ธอส.เผย ไทยมีบ้านว่างกว่า1.3ล้านหลัง กทม.-ปริมณฑลมีคอนโดว่างมากสุด





นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) คาดการณ์ว่าที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จะมีจำนวน 98,132 หน่วย ลดลง -10.5% มีมูลค่า 505,235 ล้านบาท ลดลง -8.2% เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งมีที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ 109,591 หน่วย มูลค่า 550,552 ล้านบาท

ด้านหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศ มีจำนวน 352,761 หน่วย ลดลง -10.2% มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ 1,016,838 ล้านบาท ลดลง -4.5% แบ่งเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบจำนวน 264,571 หน่วย ลดลง -7.4% มูลค่า 753,628 ล้านบาท ลดลง -2.9% และที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดคาดการณ์ว่าจะมีหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์จำนวน 88,190 หน่วย ลดลง -17.7% มูลค่า 263,210 ล้านบาท ลดลง -8.8%

แม้การเปิดตัวใหม่และโอนกรรมสิทธิ์จะเป็นในทิศทางติดลบ ในทางกลับกันปริมาณ”บ้านว่าง”ในประเทศไทยยังมีในปริมาณที่ค่อนข้างสูง

มีข้อมูลจากนายโสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด(AREA) ระบุว่า ในปี 2565 มีบ้านว่าง คือ บ้านที่สร้างเสร็จ แต่ไม่มีคนอยู่อาศัย ในเขตกรุงเทพและปริมณฑลรวมกันถึง 617,923 หน่วย โดยเกือบทั้งหมดถูกซื้อไปแล้ว และในจำนวนนี้ 300,000 หน่วย เป็นห้องชุดที่ว่างอยู่ และห้องชุดในกรุงเทพมีอัตราว่างสูงถึง 20-25% ขณะเดียวกันตลาดปล่อยเช่าก็ไม่ค่อยได้ ขายก็ยาก

“จากตัวเลขถือว่ามีจำนวนมากทีเดียว โดยมีสัดส่วนถึง 13.3% จากบ้านทั้งหมดมีอยู่ 4,654,370 หน่วย หากยิ่งพิจารณาจากขอบเขตทั่วประเทศ ประมาณการว่าจะมีบ้านว่างรวมกันถึง 1,309,551 หน่วย จากที่อยู่อาศัยทั่วประเทศจำนวน 27,708,635 หน่วย หรือประมาณ 4.7% หากปีหนึ่งมีเปิดตัวโครงการใหม่ทั่วประเทศ 200,000 หน่วย เท่ากับว่าแทบไม่ต้องเปิดโครงการใหม่ถึงราว 6 ปีก็ยังมีที่อยู่อาศัยเพียงพอแก่ผู้สนใจซื้อ”นายโสภณกล่าว

นายโสภณกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาบ้านว่างควรประเมินค่าทรัพย์สินบ้านเหล่านี้ตามสภาพในราคาตลาด เช่น หากเฉลี่ยหน่วยละ 2 ล้านบาท ก็เก็บภาษีปีละ 2% หรือ 40,000 บาท เพื่อกระตุ้นให้เจ้าของมาใช้สอย หรือขายเพื่อเพิ่มอุปทานในตลาดให้แก่ผู้สนใจซื้อ เมื่อมีอุปทานเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ราคาบ้านก็จะไม่สูงจนเกินไป ความสามารถในการซื้อบ้านของประชาชนก็จะไม่ได้ผลกระทบ

“หากบ้านหลังใดไม่ได้มีการเคลื่อนไหวใดและไม่ได้เสียภาษีมานานถึง 3 ปี หากไม่สามารถหาเจ้าของได้ในขณะนั้น รัฐควรนำบ้านมาประมูลขาย นำเงินมาเสียภาษีที่ติดค้างไว้ เมื่อขายแล้วนำเงินไปฝากที่สถาบันการเงิน เพื่อให้เจ้าของ (ถ้ามี) มารับในภายหลัง จะปล่อยให้มีการเก็บทรัพย์ไว้เก็งกำไรโดยไม่เสียภาษีไม่ได้”นายโสภณกล่าวทิ้งท้าย

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: