นักวิชาการ เผยความเหลื่อมล้ำ’ขรก.-คนรวย’ ใช้สวัสดิการรัฐมากกว่า’คนจน’ ในขณะที่คนจนเข้าถึงรัฐยาก-ต้องพึ่งตนเอง!





 

วันที่ 19 ต.ค. ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เปิดเผยข้อมูลรายจ่ายของภาครัฐการศึกษาและการรักษาพยาบาล และแสดงกราฟวิเคราะห์ความยากจนและเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

พร้อมระบุว่า ผมรู้สึกปวดใจทุกครั้ง เวลาฟัง “คนที่มีอันจะกิน” โดยเฉพาะ “ข้าราชการ” บอก (หรือหวัง) ให้คนจนพึ่งตนเอง โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงว่า “ตนเองนั้นพึ่งรัฐบาล” อยู่เท่าไร ข้อมูลจากสภาพัฒน์ ปี 2559 ชี้ให้เห็นว่า คนในกลุ่มครัวเรือน 40% ที่มีรายได้ดีที่สุดของประเทศ (พูดแบบภาษาสถิติว่า quintile ที่ 4 และ 5) ได้รับประโยชน์จากรัฐบาลในการศึกษามากกว่าคนอีก 60% ที่จนกว่าตนมาก โดยเฉพาะในระดับมัธยมปลายและอุดมศึกษา (รูปแรก โดยดูตามอายุในแกนนอน)

 

 

ซึ่งเป็นระดับการศึกษา ที่คนกลุ่มที่มีรายได้น้อยเข้าถึงได้น้อยมาก ส่วนกลุ่มคนจนได้รับประโยชน์จากรัฐบาลมากกว่าในระดับประถมศึกษาและมัธยมต้น เพราะคนรวยส่วนหนึ่งพาลูกหลานเข้าโรงเรียนเอกชนหรือนานาชาติ

ยิ่งถ้าเป็นค่ารักษาพยาบาล เราจะเห็นได้เลยว่า คนในกลุ่ม 20% ที่รวยที่สุด หรือ quintile ที่ 5 ได้รับประโยชน์จากค่ารักษาพยาบาลจากรัฐบาลมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับสวัสดิการข้าราชการ และสามารถเข้ารับการรักษาในโรคที่มีความซับซ้อนในการรักษาได้ (โดยเฉพาะในช่วงปลายของชีวิต รูปที่ 2)

ในขณะที่คนที่มาจากครัวเรือนที่จน โดยเฉพาะ 20% ที่จนที่สุด ใช้ 30 บาทรักษาทุกโรค และอาจไม่สามารถไปรักษาพยาบาลในโรคที่ซับซ้อนได้ (เช่น ปัญหาการเดินทาง การดูแลผู้ป่วย เพราะหมอส่วนใหญ่กระจุกตัวในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่) แม้ว่าจะมีสิทธิ์รักษาก็ตาม

 

 

ข้อมูลของสภาพัฒน์ฯ นี้ ชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานที่สำคัญของรัฐ ที่คนที่มาจากครอบครัวที่รวยกว่า กลับได้รับประโยชน์มากกว่า และทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งมากขึ้นไปอีก น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่ รวมถึงคนรวยส่วนหนึ่ง ไม่เคยทราบข้อมูลนี้ว่า ชีวิตที่ดีของตนพึ่งพาคนอื่นๆ (โดยผ่านกลไกรัฐ) อยู่มากเพียงใด

ภายใต้ความไม่รู้อันนี้ การกล่าวคำว่า “ให้คนจนพึ่งพาตนเอง” นอกเหนือจากความหวังดีแล้ว ก็อาจเป็นไปเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นจากความเหลื่อมล้ำและความไม่ชอบธรรมดังกล่าว ซึ่งจะมีผลให้คนรวยสามารถรักษาระบบที่เป็นอยู่ และสถานภาพความได้เปรียบของตนไว้ได้ แบบ “เนียนๆ”

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : Decharut Sukkumnoed

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: