ชัชชาติเปิดให้เอกชนลอกท่อ เผยราชทัณฑ์แรงงานไม่พอ มั่นใจเสร็จทันหน้าฝน





2 มีนาคม ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของ กทม.ครั้งที่ 3/2566

นายชัชชาติกล่าวว่า ในที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วม ทั้งการขุดลอกคูคลองเปิดทางน้ำไหล การล้างทำความสะอาดลอกท่อระบายน้ำ การล้างทำความสะอาดบริเวณตลาด การซ่อมบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำ สถานีสูบน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ และอุโมงค์ทางลอดรถยนต์ ไว้เรียบร้อยแล้ว แต่พบปัญหาความล่าช้าในการจ้างกรมราชทัณฑ์ดำเนินการขุดลอกท่อระบายน้ำ เนื่องจากกรมราชทัณฑ์มีข้อจำกัดเรื่องแรงงานและวัสดุอุปกรณ์

นายชัชชาติกล่าวว่า ขณะที่ กทม.มีการจ้างขุดลอกท่อระบายน้ำในปริมาณมาก จึงเปิดให้จ้างเอกชนเข้ามาดำเนินการได้ โดยได้กำชับให้ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบราชการที่กำหนด ยอมรับว่าการจ้างกรมราชทัณฑ์จะทำให้งานแล้วเสร็จไม่ทันตามแผน แต่กรมราชทัณฑ์ทำงานได้อย่างมีคุณภาพที่ดี อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการขุดลอกท่อระบายน้ำจะแล้วเสร็จทันก่อนฤดูฝนอย่างแน่นอน

ด้าน นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักระบายน้ำ กล่าวว่า ปัจจุบันมี 24 เขต ที่พิจารณาสัญญาแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการ 17 เขต อยู่ระหว่างการพิจารณาสัญญา 4 เขต จ้างเอกชนดำเนินการ ส่วนที่เหลือยังไม่ได้รับรายงาน

นายสุราษฎร์ชี้ว่า กทม.มีแผนลอกท่อระบายน้ำ ปีงบประมาณ 2566 แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นของสำนักการระบายน้ำ มีแผนดำเนินการลอกท่อ 947 กม. จาก 2,050 กม. แบ่งเป็นสำนักระบายน้ำ ดำเนินการลอกเอง 45 กม. เสร็จแล้ว 76.5% และจ้างเอกชนหรือกรมราชทัณฑ์ดำเนินการ 902 กม. เสร็จแล้ว 30.1%

ขณะที่การลอกท่อในส่วนของสำนักงานเขตมีแผนดำเนินการลอกท่อ 2,532 กม. จาก 4,510 กม. แบ่งเป็นส่วนที่สำนักงานเขต ดำเนินการลอกเอง 848 กม. เสร็จแล้ว 53.1% และจ้างเอกชนหรือกรมราชทัณฑ์ดำเนินการ 1,684 กม. เสร็จแล้วเพียง 8%

“นอกจากนี้ สำนักการระบายน้ำ มีแนวทางแก้ไขปัญหาจากน้ำเหนือน้ำหนุน โดยการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กจำนวน 120 จุด และยังมีแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังจากน้ำฝน โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 507 จุด แบ่งเป็นความรับผิดชอบของสำนักการระบายน้ำ 111 จุด และสำนักงานเขต 396 จุด ขณะเดียวกันยังมีแผนติดตั้งเครื่องสูบน้ำให้เสร็จก่อนฤดูฝนอีก 259 จุด” นายสุราษฎร์กล่าว

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: