10 เมนูอาหารค้างมื้อ เสี่ยงอาหารเป็นพิษ





อธิบดีกรมควบคุมโรค เตือนการทานอาหารที่ปรุงไว้นานหรืออาหารค้างมื้อ รวมทั้งการบริโภคอาหารทะเลที่ปรุงไม่สุกและน้ำที่ปนเปื้อน อาจทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ พร้อมแนะควรทานอาหารปรุงสุก รับประทานทันทีไม่เกิน 2-4 ชั่วโมง
 

 
 
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเตือนประชาชนระวังการรับประทานอาหาร หรือน้ำ ที่ปนเปื้อนแบคทีเรีย ไวรัส หรือ พยาธิ ปนเปื้อนสารพิษ สารเคมี หรือโลหะหนัก เป็นต้น เพราะอาจทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ โดยอาการของโรคจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากรับประทานอาหารแล้ว อาการส่วนใหญ่จะถ่ายอุจจาระเป็นน้ำและปวดมวนท้องรุนแรงเฉียบพลัน บางครั้งมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นไข้และปวดศีรษะ บางครั้งมีอาการคล้ายเป็นบิด ถ่ายอุจจาระปนเลือด หรือเป็นมูก ไข้สูง และมีจำนวนเม็ดเลือดขาวสูง เป็นโรคที่ไม่ค่อยรุนแรง มีระยะเวลาดำเนินโรค 1-7 วัน

การติดเชื้อในระบบอื่นของร่างกายและการตายพบได้ แต่พบน้อยมาก ระยะฟักตัว ปกติ 6-25 ชั่วโมง หรืออยู่ในช่วง 4-30 ชั่วโมง โรคอาหารเป็นพิษ มักป่วยไม่รุนแรงรักษาได้ตามอาการ เช่น อาการ ปวดท้อง และการทดแทนด้วยน้ำและเกลือแร่ ด้วยสารละลายเกลือแร่ และน้ำตาลทางปาก ไม่แนะนำการให้ยาปฏิชีวนะ หากมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงขึ้น เช่น อาเจียนมาก รับประทานอาหารและน้ำไม่ได้  ถ่ายเหลวไม่หยุด มีไข้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ให้รีบมาพบแพทย์ ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร. 0-2590 3183 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 
อาหารที่ต้องให้ระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะถ้าปรุงไว้นานหรือค้างมือ 10 เมนู ได้แก่ 
 
1.ลาบ และก้อยดิบ 
 
2.ยำกุ้งเต้น 
 
3.ยำหอยแครง 
 
4.ข้าวผัดโรยเนื้อปู 
 
5.อาหารผสมกะทิ หรือราดกะทิ เช่น ข้าวเหนียวมะม่วง 
 
6.ขนมจีน 
 
7.ข้าวมันไก่ 
 
8.ส้มตำ 
 
9.สลัดผัก 
 
10.น้ำและน้ำแข็ง
 
 
มาตรการป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ มี 11 ประการ ดังนี้ 
 
1.เลือกอาหารที่ผ่านการเตรียมเป็นอย่างดี อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบควรรับประทานเฉพาะที่ปรุงสุกใหม่เท่านั้น หากมีปริมาณที่เหลือแล้วไม่ควรเก็บไว้ เพราะจะบูดเสียง่าย ผักสดต้องล้างให้สะอาด 
 
2.ปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนทั่วถึง ในกลุ่มของอาหารทะเลต้องปรุงสุก หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะกุ้ง หอย ปลาหมึก 
 
3.ควรกินอาหารที่สุกใหม่ๆ ควรรับประทานทันทีไม่เกิน 2-4 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จเส้นขนมจีนที่ทำจากแป้งหมักเสียง่ายไม่ควรทิ้งค้างคืน 
 
4.ระมัดระวังอาหารที่ปรุงสุกแล้วอย่าให้มีการปนเปื้อน 
 
5.อาหารที่ค้างมื้อต้องอุ่นให้ร้อนก่อน 
 
6.แยกอาหารดิบและอาหารสุก ให้ระมัดระวังการปนเปื้อน ส่วนอาหารถุงและอาหารกล่อง ควรบรรจุแยกกันระหว่างข้าวและกับข้าว 
 
7.ล้างมือก่อนจับต้องอาหารเข้าสู่ปาก 
 
8.รักษาความสะอาดของห้องครัว อุปกรณ์ประกอบอาหารและรับประทานอาหาร 
 
9.เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลง หนู หรือสัตว์อื่นๆ 
 
10.ใช้น้ำสะอาด น้ำดื่มและน้ำแข็งควรเลือกที่บรรจุภัณฑ์มีเครื่องหมาย อย.รับรอง ภาชนะปิดแน่นและไม่นำน้ำแข็งที่ใช้แช่ของมารับประทาน 
 
11.การทานส้มตำ ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะการปรุงจะใส่วัตถุดิบที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคทั้งปลาร้า ปูดอง ผักสด ทั้งมะละกอ มะเขือ หากล้างไม่สะอาดจะทำให้เสี่ยงต่ออาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วงได้ง่าย 
 
 
ทั้งนี้ สำนักระบาดวิทยากรมควบคุมโรค เปิดเผยข้อมูลเฝ้าระวังโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2557 – 9 มิ.ย. 2557 พบผู้ป่วย 55,523 ราย จาก 77 จังหวัด  ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ คือ 45-54 ปี  รองลงมา 15-24 ปี และ อายุมากกว่า 65 ปี จังหวัดที่มีอัตราป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษสูงสุด คือ หนองบัวลำภู รองลงมา คือ อุดรธานี นครพนม ปราจีนบุรี และอำนาจเจริญ ตามลำดับ

ที่มา voicetv

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: