่อคำนวณจากจำนวนประชากรที่มีการเกิดน้อยลง เป็นผู้สูงอายุมากขึ้น อัตราค่าเฉลี่ยของการเข้าโรงพยาบาลในสัดส่วน 3 ครั้งต่อคนต่อปีแล้ว และอัตราการผลิตในปัจจุบัน พบว่า อนาคต 10 ปีข้างหน้า กำลังคนบางวิชาชีพที่จะมีสัดส่วนที่เพียงพอหรืออาจบวกลบนิดหน่อย คือ กลุ่มแพทย์ ทันตแพทย์ และพยาบาล ดังนั้น จึงเสนอว่าควรผลิตตามอัตราเท่านี้ไม่ต้องเพิ่มการผลิตแล้ว กลุ่มที่มีน้อยกว่าความต้องการ คือ เภสัชกร เพราะพบว่าหลังเรียนไป 1 ปี แล้วบางส่วนหันไปเรียนทางด้านอื่น ดังนั้น ต้องเพิ่มแรงจูงใจให้อยู่ในระบบ ส่วนกลุ่มที่จะเกินความต้องการของตลาดคือ นักสาธารณสุข เพราะมีกำลังผลิตปีละหมื่นกว่าคน ถ้าผลิตในอัตรานี้จะมีเป็นแสนๆ คน” นพ.ฑินกร กล่าว
       
ดร.กฤษดา แสวงดี นักวิจัยอาวุโสด้านนโยบายกำลังคนด้านสุขภาพ และอุปนายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า ระบบสุขภาพของประเทศไทยถือว่าดีมาก เพราะมีสถานพยาบาลในทุกพื้นที่ คือ มี รพ.สต. ทุกตำบล มีโรงพยาบาลชุมชนในทุกอำเภอ และมีโรงพยาบาลจังหวัดและโรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลเฉพาะทางอีก เพียงแต่ประชาขนเมื่อเจ็บป่วยจะเลือกไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลใหญ่ๆ จึงทำให้เกิดปัญหาคนไข้ล้น คือไม่ได้ไปตามโครงข่ายที่วางไว้ที่ว่าควรไปในระดับปฐมภูมิก่อน ทำให้เกิดความรู้สึกว่าขาดแคลนกำลังคนซึ่งค้านกับตัวเลขทางวิชาการ ดังนั้น สธ. จึงแก้ปัญหาด้วยการจัดทีมหมอครอบครัว เพื่อไปดูแลใกล้ประชาชนในชุมชน เน้นการดูแลแบบปฐมภูมิ ในการเป็นที่ปรึกษาให้แก่ชาวบ้านก่อนว่าอาการเช่นนี้ควรดูแลตัวเองอย่างไร จำเป็นต้องไปพบแพทย์หรือไม่ เพราะบางอย่างไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ก็ได้ แต่แค่ดูแลตัวเองให้ดีก็หายจากการเจ็บป่วยได้
       
นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ผอ.รพ.แก่งคอย จ.สระบุรี กล่าวว่า ประเทศไทยยึดค่านิยมตามสหรัฐฯ คือแพทย์แผนปัจจุบันดีที่สุด หากเป็นอะไรให้ไปพบแพทย์ก่อน ทำให้ขาดการดูแลตัวเอง ชุมชนดูแลตัวเอง เป็นอะไรเล็กน้อยก็ต้องพบแพทย์ ซึ่งในมุมมองของแพทย์บางโรคก็ไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์ก็ได้ ซึ่งจากการให้บริการในพื้นที่พบว่ามีถึงประมาณ 30 – 40% ที่ไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์ เช่น ไข้หวัด หรือ อุจจาระร่วง ซึ่งสามารถดูแลตัวเองให้ดี ก็สามารถหายเองได้โดยที่ไม่ต้องมาพบแพทย์ เป็นต้น ทั้งนี้ ตนมองว่ากำลังคนด้านสุขภาพ อาจต้องมองรวมไปถึงประชาชน ครอบครัว และชุมชนด้วย ซึ่งหากทำให้พวกเขามีความรอบรู้ด้านสุขภาพ คือ รู้ว่าอาการแบบใดควรไปพบแพทย์ เกิดอาการแบบนี้จะดูแลตัวเองอย่างไร ก็จะช่วยลดการไปใช้บริการในโรงพยาบาลลงได้
       
       ปริมาณกำลังคนด้านสุขภาพในปัจจุบัน
       แพทย์ มีจำนวน 50,573 คน สัดส่วนการดูแลประชาชนอยู่ที่ 1 ต่อ 1,292 คน
       พยาบาล มีจำนวน 158,317 คน สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 419 คน
       ทันตแพทย์ มีจำนวน 11,575 คน สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 5,643 คน
       ทันตาภิบาล มีจำนวน 6,818 คน สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 9,581 คน
       เภสัชกร มีจำนวน 26,187 คน สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 2,494 คน
       เทคนิคการแพทย์ มีจำนวน 15,200 คน สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 4,298 คน
       นักกายภาพบำบัด มีจำนวน 10,065 คน สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 6,490 คน
       สัตวแพทย์ มีจำนวน 8,000 คน สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 8,165 คน
       นักวิชาการสาธารณสุข มีจำนวน 27,035 คน สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 2,416 คน
       เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน มีจำนวน 27,006 คน สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 2,419 คน
       แพทย์แผนไทย/ประยุกต์ มีจำนวน 30,371 คน สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 2,151 คน
       
       สถานการณ์การผลิตกำลังคนด้านสุขภาพ
       แพทย์ มีการผลิต 21 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 3,121 คน
       พยาบาล มีการผลิต 86 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 11,000 คน
       ทันตแพทย์ มีการผลิต 13 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 616 คน และจะเพิ่มเป็น 826 คน
       ทันตาภิบาล มีการผลิต 7 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 400 คน
       เภสัชกร มีการผลิต 19 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 2,000 คน
       เทคนิคการแพทย์ มีการผลิต 12 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 911 คน
       กายภาพบำบัด มีการผลิต 16 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 850 – 900 คน
       สัตวแพทย์ มีการผลิต 9 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 650 คน
       สาธารณสุข มีการผลิต 69 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 10,988 – 14,197 คน
       แพทย์แผนไทย/ประยุกต์ มีการผลิต 27 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 1,080 คน

ข่าวจาก : manager.co.th

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: