“นิด้าโพล” ชี้ คนไทยยึดถือความกตัญญูพ่อแม่-แผ่นดินประเทศชาติ น้อยลง





นิด้าโพล ชี้  คนไทยยึดถือความกตัญญูพ่อแม่-ผู้มีพระคุณน้อยลง

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “วันมาฆบูชาและ วันกตัญญูแห่งชาติ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 22 – 24 กุมภาพันธ์ 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,314 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับวันมาฆบูชาและวันกตัญญูแห่งชาติ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับการประกาศให้วันมาฆบูชาเป็น “วันกตัญญูแห่งชาติ” พบว่า ร้อยละ 83.56 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ ขณะที่ ร้อยละ 16.44 ระบุว่า ทราบ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจวันมาฆบูชา โอวาทปาฏิโมกข์: หลักธรรมที่ควรปฏิบัติภายใต้สังคมไทยในยุคปัจจุบัน เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า ทราบมีสัดส่วนลดลง ซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อคำกล่าวที่ว่า “ทุกวันนี้คนไทยยึดถือความกตัญญู ต่อบุพการี น้อยลง” พบว่า ร้อยละ 44.37 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 24.96 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 11.57 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 18.04 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย และร้อยละ 1.06 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ/ไม่ตอบ

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อคำกล่าวที่ว่า “ทุกวันนี้คนไทยยึดถือความกตัญญู ต่อผู้มีพระคุณ (ที่ไม่ใช่บุพการี) น้อยลง” พบว่า ร้อยละ 40.41 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 27.55 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 13.24 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 18.11 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย และร้อยละ 0.69 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ/ไม่ตอบ

ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อคำกล่าวที่ว่า “ทุกวันนี้คนไทยยึดถือความกตัญญู ต่อแผ่นดิน/ประเทศ น้อยลง” พบว่า ร้อยละ 37.44 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 21.77 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 12.18 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 24.81 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย และร้อยละ 3.80 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ/ไม่ตอบ

สำหรับการรับรู้ของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนาใน “วันมาฆบูชา” พบว่า ร้อยละ 51.92 ระบุว่า ทราบ (สามารถระบุได้ถูกต้องว่า เป็นวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 และมีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6 และเป็นพระสงฆ์ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรง จากพระพุทธเจ้า (เอหิภิกขุอุปสัมปทา)) ขณะที่ ร้อยละ 48.08 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจวันมาฆบูชา โอวาทปาฏิโมกข์: หลักธรรมที่ควรปฏิบัติภายใต้สังคมไทยในยุคปัจจุบัน เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ มีสัดส่วนลดลง ซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า ทราบ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธกับคำกล่าวที่ว่า “ทุกวันนี้ชาวไทยพุทธห่างไกลศาสนา” พบว่า ร้อยละ 35.28 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 27.36 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 14.48 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 20.24 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย และ ร้อยละ 2.64 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ/ไม่ตอบ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.75 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.73 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.34 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.56 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.62 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 48.93 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.07 เป็นเพศหญิง

ข่าวจาก มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: