“คลัง” เบรก “ชัชชาติ” รีดภาษีที่ดิน15เท่า ปม“แลนด์ลอร์ด”ปลูกกล้วย





26 กันยายน ที่ผ่านมา คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ได้พิจารณากรณีกรุงเทพมหานคร(กทม.) จะปรับเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประเภทที่ดินเกษตรกรรมแยกย่อยตามโซนผังเมืองรวม ได้แก่ โซนสีแดงที่ดินประเภทพาณิชยกรรม โซนสีน้ำตาลที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก โซนสีม่วงที่ดินประเภทอุตสาหกรรม และโซนสีเม็ดมะปรางที่ดินประเภทคลังสินค้า ในกรณีเจ้าของนำที่ดินมาปลูกกล้วย มะม่วง มะนาว เพื่อให้เข้าเกณฑ์เกษตรกรรมตามที่กฎหมายกำหนด โดยจะปรับอัตราเพิ่มจากปัจจุบันเก็บในอัตรา 0.01-0.1% เป็นเก็บเต็มเพดาน 0.15% หรือจากล้านละ 100 บาท เป็นล้านละ 1,500 บาท ในเบื้องต้นน่าจะไม่สามารถดำเนินการได้

เนื่องจากคณะกรรมการฯ มองว่าเป็นการเก็บภาษีประเภทใหม่ อาจจะขัดกับ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ที่บังคับใช้ในปัจจุบัน ซึ่งกำหนดให้เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใน 4 ประเภท ได้แก่ ที่ดินเกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย ที่ดินใช้ประโยชน์อื่นๆ และที่ดินรกร้างว่างเปล่า อีกทั้งจะทำให้เกิดความลักลั่นของแต่ละพื้นที่ได้ อย่างไรก็ตามหาก กทม. ต้องการจะเดินหน้าต่อ ก็สามารถส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา เพื่อให้ตีความว่าสามารถทำได้หรือไม่ หรือกทม.จะปรับอัตราจัดเก็บเพิ่มแบบเป็นขั้นบันไดก็ได้ เพราะกฎหมายสามารถให้ท้องถิ่นทำได้อยู่แล้ว เช่น ปัจจุบันเก็บในอัตรา 0.01-0.1% อาจจะปรับเป็น 0.02-0.15% เป็นต้น

ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า หากคณะกรรมการฯไม่เห็นด้วยกับโมเดลของกทม. ถือว่าจบ เนื่องจากสิ่งที่ กทม.เสนอนั้น เพื่อต้องการจัดเก็บภาษีที่ดินเฉพาะที่ดินในโซนสีแดงกลางเมืองที่นำมาทำเกษตรกรรม เช่น ปลูกกล้วย เพราะเราคิดว่าเจ้าของที่ดินไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะทำเกษตรจริงๆ และหากจะให้กทม.ปรับอัตราเป็นขั้นบันไดนั้น จะกระทบกับที่ดินเกษตรกรรมทั้งหมด รวมถึงคนที่ทำเกษตรกรรมจริงๆด้วย ซึ่งกทม.คงจะปรับแบบนั้นไม่ได้

แหล่งข่าวจากกทม.กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกทม.ได้ยกร่างข้อบัญญัติเรื่อง กำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. … เพิ่มอัตราภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม จำนวน 3 ประเภท ได้แก่ ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม ประเภทอุตสาหกรรม และประเภทคลังสินค้า ตามกฎหมายผังเมืองที่ใช้ในเขตกรุงเทพฯ เป็น 0.15% ของฐานภาษี ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดตามที่ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไว้ ส่วนที่ดินนอกเหนือ 3 ประเภทดังกล่าว ใช้อัตราภาษีตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาในปัจจุบัน

แหล่งข่าวกล่าวว่านายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ฝ่ายรายได้ สำนักงานเขต สำรวจแปลงที่ดินที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมในที่ดินที่อยู่ในโซนสีแดงประเภทพาณิชยกรรม หรือสำรวจแปลงที่ดินที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมในพื้นที่ทั้งหมด เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีการทำเกษตรกรรมจริงจำนวนเท่าใด เพราะเจตนารมณ์ของการยกร่างข้อบัญญัตินี้ เพื่อให้เจ้าของที่ดินในพื้นที่ที่มีมูลค่าสูง และไม่ได้ประกอบการอาชีพเกษตรกรรม เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เนื่องจากปัจจุบันมีเจ้าของที่ดินนำที่ดินมาทำเกษตรกรรมเพื่อให้เข้าเกณฑ์ภาษีที่ดินเกษตรกรรมที่จะเก็บในอัตราถูกกว่าที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่จะต้องเสีย 0.3-0.7% และหากไม่ใช้ประโยชน์ใน 3 ปี จะต้องเสียเพิ่มอีก 0.3% ทุก 3 ปี

แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริหาร กทม.ได้สั่งให้สำนักงานเขต 50 แห่ง สำรวจแปลงที่ดินที่ใช้ประโยชน์เป็นเกษตรกรรมทั้งหมดในที่ดินตามแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือตามโซนของกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง ได้แก่ ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม (โซนสีแดง) ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม (โซนสีม่วง) ที่ดินประเภทคลังสินค้า (โซนสีเม็ดมะปราง) และที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (โซนสีน้ำตาล) เพื่อเป็นข้อมูลให้สำนักการคลังจัดทำข้อมูลเปรียบเทียบรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากมีการคิดอัตราภาษีเพิ่มขึ้น โดยขอให้สำนักงานเขตจัดส่งข้อมูลภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 อย่างไรก็ตามขณะนี้ ยังไม่มีสำนักงานเขตไหนส่งข้อมูลเข้ามา

“ปัจจุบันกทม.จัดเก็บรายได้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำปี 2565 ตั้งแต่ตุลาคม 2564-สิงหาคม 2565 ได้แล้ว 12,000 ล้านบาท และมีภาคธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่งขอผ่อนชำระภาษี มาอยู่พอสมควร เช่น ธุรกิจโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ ขณะที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้อุทธรณ์มายังกทม.ขอยกเว้นไม่จ่ายภาษีด้วย หลังปีนี้เก็บ ภาษีในอัตรา100% ซึ่งรฟท.จะต้องจ่าย 189 ล้านบาท สำหรับที่ดินอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งต้องให้ทางคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาว่าได้หรือไม่ แต่กทม.ได้ทำหนังสือเร่งรัดรฟท.ให้มาชำระภาษีภายในวันที่ 30 กันยายนนี้ เพราะหากเลยกำหนดจะถูกเบี้ยปรับเพิ่ม 40%ของจำนวนเงินที่ต้องชำระ ” แหล่งข่าวกล่าว

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: