หมอเตือน “สะบัดคอ-หักข้อนิ้วมือ” แล้วมีเสียง ไม่ใช่เรื่องดี





( 12 ก.ย.65) ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune เรื่อง การสะบัดคอหรือหักนิ้ว โดยระบุว่า

“#ไม่ควรสะบัดคอหรือหักนิ้ว

-หลายคนอาจจะเคยทำแบบนี้ เมื่อยคอ ก็สะบัดคอจนมีเสียงดับ กร๊อบ หรือ ดัดนิ้วมือจนมีเสียงเป๊าะๆ ทำแล้วรู้สึกสบาย เลยทำบ่อยๆ…ไม่ดี

-เสียงดัง กร๊อบ หรือเสียง เป๊าะๆที่ได้ยิน เกิดจากการเสียดสีกันของเยื่อบุข้อต่อที่ขบกันและทำให้มีเสียง ถ้าเทียบกับเวลาเรานั่งรถยนต์ที่โช๊คอัพ ไม่ค่อยดี เวลารถวิ่งผ่านลูกระนาดตามถนน ขึ้นและลงเราจะได้ยินเสียงเอี๊ยดๆ อย่างไร อย่างนั้นเลย

ข้อต่อของร่างกายเราทุกข้อ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ จะมีเยื่อบุข้อ ที่เรียกว่า Synovial membrane ซึ่งภายในช่องว่างระหว่างเยื่อบุข้อจะมีน้ำหล่อลื่นอยู่ ซึ่งทั้งเยื่อบุข้อต่อ และ น้ำหล่อลื่น ทำให้เราเวลาขยับข้อต่างๆเพื่อเคลื่อนไหว จะง่ายและสะดวก ไม่เจ็บ เวลาที่ข้อต่างต่างเริ่มเสื่อม จะเกิดปรากฏการณ์ 2 อย่าง คือ เยื่อบุข้อต่อ ยืดออก หย่อน และ น้ำในข้อน้อยลง (เราได้ยินหมอพูดบ่อยๆ เกี่ยวกับข้อเข่า คือ น้ำในข้อน้อยลง)

เมื่อไหร่ก็ตามที่เยื่อบุข้อต่อ(Synovial membrane) หย่อน ถึงแม้น้ำในข้อจะเท่าเดิม การรองรับการเคลื่อนไหวก็ทำได้น้อยลง เหมือนเอาน้ำปริมาณเท่าเดิมใส่ในขวดน้ำที่ใหญ่ขึ้น (เนื่องจากปริมาตรในข้อต่อเป็นบริเวณที่ปิด ถ้าผนังยืดออก ปริมาตรก็จะเพิ่มขึ้น จุน้ำได้เยอะขึ้นเหมือนขวดน้ำที่ใหญ่ขึ้น) เมื่อน้ำเท่าเดิมในบริเวณที่กว้างขึ้นใหญ่ขึ้น เวลา ขยับ ก็จะมีเสียงเหมือนน้ำกระฉอก เกิดเสียงดัง เวลา สะบัดคอ หรือ หักข้อนิ้วมือ

-การสะบัดคอ หรือ หักข้อนิ้วมือ แล้วมีเสียงจึงไม่ใช่เรื่องดี แสดงว่า ข้อนั้นเริ่มมีการเสื่อม หรือ หลวมแล้ว การยิ่งไปสะบัดแรงๆ หรือ หักข้อนิ้ว จึงทำให้เยื่อบุข้อต่อได้รับอันตราย และ หลวมยิ่งขึ้นไปอีก ข้อก็จะเสื่อมเร็วขึ้นไปอีกครับ ไม่ควรทำ ได้ยินเสียง เราอาจจะคิดว่ารู้สึกดี แต่ที่จริงกลับเป็นอันตราย

-วิธีการที่ถูก คือ การบริหาร กล้ามเนื้อ รอบคอ หรือ กล้ามเนื้อที่ดูแลการเคลื่อนไหวของนิ้วให้แข็งแรงขึ้น เพื่อที่เวลาเคลื่อนไหว จะได้มีตัวช่วยรองรับน้ำหนัก หรือ จัดให้การเคลื่อนที่ของข้อต่อไม่ออกนอกทิศทาง การบาดเจ็บ หรือ การเสื่อมของข้อก็จะลดลง เวลาสะบัดคอแล้วหายเมื่อย เพราะมีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อรอบคอ ซึ่งเราสามารถยืดเหยียดกล้ามเนื้อรอบคอด้วยท่ากายบริหาร โดยไม่ต้องสะบัดคอครับ หรือ แม้แต่การนวดเพื่อคลายกล้ามเนื้อ ก็ช่วยให้หายเมื่อยได้

-การสะบัดคอ หรือ หักข้อนิ้ว นอกจากไม่ช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นอันตรายกับเยื่อบุข้อต่อด้วย”

 

ข่าวจาก : TNN ONLINE

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: