เราอาจเข้าใจผิด! หมอเผย สาเหตุถูกกดท้อง หายใจลำบากกว่า





31 ต.ค.2565 ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า “#ถูกกดท้องหายใจลำบากกว่า เราอาจจะเข้าใจผิด คิดว่า เวลาถูกกดทับหน้าอก ทำให้หายใจไม่ออก แต่กดท้องทำให้หายใจลำบากกว่า คนที่ใส่ stay รัดหน้าท้องบางคนถึงกับหน้ามืดเป็นลม คนตั้งท้อง มักจะนอนหงายไม่ค่อยสบาย เพราะหายใจไม่เต็มปอด

คนที่ผ่าตัดหน้าท้องมา ปวดแผล หายใจได้ไม่เต็มที่ มักจะวิงเวียนศีรษะ คนที่มีน้ำในช่องท้อง ท้องมาน จะอึดอัดมาก เหล่านี้ล้วนแต่เป็นเหตุการณ์ที่เราพบเห็นได้ และทำให้รู้ว่า การกดแน่นที่ท้องมีผลกับ การหายใจด้วย ลองมาดูความรู้กัน

นพ.อดุลย์ ระบุต่อว่า การหายใจของเรา คือ ปอดจะขยายตัวเพื่อรับออกซิเจน และแลกเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปกับลมหายใจ เพื่อให้ร่างกายและสมองมีออกซิเจนไปใช้ได้อย่างเพียงพอ ตอนขยายตัวจะเหมือนการดูดเอาลมเข้าไป ตอนหดตัวคือการบีบเอาลมออกมา ในการหายใจปกติ แต่ละครั้ง จะมีลมเข้าออกประมาณ 0.5-1.0 ลิตร

นพ.อดุลย์ ระบุอีกว่า แต่ปอดของเราสามารถขยายตัว และแลกเปลี่ยนอากาศได้สูงสุดถึง 5.0 ลิตร ปริมาตรที่เปลี่ยนแปลงได้มากถึง 5.0 ลิตรนั้น เป็นการทำงานของกระบังลม ที่ดันอวัยวะในช่องท้องให้เคลื่อนตัวลงไปทางด้านปลายเท้า ทำให้เกิดสุญญากาศ เป็นแรงดูดอากาศเข้าไปในปอด หลายคนเข้าใจว่า เป็นการทำงานของกล้ามเนื้อหน้าอก

แต่ในความเป็นจริงทางการแพทย์ การขยายตัวของกล้ามเนื้อหน้าอก และซี่โครง ขยายได้น้อย เพราะกระดูกซี่โครงถูกสร้างมาให้แข็งเหมือนกรงนก ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับปอด จึงมีความสามารถในการขยายตัวได้น้อย

นพ.อดุลย์ ระบุด้วยว่า ส่วนที่ขยายตัวได้มากกว่า คือ กระบังลม ซึ่งทำหน้าที่เหมือนลูกสูบที่จะคอยดึงอากาศเข้าปอด และดันอากาศออกจากปอด ส่วนตัวซี่โครงซึ่งแข็งกว่า ทำหน้าที่เหมือนกระบอกสูบจึงขยายตัวได้น้อย

ดังนั้น เวลาบอกให้หายใจลึก ๆ จึงไม่ใช่การพยายามเบ่งหน้าอกให้ขยายขึ้น แต่เป็นการดันหน้าท้องให้โป่งออก ด้วยการบังคับกระบังลม ให้เคลื่อนลงไปทางปลายเท้า ตรงกับ ที่ทางพระสอนเรื่อง การหายใจ ยุบหนอ พองหนอ หายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องยุบ ระวังอย่าให้อะไรมากดทับที่ท้องนะครับ หายใจไม่สะดวก”

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: