แฉต่อใบอนุญาตโรงงานต้องทำทุก 5 ปี แต่ คสช. ยกเลิก ให้ใช้ยาวไม่ต้องตรวจสอบ





ผู้เชี่ยวชาญ เผยข้อมูลผังเมืองสังคมต้องรู้ แต่ถูกรัฐปิดบัง หลังเหตุโรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ พบยุค คสช. สั่งแก้กฎหมาย การต่อใบอนุญาตโรงงานให้ใช้ยาว ๆ ไม่ต้องต่อใหม่ ไร้การตรวจสอบ

กรณีโรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ หรือ บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ส่งผลให้เกิดเหตุเศร้าสลดกับการจากไปของวีรบุรุษดับเพลิงอย่าง น้องพอส กรสิทธิ์ ราวพันธ์ อายุ 19 ปี รวมถึงยังมีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บอีกหลายราย และประชาชนในพื้นที่รัศมี 10 กิโลเมตร ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน จากควันไฟที่ปนเปื้อนจนต้องอพยพออกจากบ้านชั่วคราวนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ (5 กรกฎาคม 2564) ไทยพีบีเอส รายงานบทสัมภาษณ์ นายสรายุทธ์ สนรักษา ผู้ประสานงานเครือข่ายรักแม่พระธรณี เปิดเผยถึงมุมมองเรื่องผังเมืองในพื้นที่บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด หลังถูกตั้งข้อสงสัยว่าโรงงานสารเคมีขนาดใหญ่นี้ และอีกหลายโรงงาน ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ชุมชน มีบ้านเรือนล้อมรอบ

ที่ตั้งโรงงานไม่มีสิ่งแจ้งเตือนคน ว่าเป็นเหตุอันตราย

นายสรายุทธ์ กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่าในพื้นที่ดังกล่าว ไม่มีจุดสังเกตหรือสัญลักษณ์เตือนประชาชนเลยว่าอยู่ใกล้แหล่งเก็บวัตถุไวไฟแบบนี้

“เป็นเรื่องที่น่าเศร้าเพราะข้อมูลเชิงวิชาการที่ภาครัฐถืออยู่มีครบถ้วนที่จะดูแลประชาชนให้อยู่อย่างปลอดภัย แต่กลับถูกละเลยและปิดบัง”

ข้อมูลผังเมืองถูกปิดบัง ทั้งที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของคนทั่วไป

โดยตนเองเคยมีโอกาสเจอเอกสารของกรมโยธาธิการและผังเมือง เรื่องผังโรงงานอุตสาหกรรมอันตราย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ถูกเปิดเผยให้ประชาชนทั่วไป อ้างว่าเป็นของผู้บริหาร คนทั่วไปไม่ควรรู้ ทั้งที่เป็นเรื่องของความปลอดภัยของคนทั่วไปโดยตรง

คสช. ยกเลิกกฎต่อใบอนุญาตโรงงานแบบเดิม ที่ต้องต่อทุก 5 ปี

นายสรายุทธ์ กล่าวทิ้งท้ายเรื่องใบอนุญาตตั้งโรงงานอันตราย ว่า ได้ถูกยกเลิกการต่อใบอนุญาตไป จากเดิมที่ต้องต่อเรื่อย ๆ เพราะมีระยะเวลาหมดอายุ แต่กฎหมายดังกล่าวถูกยกเลิกหลัง คสช. ทำรัฐประหาร ซึ่งมีการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้กฎหมายว่า ให้สามารถใช้ใบอนุญาตเดิมได้ตลอดจนกว่าจะเลิกกิจการ ไม่ต้องขอใหม่

ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก iLaw เปิดเผยข้อมูล พ.ร.บ.โรงงาน ปี 2562 ซึ่งออกในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่แต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ พบว่า มีการแก้ไขกฎหมายหลายข้อ อาทิ การปลดล็อกให้โรงงานที่ใช้เครื่องจักรขนาดต่ำกว่า 50 แรงม้าขึ้นไปหรือกิจการที่มีคนงานต่ำกว่า 50 คน ไม่ถูกจัดเป็นโรงงานภายใต้การกำกับดูแลกฎหมายโรงงาน แต่จะอยู่ภายใต้การดูแลของข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือ พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 แทน ซึ่งสามารถประกอบกิจการได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงผังเมืองหรือทำเลที่ตั้ง

การยกเลิกต่อใบอนุญาตโรงงาน ทำให้พลาดการตรวจสอบความปลอดภัย

อีกสิ่งที่มีการแก้ไข คือการยกเลิกระบบการขอต่อใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานทุก 5 ปี ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเพราะเป็นการให้เจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบสภาพโรงงาน เครื่องจักร รวมถึงความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่อยู่ใกล้ ว่าสามารถดำเนินการเปิดต่อไปได้หรือไม่

 

ข่าวจาก : kapook

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: