หมอรามาฯ เตือน! “น้ำซุปชาบู” ตัวทำโซเดียมสูง กินน้ำเปล่า-ออกกำลังลดได้แค่10-20%





2 ม.ค. 2566 – รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีกระแสคำแนะนำให้ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ แล้วออกกำลังกายเพื่อขับโซเดียม หลังจากกินอาหารที่มีโซเดียมสูง

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า การดื่มน้ำแล้วออกกำลังกายช่วยขับโซเดียมได้บ้าง 10-20% ซึ่งหากทำได้ก็ถือว่าดี ดีกว่าไม่ดื่มน้ำเปล่าไม่ออกกำลังกาย โดยควรดื่มน้ำอย่างเหมาะสม เพราะเกลือโซเดียมจะขับออกทางปัสสาวะ หากดื่มน้ำน้อยเกินไปจะทำให้ปัสสาวะน้อย เกลือก็ออกไม่ได้ ค้างในตัวนาน

ส่วนการออกกำลังกาย อาจช่วยขับโซเดียมออกจากร่างกาย 5-10% ขึ้นกับว่าเราออกกำลังกายนานมากน้อยแค่ไหน ถ้าออกประมาณครึ่งชั่วโมงก็อาจจะไม่มาก แต่ถ้าออกกำลังกายเกิน 1 ชั่วโมง ก็อาจช่วยเอาโซเดียมออกได้มากขึ้น เนื่องจากโซเดียมจะออกไปพร้อมกับเหงื่อ จะเห็นว่าเหงื่อจะมีรสเค็ม จะช่วยให้ไตเราได้พัก เพราะตามปกติแล้วโซเดียมจะขับออกทางไตถึง 90% ดังนั้นการออกกำลังกายก็ถือว่าช่วยได้บ้าง

“แต่ถ้าเรากินเค็มมาก ๆ ถามว่าจะออกกำลังกายทุกวันได้หรือไม่ ซึ่งบางคนทำไม่ได้ ก็แนะนำว่าหนทางที่ดีที่สุดคือ การลดบริโภคเค็มหรือลดโซเดียม มื้อหน้าก็เบา ๆ ลงหน่อย หรือกินจืดหน่อย ให้ไตได้พัก ไม่ใช่กินหนักกินเค็มทุกมื้อ”

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ อาหารประเภทน้ำต้องกินน้อย ๆ อย่างชาบูที่หลายคนชอบ ตัวโซเดียมนั้นอยู่ในน้ำ ยิ่งต้มนานเท่าไรน้ำก็ยิ่งเค็ม แนะนำให้กินเนื้อ น้ำไม่ควรไปเน้นมาก ซดหมดถ้วยหมดกาก็ไม่ไหว ยิ่งอาหารโซเดียมสูง ในร้านมักมีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงมาคู่กันอย่างน้ำอัดลม เพราะหวานมาตัดเค็ม ยิ่งกินยิ่งอร่อย ผู้บริโภคจะกลายเป็นได้ทั้งโซเดียมและน้ำตาล

ทั้งนี้ โดยรวมแล้วควรกินแบบกลาง ๆ ไม่มากไป ไม่น้อยไป เมื่อทานแล้วควรเว้นระยะไป อย่ากินกันต่อเนื่อง

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: