หอการค้าไทยเผยผลสำรวจ คนไทยเป็นหนี้ท่วมหัว ปี’61 หนี้นอกระบบหั่นดอกสู้แบงก์-คนหันเล่นแชร์มากขึ้น!!





 

คนไทยเป็นหนี้ท่วมหัว ปี’61 พุ่ง 3.16 แสนบาทต่อครัวเรือน ชี้นายทุนนอกระบบหั่นดอกเบี้ยสู้แบงก์-คนหันเล่นแชร์ ดันสัดส่วนหนี้นอกระบบเพิ่ม

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยว่า ในปี 2561 ครัวเรือนไทยมีหนี้เฉลี่ย 316,623 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.8% แบ่งเป็นสัดส่วนหนี้ในระบบ 64.7% และหนี้นอกระบบ 35.3% ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินมาใช้จ่ายทั่วไปมากที่สุด รองลงมาเป็นการกู้มาชำระหนี้เก่า, ลงทุนประกอบธุรกิจหรือประกอบอาชีพ, จ่ายบัตรเครดิต, การศึกษา, ซื้อบ้าน, เสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ, ซื้อทรัพย์สิน (รถยนต์), ในการเกษตร, รักษาพยาบาล และเล่นพนัน โดยเฉพาะฟุตบอล เป็นต้น

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ปริมาณหนี้สินเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวโดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้ไม่สูงหรือไม่เกิน 30,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน รวมถึงราคาสินค้าเกษตรหลายตัว เช่น ยางพารา และปาล์มน้ำมัน อยู่ในระดับต่ำ, ค่าครองชีพสูง และที่สำคัญรัฐบาลมีมาตรการในการช่วยเหลือชาวบ้านให้ถึงแหล่งทุนในระบบด้วยการผลักดันสินเชื่อรายย่อยหรือฟิโก้ไฟแนนซ์เพื่อแก้ปัญหาการเข้าไปกู้หนี้นอกระบบในอัตราดอกเบี้ยที่แพง รวมถึงการสนับสนุนโครงการต่างๆ ให้เข้าถึงแหล่งการขอสินเชื่อของสถาบันเฉพาะกิจของรัฐในอัตราดอกเบี้ยถูก เป็นต้น

 

 

อย่างไรก็ตาม เปรียบเทียบสัดส่วนเงินกู้ในระบบและนอกระบบ พบว่าสัดส่วนเงินกู้นอกระบบในปีนี้จะมีสัดส่วนที่สูงกว่าปีก่อนมาก โดยในปี 2560 สัดส่วนการกู้นอกระบบอยู่ที่ 26.4% แต่ในปี 2561 มาอยู่ในระดับที่ 35.3% เนื่องจากประชาชนจำนวนมากขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินในระบบเต็มเพดานหนี้ ประกอบกับนายทุนนอกระบบได้มีการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบให้ต่ำลงหลายรายคิดดอกเบี้ยไม่ถึง 10% ต่อเดือน จากเดิมที่เคยรับทราบว่าอยู่ในระดับ 20-30% ต่อเดือน เห็นได้จากรายละเอียดเกี่ยวกับการผ่อนชำระหนี้ครัวเรือน ต่อเดือน จะอยู่ที่ 15,925 บาท แบ่งเป็นหนี้ในระบบ 17,117.8 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 21.97% แต่การผ่อนหนี้นอกระบบเฉลี่ย 5,193.36 บาทต่อเดือน ลดลง 5.79%

นอกจากนี้ ยังพบว่าประชาชนจำนวนมากหันไปเล่นแชร์ ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งเงินทุนนอกกฎหมายหรือนอกระบบเช่นกัน เพราะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการไปขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงเรื่องของเจ้ามือเบี้ยวหนี้หรือโกงแชร์บ้าง แต่ก็คุ้มค่ากว่าหากไม่มีการโกงกัน และที่สำคัญหลายๆ คนก็หันไปเล่นแชร์ในกลุ่มเพื่อนและญาติสนิท ซึ่งปลอดภัยกว่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสัดส่วนหนี้นอกระบบที่เพิ่มขึ้นก็ยังไม่น่าวิตกมากเพราะเฉลี่ยการผ่อนชำระ

“การแก้ปัญหาหนี้สินภาพรวมของรัฐบาลมาถูกทางแล้วที่ส่งเสริมให้คนเข้าถึงแหล่งเงินในระบบมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน แม้ว่าผลการสำรวจหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนจะเพิ่มสูงสุด แต่หากเทียบกับสัดส่วนจีดีพีถือว่ายังอยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นห่วงเหมือนกับในอดีต ขณะเดียวกันการกู้หนี้การซื้อสินทรัพย์ ยังอยู่ในสัดส่วน 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับการลงทุนและ การใช้จ่ายเพื่อไป ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ที่ตัวเลขเพิ่มขึ้นพอสมคิดจะเป็นการใช้จ่ายทั่วไปที่ชาวบ้านจำนวนมากได้รายได้ชนเดือน หรือบางรายมีไม่พอรายจ่ายจึงจำเป็นต้องกู้เงิน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเงินกู้นอกระบบแม้ว่าจะมีปริมาณเข้าไปกู้มากขึ้น แต่การผ่อนชำระต่อเดือนกลับต่ำกว่าปีก่อน แสดงให้เห็นว่าดอกเบี้ยนอกระบบได้ปรับลดลงมามาก”

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ข้อเสนอที่ครัวเรือนต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้ เช่น ฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้มีการจ้างงานและสร้างรายได้, การดูแลค่าครองชีพและควบคุมราคาสินค้า, ดูแลเรื่องสวัสดิการให้กับประชาชน, แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้, แก้ไขปัญหาการว่างงานและการเสริมอาชีพ, จัดหาแหล่งเงินทุนในระบบที่มีดอกเบี้ยต่ำ และจัดการขึ้นทะเบียนคนจน เป็นต้น

“ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาครัวเรือน 86.8% ที่เป็นหนี้ได้ประสบปัญหาขาดการผ่อนชำระหนี้ เพราะหมุนเงินไม่ทัน รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย และค่าครองชีพสูง และอีก 13.2% ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ ขณะเดียวกันพบว่าภายในอีก 1 ปีข้างหน้าครัวเรือนระบุว่าไม่มีความประสงค์ที่จะกู้เงิน 47.3% และอีก 52.7% ต้องการกู้เงินเหมือนเดิม แบ่งเป็นเงินกู้ในระบบ 94.9% และ นอกระบบ 5.1% ส่วนใหญ่ก็จะไปเป็นค่าใช้จ่ายทั่วไป, การชำระหนี้เก่า, ลงทุน, จ่ายบัตรเครดิต, ศึกษา, ซื้อบ้านและรถยนต์ เป็นต้น”

ข่าวจาก : ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: