สดร.แจงแล้ว! ที่มาแสงวาบ-เสียงดังสนั่นทั่วท้องฟ้าภาคเหนือ ทำแตกตื่น





สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เฉลยแล้ว แสงวาบ เสียงดังสนั่น หลายพื้นที่บริเวณภาคเหนือของไทย คืออะไร หลังชาวบ้านแตกตื่น ระบุ ในทางดาราศาสตร์ถือเป็นเรื่องปกติและสามารถอธิบายได้ ไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจ

วันที่ 22 มิ.ย.2564 จากกรณี สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อวิเคราะห์กรณีแสงสีเขียวและเสียงระเบิดแถบเชียงใหม่ หากใครมีภาพหรือวิดีโอ รบกวนส่งมาทีนะครับ ขอบคุณครับ

หลังเมื่อเวลา 19.00 น. ที่ผ่านมา ประชาชนชาว จ.เชียงใหม่ ต่างพากันแตกตื่นกับเสียงคล้ายระเบิดดังกึกก้องสนั่นท้องฟ้า พร้อมแห่โพสต์โซเชี่ยล ” ได้ยินมั้ย ” และตั้งคำถามถึงที่มาของเสียงปริศนา ขณะที่กลุ่มไลน์บางหมู่บ้าน ระบุ รู้สึกได้ว่าบ้านสั่นสะเทือนอย่างแรง แต่ยังไม่มีใครยืนยันว่าเกิดจากสิ่งใด

ล่าสุดเมื่อเวลา 21.52 น. สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้โพสต์บุ๊กอีกครั้งว่า สดร. ชี้แจงกรณี “เห็นแสงวาบและมีเสียงดังสนั่น” หลายพื้นที่ภาคเหนือของไทย ช่วงเย็น 22 มิ.ย. 64

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ชี้แจงกรณีมีการแชร์ข้อมูลจำนวนมากในโซเชียลมีเดีย ช่วงเย็นวันที่ 22 มิถุนายน 2564 มีผู้พบเห็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า สีฟ้าอมเขียว หลังจากนั้นได้ยินเสียงดังสนั่นพร้อมกันในหลายพื้นที่บริเวณภาคเหนือของไทย เขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำปาง ฯลฯ ไม่พบรายงานความเสียหายหรือได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด จากหลักฐานที่รวมรวมได้ อาทิ ข้อมูลการโพสต์จากหลายแหล่ง และภาพถ่าย เบื้องต้นคาดว่าอาจเกิดจาก ดาวตกชนิดระเบิด (Bolide) เป็นเหตุการณ์ที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

 

 

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า ตามที่มีข้อมูลเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย ช่วงเย็นวันที่ 22 มิถุนายน 2564 เวลาประมาณ 18:30 น. หลายพื้นที่ในจังหวัดทางภาคเหนือ อาทิ เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำปาง มีรายงานผู้พบเห็นแสงสีฟ้าอมเขียว พุ่งจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก หลังจากนั้นได้ยินเสียงระเบิดดังสนั่น เกิดแรงสั่นสะเทือน สร้างความตกใจ อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานและไม่มีรายงานความเสียหาย

จากหลักฐานภาพ และคลิปจากการโพสต์โดยคุณอาลิสา เซยะ ที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เบื้องต้นคาดว่าเป็น ดาวตกชนิดระเบิด (Bolide)” โดยปกติแล้ว ดาวตกที่เข้ามาในชั้นบรรยากาศจะเริ่มเกิดความร้อนสูงจนเกิดการลุกไหม้ที่ความสูงประมาณ 80-120 กิโลเมตร จึงมักจะสูงเกินกว่าที่จะได้ยินเสียง อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งดาวตกอาจจะแผ่คลื่นเสียงกระแทก (sonic boom) ในลักษณะเดียวกันกับเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการพบเห็นที่ระบุว่าเห็นแสงวาบก่อนที่จะเห็นเสียงตามมา ซึ่งระยะเวลาระหว่างการพบเสียงและแสงนั้นจะขึ้นอยู่กับระยะห่างของดาวตกในขณะที่พบเห็น

ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าวัตถุดังกล่าวนั้นจะตกลงมาถึงพื้นโลกเป็นอุกกาบาตหรือไม่ ดาวตกส่วนมากที่ตกลงมานั้นจะไหม้หมดไปในชั้นบรรยากาศ สำหรับอุกกาบาตที่ใหญ่พอจนตกลงมาถึงพื้นโลกได้นั้น มีการประมาณการกันว่ามีอยู่ประมาณ 6000 ดวงในทุกๆ ปี แต่ส่วนมากนั้นตกลงในมหาสมุทร หรือพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีผู้ใดพบเห็น ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้น มีอุกกาบาตเพียงไม่กี่ชิ้นที่มนุษย์สามารถเก็บขึ้นมาได้หลังจากมีผู้พบเห็นเป็นดาวตกอยู่บนท้องฟ้า

ในแต่ละวันจะมีอุกกาบาตเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลกเป็นจำนวนมาก แต่โดยทั่วไปจะไหม้หมดไปตั้งแต่ความสูงนับร้อยกม. ในชั้นบรรยากาศ ในทางดาราศาสตร์ถือเป็นเรื่องปกติและสามารถอธิบายได้ ไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจเพราะโอกาสที่จะเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินนั้นมีความเป็นไปได้น้อยมาก นายศุภฤกษ์ กล่าวปิดท้าย

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: