จำคุก860ปี เสี่ยวิชัย อดีตผบห.กฤษดามหานคร ชดใช้กว่า8พันล้าน





(19 สิงหาคม 2565) แนวหน้ารายงานว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาจำคุก นายวิชัย กฤษดาธานนท์ อายุ 83 ปี อดีตผู้บริหารกฤษดามหานคร และพวก ในคดีฟอกเงินที่ได้จากการปล่อยสินเชื่อธนาคารกรุงไทยกว่าหมื่นล้านบาท โดยมีอัตราโทษจำคุกลดหลั่นกันไป และให้ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 8,868 ล้านบาทเศษ ภายใน 30 วัน

เปิดคำพิพากษา

โดยเมื่อเวลา 09.30 น. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษาคดีร่วมกันฟอกเงิน หมายเลขดำ อท.214/2561 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวิชัย กฤษดาธานนท์ อายุ 83 ปี อดีตผู้บริหารกฤษดามหานคร เป็นจำเลยที่ 1 นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ อายุ 56 ปี บุตรชายของ นายวิชัย อดีตกรรมการผู้มีอำนาจบริษัท โบนัส บอร์น จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 นายบัญชา ยินดี อายุ 63 ปี อดีตกรรมการผู้มีอำนาจบริษัท อาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด และ บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี่ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บมจ.กฤษดามหานคร เป็นจำเลยที่ 3 น.ส.เพชรรัตน์ เทพสัมฤทธิ์พร อายุ 51 ปี อดีตเลขานุการของนายรัชฎา เป็นจำเลยที่ 4 นายปภพ สโรมา อายุ 69 ปี ผู้มีชื่อเป็นกรรมการใน 3 บริษัท ประกอบด้วย บจก.อาร์เคฯ, บจก.โกลเด้นฯ, บริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัดเป็นจำเลยที่ 5 และ นายธีรโชติ พรมคุณ อายุ 58 ปี พนักงานขับรถของ นายวิชัย เป็นจำเลยที่ 6 ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2547 มาตรา 4, 5, 9, 60 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 91

โดยอัยการโจทก์ระบุฟ้องพฤติการณ์ความผิดจำเลยทั้งหมด สรุปว่า เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2546 – ธันวาคม 2547 หลังจากที่มีการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของธนาคารกรุงไทยฯ ผู้เสียหายให้กับ บมจ.กฤษดามหานคร และบริษัทในเครือโดยมิชอบแล้ว จำเลยทั้ง 6 คน กับพวกอีกหลายคน สมคบกันฟอกเงินที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อโดยมิชอบ จำนวน 10,400,000,000 บาท

โดยมีการนำบริษัทนิติบุคคลที่จำเลยที่ 1-3 มีอำนาจกระทำการแทน มาใช้ในการโอนและรับโอนเงิน โดย น.ส.เพชรรัตน์ จำเลยที่ 4 เลขานุการของนายรัชฎา จำเลยที่ 2 ได้ทำหน้าที่จัดหาบัญชีธนาคารพาณิชย์ และบัญชีซื้อขายของบุคคลอื่น เพื่อให้จำเลยที่ 1 กับพวกนำเงินที่ได้จากการกระทำผิดไปใช้ซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยมี นายปภพ จำเลยที่ 5 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คจากบัญชีธนาคารของ บจก.โกลเด้นฯ ที่รับโอนเงินจากการกระทำผิดไปเข้าบัญชี บจก.แกรนด์ คอมพิวเตอร์ฯ แล้วนำมาชำระหนี้ค่าซื้อหุ้นแปลงสภาพ บมจ.กฤษดามหานคร

ส่วนนายธีรโชติ จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นพนักงานขับรถประจำตัวนายวิชัย ทำหน้าที่เปิดบัญชีธนาคารพาณิชย์เพื่อให้นายวิชัยโอนเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิด แล้วทำหน้าที่นำเช็คของธนาคารนายวิชัยสั่งจ่ายไปเบิกถอนเป็นเงินสด ตามคำสั่งของนายวิชัย

ขณะที่เมื่อ บจก.อาร์เคฯ และ บจก.โกลเด้นฯ ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย แล้วก็ไม่ได้นำไปปรับโครงสร้างหนี้และจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติม ตามเหตุผลการขอสินเชื่อ แต่นายบัญชา จำเลยที่ 3 กลับร่วมกับพวกนำเงินนั้นไปออกเช็คแล้วฝากเข้าบัญชีบุคคลต่าง ๆ ก่อนจะเบิกถอนเงินสดไปซื้อขายหุ้นและที่ดิน โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยทั้งหกกับพวก และไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ยื่นขอกู้ไว้ นอกจากนี้ระหว่างนั้นพวกจำเลยยังร่วมกันออกเช็คในนามบริษัทนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าบัญชีธนาคารของพวกจำเลยอีกหลายครั้ง

การกระทำของจำเลยทั้ง 6 กับพวก จึงเป็นการโอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือเพื่อซุกซ่อน ปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง ในความผิดมูลฐาน หรือกระทำการเพื่อปกปิด อำพรางการได้มา การโอนซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด อันเป็นการสมคบกันฟอกเงิน รวมทั้งสิ้น 141 กรรม

ท้ายฟ้องอัยการโจทก์ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิด และนับโทษ นายวิชัย นายรัชฎา และนายบัญชา จำเลยที่ 1-3 คดีนี้ต่อจากโทษในคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาให้จำคุกทั้งสามไว้คนละ 12 ปี คดีทุจริตปล่อยสินเชื่อระหว่างของ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กับ กฤษดามหานครที่ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกไว้คนละ 12 ปีด้วย จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี

ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายที่นำสืบหักล้างต่อสู้คดีกันแล้วเห็นว่า พยานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง น่าเชื่อถือ ขณะที่พยานจำเลยไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ฟังไม่ขึ้น เห็นว่าจำเลยทั้งหกกระทำผิดตามฟ้องจริง ตาม พ.ร.บ.ฟอกเงินฯ ม.5, 9, และ 60 ประมวลกฎหมายอาญา ม.83 เป็นความผิดหลายกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรม ตาม ม.91

คุก 860 ปี เสี่ยวิชัย แต่ติดจริงได้ไม่เกิน 20 ปี

พิพากษาลงโทษจำคุก

– นายวิชัย จำเลยที่ 1 จำนวน 133 กรรม รวมโทษจำคุกเป็นเวลา 860 ปี
– นายรัชฎา จำเลยที่ 2 ผิด 28 กรรม รวมจำคุก 118 ปี
– นายบัญชา จำเลยที่ 3 ผิด 52 กรรม รวมจำคุก 416 ปี
– น.ส.เพชรรัตน์ จำเลยที่ 4 จำคุก 38 ปี
– นายปภพ จำเลยที่ 5 ทำผิด 25 กรรม รวมจำคุก 235 ปี
– นายธีรโชติ จำเลยที่ 6 ผิด 39 กรรม รวมจำคุก 262 ปี

แต่ตามกฏหมายเมื่อรวมโทษจำคุกแล้ว ให้ลงโทษจำคุกได้ไม่เกิน 20 ปี คงจำคุกจำเลยทั้งหก ไว้คนละ 20 ปี

ทั้งนี้แม้โจทก์ไม่ได้ขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์ แต่เมื่อเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดจากการทุจริต ศาลจึงมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์ได้ แต่เมื่อทรัพย์ถูกโอนย้ายไปแล้วซึ่งยากต่อการติดตามคืน จึงพิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 8,868 ล้านบาทเศษ ภายใน 30 วัน หากผิดนัดชำระให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับตั้งแต่วันผิดนัดชำระ และให้บังคับเอาทรัพย์สินของจำเลยได้ไม่เกินจำนวนที่แต่ละคนค้างชำระ

วืดประกันตัว นอนคุก

ทั้งนี้ ในเวลาต่อมาจำเลยทั้งหมดได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว แต่ศาลพิเคราะห์คำร้องพร้อมหลักทรัพย์แล้วเห็นว่า เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยชั่วคราวเกรงจำเลยจะหลบหนี ในชั้นนี้จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ทนายความของจำเลยทั้งหมด จึงยื่นคำร้องขออุทธรณ์คำสั่ง โดยศาลอุทธรณ์ยังไม่มีคำสั่งลงมา จำเลยจึงถูกคุมตัวเข้าเรือนจำก่อน

 

ข่าวจาก : kapook

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: