“บิ๊กตู่”ชี้ภัยแล้งเป็นปัญหาทั่วโลก รัฐบาลไหนก็แก้ยาก โอดรัฐบาลนี้เงินน้อย ขอทุกคนร่วมมือ





เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 13 มี.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวในรายการ Government Weekly ในช่วง PM Talk ผ่านเพจไทยคู่ฟ้า โดยกล่าวถึงการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ ว่า ยืนยันว่าเราจะมีน้ำกินน้ำใช้ไปตลอดปีอย่างแน่นอน แต่ยอมรับว่าอาจจะมีปัญหาบ้าง ในส่วนของน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งก็ต้องขอความร่วมมือโดยเฉพาะจากเกษตรกรระมัดระวังการใช้น้ำโดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตร แต่ในระยะกลางและระยะยาวรัฐบาลมีโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำท่วมหรือน้ำแล้งก็ตาม

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ถือว่าแล้งที่สุดในรอบ 40 ปีจะสภาพอากาศของโลก แต่รัฐบาลแก้ไขปัญหาระยะสั้น โดยยึดหลักว่า “แล้งนี้ เราต้องอยู่รอดไปถึงฝนหน้า” เรื่องน้ำกินน้ำใช้ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า จะสามารถผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้จนถึงเดือน มิ.ย. เมื่อถึงช่วงดังกล่าวจะเข้าสู่ฤดูฝน ปัญหามีอยู่เพียงว่าฝนจะตกต้องตามฤดูกาลหรือไม่ หรือจะเกิดการทิ้งช่วงอีก

ซึ่งปัญหาธรรมชาติที่เกิดขึ้นเกือบทั่วโลก เราจะไปห้ามหรือยับยั้งไม่ได้อยู่ที่ทุกคนจะช่วยและร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็แก้ยาก โดยเฉพาะรัฐบาลปัจจุบันเงินก็น้อย แต่ก็พยายามขับเคลื่อนโดยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ดังนั้น ถ้าทุกคนรอให้ช่วยอย่างเดียวก็อาจจะช่วยได้ไม่มากนัก เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากโดยเฉพาะภาคการเกษตร เราต้องเฉลี่ยการช่วยเหลือให้กับทุกคนตามหลักของประชาธิปไตย
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ปัญหาการขาดแคนน้ำอุปโภคบริโภคได้มีการสั่งการให้จัดหาแหล่งน้ำสำรอง การขุดเจาะบ่อบาดาล อีกทั้งประชาชนได้มีการขุดบ่อน้ำตื้นไว้ใช้เองด้วย วันนี้ถ้าช่วยกันก็จะไม่เกิดความเดือดร้อน วันนี้นโยบายรัฐบาลอยากให้ทุกครัวเรือนโดยเฉพาะพื้นที่ของเกษตรกรมีแหล่งน้ำเป็นของตัวเองรัฐบาลจึงมีนโยบายสนับสนุนให้ขุดบ่อแลกดิน

ที่ผ่านมาการทำโครงการมีปัญหามากเพราะเมื่อขุดลอกดินขึ้นมาแล้วไม่รู้จะเอาไปไว้ที่ไหน วันนี้รัฐบาลจึงสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว ขอให้คนที่มีความต้องการในการใช้ดินในแต่ละพื้นที่มาร่วมดำเนินการ ยืนยันว่ารัฐบาลจะบริหารจัดการน้ำให้ดีที่สุด

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือภัยแล้ง ไปแล้ว จำนวน 22 จังหวัด 133 อำเภอ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคกลาง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ขอความร่วมมือ ระมัดระวังการใช้น้ำไปบ้างแล้ว การปลูกพืชน้ำมากต้องยอมรับว่ามีปัญหาแน่ เนื่องจากปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั้งหมดทั่วประเทศในวันนี้ เฉลี่ยประมาณ 4.3 ล้านลูกบาศก์เมตร เราสามารถใช้น้ำได้จริงประมาณร้อยละ 33 หรือ 1 ใน 3 จากน้ำที่มีอยู่เท่านั้น จึงต้องระมัดระวังในการใช้น้ำอุปโภคบริโภคเพราะถ้านำไปใช้เพื่อการเกษตรทั้งหมดก็คงไปไม่ได้ จึงขอความร่วมมือปรับเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบการเกษตรใช้น้ำน้อยกัน

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ในหลายพื้นที่นอกเขตชลประทาน มีการขุดลอกคูคลองเพื่อกักเก็บน้ำแต่ปัญหาวันนี้คือฝนยังไม่ตก หรือตกนอกพื้นที่ จึงไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ ต้องรอดูว่าฤดูฝนใหม่นี้จะมีปริมาณมากน้อยเพียงใด วันนี้ต้องขอบคุณผู้ว่าราชการบางจังหวัด ท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ที่ได้เสียสละในการขุดลอกคูคลอง หรือจัดสร้างแหล่งน้ำแห่งใหม่ ในส่วนของฝนหลวงก็ได้มีการเตรียมการณ์ไว้แล้ว เรามีศูนย์ฝนหลวงในหลายพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งสภาพอากาศใดมีความพร้อมก็จะดำเนินการทันที

สำหรับน้ำเพื่อการเกษตรวันนี้เราจำเป็นต้องห้ามในการสูบ เพราะมีหลายพื้นที่สูบกันตั้งแต่ต้นน้ำทำให้ปล่อยน้ำไม่สามารถใช้งานได้เลยดังนั้นจำเป็นจะต้องเฉลี่ยลงมา ซึ่งการบริหารจัดการจำเป็นต้องเชื่อกัน ทั้งเรื่องการทยอยส่งน้ำลงมาและการทยอยปลูกพืช รวมทั้งการโซนนิ่งพื้นที่ ก็จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องการเกษตรได้อย่างครบถ้วนโดยทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันและต้องรักกัน

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ขอความร่วมมือทุกคนไม่ทิ้งขยะ ปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำลำคลองโดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ตามริมคลองต่างๆ ไม่ใช่ทิ้งทุกอย่างลงไป หรือไม่มีบ่อดักไขมันเรื่องนี้ต้องระมัดระวัง ทุกบ้านควรจะต้องมีเพราะถ้าน้ำเสียทั้งหมดเราก็ไม่รู้จะเอาน้ำที่ไหนมาใช้ คลองบางสายในปัจจุบันเน่าเสียไม่สามารถที่จะใช้ประโยชน์ได้แม้แต่การท่องเที่ยวซึ่งปัญหาทั้งหมดเกิดจากประชาชน อีกทั้งจะต้องไม่มีการเผาทำลายป่า ปัญหาเกิดจากคนทั้งสิ้นที่จุดไฟเผา

 

“อยากขอร้องอย่าบอกว่ายากจนรายได้น้อย ขอให้รัฐบาลดูแลอย่างอื่นดีกว่า อย่าไปเผาป่ากันเลย แค่บุหรี่มวนเดียวหรือไม้ขีดเพียงก้านเดียว เพราะความเสียหายมีมากมาย ขอให้เห็นใจกันบ้างโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ขอร้องให้ทุกคนทำตามกฎหมาย” นายกฯ กล่าว

ข่าวจาก มติชนสุดสัปดาห์, ไทยคู่ฟ้า

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: