ระวัง!! แก๊งหลอกขายต้นพันธุ์อินทผลัม เตือนเกษตรแห่ปลูกอีก2ปีเสี่ยงล้นตลาด





สวนอินทผลัมทั่วไทยระวังแก๊งหลอกขายต้นพันธุ์ออกอาละวาดอีกระลอก “สระแก้ว-เพชรบูรณ์-หนองคาย-ขอนแก่น” เตือนแห่ปลูกกันหลายพันไร่อีก 2 ปีแข่งขันสูง เสี่ยงล้นตลาด ราคาตก แนะศึกษาพันธุ์ ราคา ตลาดให้ดีก่อนปลูก

อินทผลัมถือเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่กำลังมาแรง เกษตรกรหลายจังหวัดต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นพืชที่ปลูกง่ายเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศร้อน และแห้งแล้ง อีกทั้งยังให้ผลตอบแทนราคาสูง สามารถเก็บผลผลิตได้นาน และคาดว่าในปีต่อ ๆ ไปอาจจะมีการปลูกอินทผลัมเพิ่มมากยิ่งขึ้น ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ลงพื้นที่สำรวจ และสัมภาษณ์กลุ่มเกษตรกรและนักวิชาการด้านการเกษตร ถึงการเติบโตของตลาดอินทผลัม ซึ่งมีแนวโน้มราคาดิ่งลง ตามการขยายพื้นที่ปลูกในหลายจังหวัดทั่วประเทศ หวั่นจะเกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด เหมือนกับผลไม้ชนิดอื่นที่นิยมปลูกตามกัน เพราะช่วงแรกได้ราคาดี และยังมีแก๊งหลอกขายต้นพันธุ์ให้เกษตรกรในราคาสูงมาอีกระลอก จากที่เคยเกิดขึ้นในบางพื้นที่มาแล้ว

สระแก้วชี้อีก 2 ปีแข่งขันสูง

นายสุภาพ ดาวไธสงค์ เจ้าของสวนอินทผลัมวังน้ำเย็น อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรจังหวัดสระแก้วหันมาปลูกอินทผลัมตามกระแสกันมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีกลุ่มมิจฉาชีพมาหลอกขายต้นพันธุ์ โดยบอกกับเกษตรกรว่าต้นพันธุ์ที่นำมาขายให้เป็นการเพาะเนื้อเยื่อที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ และพร้อมรับซื้อผลผลิตและประกันราคา ซึ่งมีเกษตรกรหลายรายตกเป็นเหยื่อลงทะเบียนทำสัญญา โดยคนกลุ่มดังกล่าวเป็นแก๊งหลอกลวงมาหลายจังหวัด และถูกตำรวจจับแถวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ทำให้เกษตรกรที่นำต้นพันธุ์ไปปลูกต้องไถทิ้งไปหลายราย

สำหรับสวนของตนเองมีเนื้อที่ 3 ไร่ ปลูกอินทผลัมพันธุ์บาร์ฮี (กินสด) จำนวน 60 ต้น แบบเกษตรอินทรีย์ ทำให้ปีนี้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นมากจากปี 2562 ได้ผลผลิตปริมาณ 1 ตันกว่า แต่ปีนี้ได้ผลผลิตปริมาณ 6 ตันกว่า ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำการตลาดทั้งขายออนไลน์ และเปิดสวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชม โดยเน้นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และปีนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะมีนักท่องเที่ยวในจังหวัดและต่างจังหวัดเดินทางมาเที่ยวสวนเป็นจำนวนมาก ด้านแนวโน้มตลาดอินทผลัมจังหวัดสระแก้ว ปีนี้เปิดตัวมากกว่าทุกปี คาดว่ามีเกษตรกรปลูกมากกว่า 20 สวน หรืออาจจะเป็น 100 สวน โดยผลผลิตส่วนใหญ่อยู่ที่ อ.วังน้ำเย็น อ.เขาฉกรรจ์ อ.เมืองสระแก้ว อ.วัฒนานคร อ.คลองหาดคาดว่าอีก 2 ปีข้างหน้า ผลผลิตจากสวนต่าง ๆ น่าจะเพิ่มมากขึ้น และมีการแข่งขันทางการตลาดสูงกว่านี้ ปัจจุบันราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 350-600 บาท

นายสุรเชษฐ์ วัฒนพรพรรณ เจ้าของสวนอินทผลัมสระแก้วคุณแอน กล่าวว่าสวนของตนเองมีเนื้อที่ขนาด 50 ไร่ ปลูกอินทผลัมมา 2 ปี จำนวน 1,200 ต้นมีทั้งพันธุ์บาร์ฮี พันธุ์โคไนซี่ และพันธุ์อื่นอีก 40 สายพันธุ์ สำหรับราคาตอนนี้พันธุ์บาร์ฮี 400-600 บาทต่อกิโลกรัม พันธุ์โคไนซี่ ราคา 700 บาทต่อกิโลกรัม ราคาต้นพันธุ์เนื้อเยื่อจากต่างประเทศต้นละ 2,000-2,200 บาท อย่างไรก็ตามถึงแม้ปัจจุบันคนไทยยังไม่ค่อยรู้จักตลาดอินทผลัม ยังทานผลสดไม่เป็น ซึ่งส่วนใหญ่ทานแต่ตากแห้งที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่เชื่อว่าตลาดอินทผลัมยังไปได้อีกไกล

น.ส.สุธีกานต์ สุวรรณอำไพ เจ้าของสวนทวีกานต์วิมานดิน อินทผลัมเนื้อเยื่อรายแรกของจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่าแม้ว่าอินทผลัมปลูกง่าย แต่ดูแลยาก โดยเฉพาะช่วงผลสุกตั้งแต่วันที่ 120-150 วันจะเกิดปัญหาผลร่วง เท่าที่ทราบมาว่าบางสวนร่วงหมดจนแทบไม่ได้ขายเลย ซึ่งปีนี้สวนของตนเองมีผลผลิตออกมาประมาณ 2 ตัน เน้นคุณภาพ โดยขายเองในสวน 50% และขายส่ง 50% ราคากิโลกรัมละ 500-600 บาท ตอนนี้ขายหมดสวนแล้ว ซึ่งตนเองมั่นใจว่าแม้จะมีคนหันมาปลูกกันจำนวนมาก แต่ภายใน 5 ปี ราคาน่าจะยังทรงตัว

เพชรบูรณ์หนุนพันไร่แปรรูป

นายอนันต์ ตั่นฉ้วน เกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในจังหวัดเพชรบูรณ์ปัจจุบันมีพื้นที่การปลูกอินทผลัม ประมาณ 1,100 ไร่ มีเกษตรกรรวม 100 ราย ผลผลิตรวมกว่า 100 ตันต่อปี ในเขตอำเภอวิเชียรบุรี อำเภอหล่มสัก และอำเภอชนแดน โดยเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกพันธุ์บาร์ฮี (Barhi) สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตอนอายุ 1 ปี 8 เดือน ปัจจุบันราคาเริ่มตั้งแต่ 200-500 ต่อกิโลกรัม ในจังหวัดมีกลุ่มอินทผลัมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อทำการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ สบู่ เซรั่ม น้ำอินทผลัมสด เป็นต้น เป็นอีกช่องทางที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกร ที่ศูนย์การเรียนรู้อินทผลัม อำเภอวิเชียรบุรี

ทั้งนี้ ทางเกษตรจังหวัดได้มีการส่งเสริมการปลูก คือ ตอนนี้ได้ขึ้นทะเบียนวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ทิศทางราคา และคุณภาพอยู่ในมาตรฐานเดียวกันทั้งจังหวัด และวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดงาน “Intapalum Festival” เพื่อให้ผู้ประกอบการนำอินทผลัมมาจำหน่าย ได้ผลตอบรับที่ดีมาก สร้างมูลค่ารายได้กว่า 3,500,000 บาท

สำหรับแนวโน้มการปลูกอินทผลัมในอนาคตนั้น คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเรื่องการตลาดจะมีหน่วยงานภาคเอกชน ซึ่งเป็นเครือข่ายผู้ปลูกอินทผลัมมานานกว่า 15 ปี เข้ามาดูแลและควบคุม ถ้าเกษตรกรคนใดสนใจจะปลูกอินทผลัมสามารถเข้ามาติดต่อประสานงานกับทางเกษตรจังหวัดได้

หนองคายเสี่ยงล้นตลาด

นายเวียน ธรรมสอน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ/หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดหนองคาย เปิดเผยว่าจังหวัดหนองคายมีเกษตรกรที่ปลูกอินทผลัมแจ้งกับสำนักงานเกษตรจังหวัดหนองคาย ไว้จำนวน 23 ราย พื้นที่ปลูกรวมประมาณ 61.25 ไร่ จากภาพรวมสถานการณ์ในขณะนี้คาดว่าจะมีเกษตรกรให้ความสนใจมาปลูกอินทผลัมน้อยลง เนื่องมาจากหลายปัจจัย ทั้งต้นพันธุ์มีราคาแพง คือถ้าเป็นต้นพันธุ์ที่ได้มาจากเนื้อเยื่อ ถือเป็นต้นพันธุ์ตัวเมียทั้งหมด มีราคาสูงถึงต้นละ 1,500-2,000 บาท ส่วนต้นพันธุ์ที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะอยู่ที่ต้นละ 500-800 บาท แต่ต้องเสี่ยงว่าจะเป็นต้นพันธุ์ตัวเมียกี่ต้น นอกจากนี้ ล่าสุดราคาขายอินทผลัมที่รับประทานผลสดเริ่มมีราคาลดลง จากเดิมกิโลกรัมละ 400-500 บาท ตอนนี้ราคากิโลกรัมละไม่ถึง 300 บาท และยังมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากหลายพื้นที่เริ่มมีผลผลิตออกมาเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้พบว่ากลุ่มที่ซื้ออินทผลัมผลสดไปรับประทาน เป็นกลุ่มคนที่ยังไม่เคยรับประทานอินทผลัม จึงอยากทดลองรับประทานดูเท่านั้น ไม่ได้เป็นลูกค้าแบบประจำ

“ขณะนี้ทางกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรได้มีการประชาสัมพันธ์ และให้คำแนะนำเกษตรกรที่คิดจะปลูกอินทผลัมในเวทีการอบรมต่าง ๆ ให้ความเข้าใจ ไม่ได้ห้าม แต่เป็นการชี้แจงข้อเท็จจริงให้เกษตรกรที่คิดจะปลูกได้ทราบสถานการณ์ปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต ให้เข้าใจถึงความเสี่ยงในการปลูกอินทผลัม หากผลผลิตออกมามาก ๆ มีในทุกพื้นที่แล้วจะทำอย่างไร ราคาผลสดมีแนวโน้มถูกลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกลับราคาต้นพันธุ์ที่ยังมีราคาที่แพงอยู่”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในจังหวัดหนองคายนอกจากเกษตรกร 23 ราย ที่มาลงทะเบียนแจ้งปลูกอินทผลัม กับทางสำนักงานเกษตรจังหวัดหนองคายแล้ว ยังมีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ลงทุนปลูกอินทผลัม เช่น ไร่วิทยาอินทผลัม บ้านนาไหม หมู่ 12 ต.สระใคร อ.สระใคร จ.หนองคาย ถือเป็นสวนอินผลัมที่ใหญ่ที่สุดในหนองคาย มีการปลูกอินทผลัมถึง 350 ต้น พื้นที่ 30 ไร่ ปลูกมาแล้ว 3 ปีครึ่ง โดยก่อนหน้านี้ได้ทำสวนยางพาราเกือบ 200 ไร่ แต่ราคายางพาราตกต่ำ จึงเปลี่ยนมาปลูกพืชอื่น

แนะศึกษาตลาดก่อนปลูก

รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น (สศท.4) พบว่า ปัจจุบันอินทผลัมเป็นพืชเศรษฐกิจที่กำลังมาแรง เกษตรกรให้ความสนใจเพาะปลูกกันมากขึ้น เนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกง่าย เก็บผลผลิตได้ในระยะเวลานาน ให้ผลตอบแทนสูง และสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง โดยเฉพาะในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพบว่าในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นมีการปลูกอินทผลัมประมาณ 100 ไร่ ให้ผลผลิตรวมกว่า 31,835 กก./ปีสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง

ส่วนใหญ่พบในอำเภอน้ำพอง ภูเวียง และหนองเรือ ปลูกพันธุ์บาร์ฮี (Barhi) เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ปลูกและดูแลง่าย ให้ผลผลิตสูง และมีรสชาติหวาน กรอบ เหมาะสำหรับรับประทานผลสด ส่วนใหญ่เกษตรกรนิยมปลูกโดยใช้ต้นพันธุ์ที่ได้จากการเพาะเนื้อเยื่อ ซึ่งนำเข้าจากประเทศอังกฤษ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ราคาประมาณ 1,800-2,300 บาท/ต้น ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพใกล้เคียงกันทุกต้น โดยต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 37,301 บาท/ไร่(เริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 3) และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ระยะยาว นิยมปลูกช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ระยะเวลาเก็บเกี่ยวช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ให้ผลผลิตเฉลี่ย 500-2,000 กก./ไร่ (เฉลี่ย 20-80 กก./ต้น) คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 383,240 บาท/ไร่ ราคาผลสดที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ย 300-800 บาท/กก. ซึ่งราคาขึ้นอยู่กับขนาดและคุณภาพของผลผลิต

สำหรับการปลูกอินทผลัมถึงแม้จะมีต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูงกว่าพืชอื่น ๆ แต่เมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่ได้รับถือว่าคุ้มค่า นอกจากนี้ เกษตรกรควรเฝ้าระวังโรคศัตรูพืชและแมลงที่อาจมาทำลายและส่งผลกระทบต่อคุณภาพของผลผลิตได้ อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรสนใจปลูกอินทผลัม ควรศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ตนเอง เพราะถึงแม้อินทผลัมจะเป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนและแห้งแล้ง แต่ยังคงต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ผลผลิตโตอย่างเต็มที่ และมีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด

ข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: