ปิดตำนานสาย8 ขนส่งไม่ต่อใบอนุญาต​วิ่ง เล็งยื่นหนังสือขอรัฐยกหนี้ค่าตอบแทน





เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ อู่รถโดยสาร (รถเมล์) สาย 8 แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ ถนนนวมินทร์ น.ส.ฑิราภรณ์ เมธิสริยพงศ์ ผู้จัดการฝ่ายเดินรถ บริษัท ไทยบัสขนส่ง จำกัด 1 ใน 3 ผู้ให้บริการรถร่วมสาย 8 เปิดเผยถึงกรณีไม่ได้รับใบอนุญาตเดินรถในเส้นทางดังกล่าวตามเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กำหนดว่า บริษัทได้รับใบอนุญาตประกอบการจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2559-31 ต.ค.2566 เป็นระยะเวลา 7 ปี จากนั้นในปี 2561 เข้าสู่การปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ ขบ.ได้เชิญผู้ประกอบการ เข้าร่วมในการยื่นคำขอใบอนุญาตประกอบการเดินรถดังกล่าว โดยบริษัทได้ยื่นคำขอไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 และปลายปี 2565 ส่วนเอกสารแจ้งมายังบริษัทไม่ได้รับเลือกและผ่านคุณสมบัติ จากนั้นบริษัททำหนังสือไปยัง ขบ.เพื่อสอบถามถึงการไม่ผ่านคุณสมบัติด้วยเหตุผลอะไร

น.ส.ฑิราภรณ์กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกแนะนำให้ไปยื่นอุทธรณ์ ภายใน 15 วัน โดยหนังสือจาก ขบ. ชลงวันที่ 29 เมษายน 2565 แต่ได้รับหนังสือวันที่ 5-6 เมษายน 2565 จากนั้นติดวันหยุดยาว เทศกาลสงกรานต์ปี 2565 ทำให้บริษัทได้ทำหนังสือมาที่ ขบ. เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2565 จากนั้นได้รับหนังสือจาก ขบ.ว่าจะขยายระยะเวลาให้ยื่นอุทธรณ์อีกภายใน 30 วัน ซึ่งบริษัทดำเนินการตามขั้นตอน แต่กลับพบว่าบริษัทยื่นอุทธรณ์เลยเวลาที่กำหนด เพราะใช้เวลา 22 วัน ซึ่งเกิน 15 วันที่กำหนดไว้ ทำให้การยื่นอุทธรณ์ไม่ประสบความสำเร็จ และ ขบ.แนะนำให้ไปยื่นศาลปกครองในเรื่องดังกล่าวภายใน 90 วันแทน

น.ส.ฑิราภรณ์กล่าวอีกว่า ดังนั้น การดำเนินการดังกล่าว ขบ.ดำเนินการไม่โปร่งใส ไม่มีการเปิดเผยข้อมูล และขอให้ ขบ.ชี้แจงเรื่องดังกล่าวด้วยว่า บริษัทได้คะแนนในการยื่นขอใบอนุญาตประกอบการสาย 8 จำนวนเท่าไหร่ และผู้ประกอบการรายใหม่ได้รับคะแนนเท่าไหร่ เพราะบริษัทดำเนินการตามหลักเกณฑ์ยื่นคำขอทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสภาพรถ ตัวถัง สภาพอู่จอดรถเมล์ ความพร้อมความมั่นคงของบริษัท ซึ่งบริษัทเสนอใช้รถโดยสารไฟฟ้าปรับอากาศ (อีวี) มาให้บริการ 100% โดยจะใช้จำนวน 25 คัน ภายหลังจากได้รับใบอนุญาตมีแผนจะนำรถมาบรรจุในเส้นทางภายใน 180 วัน โดยทยอยเปลี่ยนรถเมล์ใหม่มาให้บริการแทนรถเมล์ร้อนเดิมที่ให้บริการในเส้นทาง เพื่อให้ผู้โดยสารมีทางเลือกและบรรจุรถให้ครบทั้งหมดภายใน 2 ปี

“ในใบอนุญาตประกอบการเดินรถครั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกกำหนดให้คะแนนพิเศษสำหรับผู้ประกอบการในเส้นทางนี้ 10 คะแนน สำหรับการเปิดยื่นคำขอใบอนุญาตเดินรถครั้งนี้ ใบอนุญาตมีอายุ 7 ปี แหละนี่เป็นครั้งแรกที่เป็นการเปิดขอรับตรงจาก ขบ. จากเดิมผู้ประกอบการรถร่วมของ ขสมก. ต้องขอรับสัมปทานทำสัญญาเดินรถจาก ขสมก. เท่านั้น” น.ส.ฑิราภรณ์กล่าว

น.ส.ฑิราภรณ์กล่าวต่อว่า สำหรับเส้นทางสาย 8 นี้ ได้ข้อมูลว่าผู้ประกอบการรายใหม่จะนำรถมาให้บริการภายในเดือน ส.ค.65 โดยใช้ชื่อเส้นทางใหม่ว่า สาย 2-38 ซึ่งขณะนี้บริษัทจะรอคำชี้แจงจาก ขบ. หากมีความชัดเจนในเรื่องผลคะแนนแล้วจะยอมรับคำตัดสินและยุติการเดินรถ ซึ่งในเส้นทางดังกล่าวมีรถ 26 คัน ปัจจุบันเหลือ 10 คัน เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนมาต่อเนื่อง ทั้งผลกระทบจากโควิด-19 มีรายได้น้อย เดิมก่อนโควิด-19 ได้วันละ 4,000 บาทต่อคันต่อวัน และช่วงโควิด-19 ลดเหลือ 1,500 คันต่อวัน ทำให้ขาดทุนกว่า 2,000 บาทต่อคันต่อวัน ส่วนพนักงานที่มี 20 คน ขอยืนยันว่า พนักงานทั้งหมดไม่ตกงานแน่นอน เพราะตอนนี้ได้หารือกับผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะมาเดินรถแทนสาย 8 แล้วว่าขอฝากพนักงานเข้าทำงานด้วย ซึ่งผู้ประกอบการรายใหม่ได้รับปากว่าจะรับเข้าทำงานทั้งหมด

น.ส.ฑิราภรณ์กล่าวว่า ส่วนการดำเนินการกับรถเมล์นั้น ก่อนหน้านี้ที่มีรถเมล์ 26 คัน ได้ทยอยชำแหละรถ หรือตัดชิ้นส่วนรถขายแล้วประมาณ 30-40% ซึ่งขายเป็นเศษเหล็กได้ราคา 50,000-60,000 บาทต่อคัน ขณะนี้จะหยุดดำเนินการในส่วนนี้ก่อน จนกว่าจะได้รับคำชี้แจงและความชัดเจนจาก ขบ. รวมทั้งหากพบว่าไม่ได้เดินรถแล้วจะต้องดำเนินการถอดบัญชีรถ หรือทะเบียนรถออกจากระบบของ ขบ.ด้วย

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: