ATK ตรวจโควิด-19…จากน้ำลาย รู้ผลภายใน 15 นาที





เชื่อว่า ถึงวันนี้น้อยคนที่จะไม่รู้จักชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตนเองที่เรียกว่า Antigen Test Kit หรือ ATK ที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งก็มีทั้งการตรวจโดยใช้การเก็บตัวอย่างจากสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจจากหลังโพรงจมูกด้านหน้า (nasal swab) และการเก็บตัวอย่างจากน้ำลาย (saliva) หากผลการทดสอบแสดงผลว่าติดเชื้อ ก็จะต้องมีการตรวจด้วย RT-PCR หรือ Real Time Polymerase Chain Reaction ต่อไป เพื่อเป็นการยืนยันผลการทดสอบ

ดร.เอกวัฒน์ ผสมทรัพย์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลว่า การใช้น้ำลายเป็นตัวอย่างในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้ โดยมีความแม่นยำเทียบเคียงกับวิธีการเก็บตัวอย่างจากหลังโพรงจมูก ใช้อุปกรณ์น้อย ไม่ระคายเคือง และเป็นวิธีการเก็บตัวอย่างที่สะดวกมาก สามารถเก็บตัวอย่างได้ด้วยตนเอง จากผลการประเมินประสิทธิภาพชุดตรวจ ATK ด้วยตัวอย่างน้ำลาย พบว่า ได้ผลไม่แตกต่างจากการเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูก อีกทั้งชุดตรวจยังได้มีการนำเทคโนโลยีนาโนคาร์บอนมาใช้ สามารถตรวจได้ในขั้นตอนเดียว ไม่ต้องใช้น้ำยาบัฟเฟอร์ ช่วยให้การตรวจทำได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น

“ข้อดีของการตรวจแบบเก็บตัวอย่างจากน้ำลาย คือ ความสะดวกในการใช้งาน เพียงเก็บน้ำลายอย่างถูกวิธีและใช้ชุดตรวจจุ่มลงในภาชนะเก็บน้ำลาย จากนั้นรอผลประมาณ 15 นาที ก็สามารถรู้ผลได้ทันที ขณะที่การใช้ไม้ swab (สวอบ) ในการตรวจด้วยตนเองนั้น จะต้องใส่ไปตามแนวของฐานจมูกตรงๆ เข้าไปจนสุด แล้วจึงหมุนไม้ swab เบาๆ จากนั้นทิ้งไว้สักครู่จึงค่อยๆดึงไม้ swab ออก ซึ่งถ้าตรวจไม่ถูกวิธี ก็จะรู้สึกกว่าใส่ไม้ swab ได้ไม่ลึก มักมีอาการเจ็บ และอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บในโพรงจมูก หรือเลือดกำเดาไหลได้ และทำให้ผลที่ได้จากการตรวจอาจคลาดเคลื่อนได้มากกว่า” ดร.เอกวัฒน์อธิบาย

หัวหน้าห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี บอกด้วยว่า ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดมากๆ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้รับผู้ป่วยที่ติดเชื้อและผู้ป่วยที่ต้องสงสัยจำนวนมาก ซึ่งระหว่างนั้นได้มีการทำวิจัยเปรียบเทียบในการใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่างการเก็บตัวอย่างจากการเก็บเชื้อจากโพรงจมูกและเก็บเชื้อจากลำคอ ร่วมกับการเก็บตัวอย่างจากน้ำลาย เพื่อนำมาตรวจด้วยวิธี RT-PCR ผลการวิจัยสรุปได้ว่า ตัวอย่างที่เก็บจากน้ำลาย จากโพรงจมูก และลำคอให้ผลที่ใกล้เคียงกัน

“การเก็บตัวอย่างจากน้ำลายมีข้อดีคือ ผู้ป่วยสามารถเก็บตัวอย่างได้เอง ลดการแพร่กระจายเชื้อจากตัวผู้ป่วยไปสู่บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งปกติแล้วในการเก็บตัวอย่างทั้งจากที่โพรงจมูกและลำคอ ผู้เก็บตัวอย่างที่เป็นแพทย์หรือพยาบาลจะต้องใส่เครื่องป้องกันที่มีมาตรฐานสูง ซึ่งมีราคาค่อนข้างแพงในการเก็บตัวอย่าง การเก็บ ตัวอย่างด้วยน้ำลาย ที่ผู้ป่วยสามารถเก็บตัวอย่างได้เอง ทำได้ง่าย สะดวก ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการใช้เครื่องป้องกันได้อีกด้วย”

ดร.เอกวัฒน์ ยังบอกอีกว่า การเก็บตัวอย่างจากน้ำลายนั้นทำได้ง่าย โดยให้ผู้ตรวจเก็บตัวอย่างด้วยการกระแอมให้มีน้ำลายออกมาจากลำคอผสมปนกับน้ำลายในช่องปาก บ้วนน้ำลายลงในภาชนะรองรับที่บรรจุอยู่ในกล่องชุดตรวจ จากนั้นใช้ชุดตรวจตามขั้นตอนการใช้งาน และเนื่องจากเป็นวิธีการที่ไม่ระคายเคือง เมื่อเทียบกับการเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูก

ข้อแนะนำในการเก็บตัวอย่างน้ำลายให้ได้คุณภาพ คือ ผู้ตรวจควรงดการแปรงฟัน งดการบ้วนปากด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ งดการดื่มเครื่องดื่มและรับประทานอาหาร รวมทั้งงดสูบบุหรี่ งดเคี้ยวหมากฝรั่ง และแนะนำให้บ้วนปากด้วยน้ำสะอาดก่อนเก็บตัวอย่างอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้ได้น้ำลายสำหรับการตรวจที่ยังมีเชื้อปนเปื้อนอยู่ในปริมาณที่มากพอ

อาจกล่าวได้ว่า การเก็บตัวอย่างจากน้ำลายเป็นวิธีการตรวจที่เหมาะสำหรับคนทั่วไป รวมถึงเด็กและผู้สูงอายุ และยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในกรณีที่มีการระบาดในวงกว้าง และต้องการเก็บตัวอย่างในปริมาณมากๆภายในเวลารวดเร็ว เพราะผู้ที่สงสัยว่าอาจจะติดเชื้อสามารถตรวจคัดกรองเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการตรวจวินิจฉัยเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สะดวก รวดเร็วที่สุดวิธีหนึ่งในเวลานี้.

 

ข่าวจาก : ไทยรัฐ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: