ประกาศแล้ว! ให้สปส.จ่ายค่าตรวจโควิด Factory sandbox นำร่อง 7 จว.





มีผลบังคับใช้แล้ว! ราชกิจจานุเบกษาออกประกาศ ให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ตรวจโควิด ด้วยวิธี RT- PCR ให้สถานประกอบการ หรือโรงงานที่เข้าร่วมในโครงการ Factory sandbox ใน 4 ภาคอุตสาหกรรมการผลิตหลัก นำร่องพื้นที่ 7 จังหวัด ค่าตรวจ 1,500 บาท บวกค่าคำปรึกษาอีก 200 บาท รวมเป็น 1,700 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 เว็บไซต์ราขกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์ และอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณีคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ตามแนวทางโครงการ Factory sandbox ลงนามโดยศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณเหลือพร ปุณณกันต์ ประธานกรรมการการแพทย์

สำหรับสาระสำคัญของประกาศดังกล่าวระบุว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ที่มีการระบาดใหม่อย่างรวดเร็ว

ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในการประชุมครั้งที่ 11/ 2564 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานได้จัดทำข้อเสนอโครงการนำร่องเกี่ยวกับแรงงานในสถานประกอบกิจการและโรงงานตามโครงการ Factory sandbox เพื่อจัดการโครงสร้างและกระบวนการในลักษณะ “เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข” ที่ดำเนินการควบคู่กันระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะภาคการผลิตและอุตสาหกรรมการส่งออกขนาดใหญ่ อันประกอบด้วย 4 ภาคส่วน คือ ภาคส่วนยานยนต์ ภาคส่วนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ภาคส่วนอาหาร และภาคส่วนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งถือเป็นกลไกหลักที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน

โดยมีหลักการสำคัญ คือ ตรวจ รักษา ควบคุม ดูแล เพื่อให้การบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเกิดประโยชน์สูงสุดและตรงกลุ่มเป้าหมาย ให้ผู้ประกันตนในสถานประกอบการที่ดำเนินกิจการผลิตเพื่อการส่งออกสินค้าทั้ง 4 ภาคส่วนดังกล่าว ซึ่งมีลูกจ้างตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป ในพื้นที่ 7 จังหวัดนำร่องที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

ในระยะที่ 1 ได้แก่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดปทุมธานี ระยะที่ 2 ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดสมุทรปราการ ได้รับการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) โดยให้มีการจำกัดอยู่ในพื้นที่ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง อันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนสุขภาวะของประชาชนทั่วประเทศ

ประกอบกับที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศปก.ศบค.) ได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ คณะกรรมการการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ และอัตราค่าบริการทางการแพทย์ กรณีคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ตามแนวทางโครงการ Factory sandbox

โดยการตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19” ด้วยเทคนิค Real time Reverse Transcription Polymerase Chain Reaction (Real time RT- PCR) เพื่อตรวจค้นหาผู้ประกันตนที่อาจติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ในสถานประกอบการ หากเป็นการตรวจคัดกรองด้วยวิธี RT-PCR แล้วมีผู้ติดเชื้อ ให้ประเมินศักยภาพในการดูแลรักษา และพิจารณาใช้วิธีสุ่มตรวจตามแนวทางของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กำหนด

และ ให้สำนักงานประกันสังคม(สปส.) จ่ายค่าบริการทางการแพทย์เป็นค่าตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 และค่าบริการให้คำแนะนำ คำปรึกษาเพื่อติดตามดูแลและประเมินผลแก่สถานพยาบาล ดังนี้

1. ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยวิธี RT -PCRโดยการทำป้ายหลังโพรงจมูกและลำคอ (nasopharyngeal and throat swab sample) ประเภท 2 ยีน ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกินครั้งละ 1,500 บาท

2. ค่าบริการให้คำแนะนำ คำปรึกษาเพื่อติดตามดูแลและประเมินผล ตั้งแต่เริ่มการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยวิธี RT- PCR จนกระทั่งสถานประกอบการได้รับการรับรอง“โรงงานผ่านมาตรฐาน sandbox” โดยต้องจัดทำรายงานข้อมูลของผู้ประกันตนรายบุคคล และข้อมูลสถานประกอบการให้สำนักงานทราบ เหมาจ่ายในอัตราคนละ 200บาท

สำหรับประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

คลิกดูประกาศฉบับเต็มที่นี่

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: