ตากล้องต้องรู้!! ถ่ายรูปในสวนสาธารณะไม่ฟรี! เปิดหลักเกณฑ์ กทม.เรียกเก็บค่าใช้สวนเพื่อธุรกิจ-หารายได้





 

จากกรณีนักแสดงสาว “นุ่น วรนุช ภิรมย์ภักดี” ใส่ชุดไทยไปถ่ายรูปที่สวนสันติชัยปราการ เขตพระนคร กทม. แล้วถูกเจ้าหน้าที่สั่งห้าม บอกว่า ต้องขออนุญาตก่อน กลายเป็นเรื่องเป็นราวในโลกโซเชียล

((อ่านย้อนหลัง : “นุ่น วรนุช” โพสต์ถามทำไมแต่งชุดไทยถ่ายรูปที่ป้อมพระสุเมรุไม่ได้?))

แม้เจ้าตัวจะระบุว่า เหตุที่แต่งชุดไทยเพราะจะไป “งานอุ่นไอรัก คลายความหนาว” ที่พระลานพระราชวังดุสิต แต่ด้วยดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจเข้าใจผิดว่ามาถ่ายแบบ จึงกลายเป็นเรื่องราวอย่างที่เห็น

โดยปกติแล้ว สวนสาธารณะมีไว้สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ ความบันเทิงส่วนตัว และออกกำลังกาย ประชาชนทั่วไปสามารถใช้บริการได้ทันทีโดยไม่ต้องขออนุญาต

แต่บางครั้ง การใช้สวนสาธารณะเพื่อการถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอคลิป ถ่ายทำภาพยนตร์ หรือกิจกรรมเพื่อหารายได้ อาจทำให้ประชาชนที่มาใช้บริการไม่ได้รับความสะดวก และบางครั้งก่อให้เกิดทรัพย์สินทางราชการเสียหาย

สวนสาธารณะในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม มีอยู่ประมาณ 20 แห่ง ไม่นับรวมสวนสาธารณะขนาดย่อม หรือลานกีฬาที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานเขตต่างๆ

กรุงเทพมหานคร จึงมีหลักเกณฑ์ในการใช้สวนสาธารณะ โดยต้องขออนุญาตกับสำนักงานสวนสาธารณะ อาคารสำนักการระบายน้ำ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) และเสียค่าบริการตามอัตราที่กำหนด ดังนี้

– ถ่ายทำภาพยนตร์เพื่อธุรกิจ วันละ 6,000 บาท 
– บันทึกเทปโทรทัศน์เพื่อธุรกิจ วันละ 6,000 บาท
– ถ่ายภาพนิ่งเพื่อธุรกิจ วันละ 3,000 บาท
– กิจกรรม เพื่อหารายได้ ไม่เกิน 6 ชั่วโมง วันละ 4,000 บาท
– กิจกรรม เพื่อหารายได้ เกิน 6 ชั่วโมง วันละ 7,500 บาท

โดยการขออนุญาตต้องดำเนินการล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 5-7 วันทำการ และต้องปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และหากมีความเสียหายจากการใช้สวนสาธารณะ ต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทุกประการ

อย่างไรก็ตาม มักจะเกิดกรณีที่ไม่ชัดเจน จากช่างภาพสมัครเล่น ที่ถ่ายรูปเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ บางครั้งนำขาตั้งกล้องหรือแฟลชไปด้วย เจ้าหน้าที่ประจำสวนเห็นว่า อาจเข้าข่ายกิจกรรมถ่ายภาพนิ่งเพื่อธุรกิจ

หากเกิดกรณีดังกล่าว ควรที่จะพูดคุยและอธิบายกับเจ้าหน้าที่ประจำสวน หรือหากพบว่าสื่อสารแล้วไม่ชัดเจน ควรติดต่อไปที่สายด่วน กทม. โทร. 1555 เพื่อหาข้อยุติดังกล่าว

ข่าวจาก : ผู้จัดการออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: