‘ป้าจุ๊ บ้านพักสี่ขา’ เห็นด้วยถ้าขึ้นทะเบียนหมา โอดมีกว่าพันตัว จ่าย6แสนคงไม่ไหว(คลิป)





 

จากกรณีที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งผู้ที่มีสัตว์เลี้ยงจะต้องนำสัตว์เลี้ยงไปขึ้นทะเบียน โดยมีค่าใช้จ่าย 450 บาทต่อตัว และหากผู้ใดมีสัตว์เลี้ยงฝ่าฝืน อาจโดนปรับสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท โดยในช่วงแรกเน้นที่สุนัขและแมวก่อน

 

 

วันที่ 11 ต.ค. 61 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ไม่มีผลบังคับใช้แต่อย่างใด เป็นเพียงร่างกฏหมายที่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อีก 3 วาระ ประการสำคัญในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 61 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า โดยที่หลักการของร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ เป็นประโยชน์ในการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งทำให้เจ้าของมีความรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีบทบัญญัติการขึ้นทะเบียน และการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม และอัตราค่าปรับ ที่อาจเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร

คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ กลับไปพิจารณาทบทวนร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับความเหมาะสมของบทบัญญัติ ตามความเห็นของนายกรัฐมนตรี โดยจะต้องไม่เป็นภาระแก่ประชาชน แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

 


นางจุติภรณ์ ปรีชาสุชาติ หรือ ป้าจุ๊ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก บ้านพักสี่ขาเพื่อหมาจร

 

ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี ลงพื้นที่วัดมะพร้าวเตี้ย แขวงคลองขวาง เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร นางจุติภรณ์ ปรีชาสุชาติ หรือ ป้าจุ๊ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก บ้านพักสี่ขาเพื่อหมาจร เปิดเผยว่า ตนเห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง เพราะจะสามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นเจ้าของหมาแมวที่มาทิ้ง  และสามารถผิดเจ้าของโดยตรงได้ แต่ไม่เห็นด้วยกับการเรียกเก็บเงิน เพราะตนมีสัตว์เลี้ยงในความดูแลตอนนี้กว่า 1,300 ตัว ซึ่งคิดเป็นเงินค่าลงทะเบียนกว่า 600,000 บาท ตนไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายไหวแน่นอน ซึ่งหากต้องมีการลงทะเบียนจริง ทางบ้านพักพิงช่วยเหลือสุนัขจรจัด คงต้องรวมตัวกัน และยกสุนัขให้กับภาครัฐดูแล และจะต้องดูว่าภาครัฐดูแลดีหรือไม่ และตนอยากถามว่าเก็บเงิน 450 บาทต่อตัว ซึ่งภาครัฐได้เงินจากการเก็บภาษีลงทะเบียนสุนัข 900 ล้านบาท ภาครัฐจะเอาเงินไปทำอะไร ไปสร้างบ้านพักพิงให้สุนัขทุกจังหวัดหรือไม่ สัตว์เจ็บป่วยจะได้รับการรักษาและฉีดวัคซีนไหม

 


สุนัขที่ป้าจุ๊เลี้ยงไว้

 

ส่วนการแก้ปัญหาหมาจรจัด ตนคิดว่าต้องแก้ปัญหาที่คน ควรมีข้อยกเว้นเก็บเงินกับบ้านพักพิง และไปเก็บเงินกับเจ้าของสุนัขมากกว่า เพราะตนเลี้ยงสัตว์ที่ถูกทอดทิ้ง ไม่ใช่เจ้าของสุนัข คงไม่มีเงินมากพอที่จะจ่าย ซึ่งค่าดูแลสุนัข และค่าอาหารแต่ละเดือนเป็นเงินกว่า 2 ล้านบาท โดยตนได้เงินที่ดูแลสุนัขตอนนี้มาจากการรับบริจาค จากเพจบ้านพักสี่ขาเพื่อหมาจร

สุดท้ายอยากฝากถึงคนที่เลี้ยงสุนัขว่า คนที่ไม่พร้อม ไม่ควรเลี้ยงสุนัข ปัญหาที่บ้านพักพิงตอนนี้มาจากคนเลี้ยงสัตว์ที่ไม่พร้อม และถ้าจะเลี้ยงต้องทำหมันสุนัขทั้งตัวผู้และตัวเมีย ตนคิดว่าปัญหาตรงนี้ ถูกละเลยจากภาครัฐ อยากให้ภาครัฐแก้ปัญหาตรงนี้อย่างจริงจัง เชื่อว่าจะสามารถควบคุมจำนวนสุนัขได้อย่างแน่นอน

 


นางชุติมา นิ่มปานฝ้าน หรือ ป้าแมว

 

นางชุติมา นิ่มปานฝ้าน หรือ ป้าแมว อายุ 61 ปี ผู้พิการทางสายตา 1 ข้าง ใช้พื้นที่บ้านกว่า 1 ไร่ ภายในชุมชนทรัพย์เมืองทอง นำเอาสุนัขจรจัดและแมวจำนวนมากมาเลี้ยงไว้ โดยจำนวนแมวทั้งสิ้น 70 ตัว สุนัข 30 ตัว ซึ่งป้าแมวนำเงินส่วนตัวของตนและสามีซึ่งทำงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งในจังหวัดอ่างทองซื้ออาหารสุนัขและแมวกว่าเดือนละ 1 หมื่นบาทในการเลี้ยงแมวและสุนัขจรจัดที่ถูกนำไปทิ้งไว้ที่ต่าง ๆ เมื่อสอบถามถึงเรื่องที่ ครม.ประกาศเตรียมให้ขึ้นทะเบียนสุนัขและแมวทำให้ป้าแมวถึงกับตกใจเนื่องจากต้องใช้เงินกว่า 50,000 บาท ในการขึ้นทะเบียน

 


แมวที่ป้าแมวเลี้ยงไว้

 

ป้าแมว เปิดเผยว่า สุนัขและแมวมที่นำมาเลี้ยงส่วนใหญ่มีผู้นำมาทิ้งไว้ และไปเจอถูกทิ้งตามที่ต่างๆก็เก็บมาเลี้ยงเพราะสงสาร เมื่อทราบข่าวการขึ้นทะเบียนซึ่งต้องใช้เงินตัวละ 450 บาท โดยที่บ้านเก็บแมวและสุนัขจรจัดมาเลี้ยงไว้ 100 กว่าตัว ทำให้ต้องใช้เงินกว่า 5 หมื่นบาท ซึ่งจริงๆ แล้วหากถามว่าการขึ้นทะเบียนดีหรือไม่ก็ต้องตอบว่าดีแต่อยากให้มีข้อยกเว้นสำหรับคนที่รับสุนัข-แมวจรจัดมาเลี้ยงเพราะทุกวันนี้ก็ต้องใช้จ่ายเดือนละหมื่นกว่าบาทอยู่แล้ว หากคนที่ซื้อมาเลี้ยงคนละ1-2 ตัวคงไม่กระทบ ซึ่งหากมีการนำเรื่องนี้มาใช้จริงปริมาณสุนัข-แมวจรจัดน่าจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น ส่วนตนเห็นว่าหากมีการนำสุนัขหรือแมวไปปล่อยทิ้งที่วัดก็จะเป็นภาระกับทั้งพระและก็ส่งผลกระทบกับสุนัขและแมวที่ต้องไปรวมกันอย่างแออัดอีกด้วยจึงอยากให้ทบทวนในเรื่องดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ในต่างประเทศก็มีกฏหมายกำหนดให้ลงทะเบียนสัตว์เลี้ยง เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่กำหนดให้ สุนัขทุกตัวในประเทศต้องถูกขึ้นทะเบียน และมีการเรียกเก็บภาษีการถือครองสุนัขเป็นรายปี ซึ่งเจ้าของสุนัขทุกคนต้องจ่ายภาษีให้กับเขตเทศบาลหรือหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนเองอาศัยอยู่ ซึ่งแต่ละพื้นที่ของเนเธอร์แลนด์จะมีอัตราการเรียกเก็บภาษีสุนัขในอัตราที่แตกต่างกันออกไป ในสุนัขตัวแรก ในอัตราตัวละ 112.80 ยูโร ต่อปี (ปีละ 4,274 บาท) สุนัขตัวที่ 2 ในอัตราตัวละ 176.76 ยูโร ต่อปี (ปีละ 6,700 บาท) และสุนัขตัวที่ 3 ในอัตราตัวละ 224.16 ยูโรต่อปี (ปีละ 8,500 บาท) ซึ่งหมายความว่า ผู้ที่มีสุนัขในความดูแลมากเท่าใด ก็จะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงมากยิ่งขึ้นเป็นเงาตามตัว

และใน ประเทศไอร์แลนด์เหนือ มีการออกกฎหมายบังคับว่า สุนัขและแมวทุกตัวจะต้องถูกขึ้นทะเบียนกับรัฐบาล และเจ้าของจะต้องจ่าย “ค่าใบอนุญาต” ในการครอบครองสุนัขและแมวในอัตราตายตัวที่ปีละ 12.50 ปอนด์สเตอร์ลิง หรือปีละ 540 บาท

รวมถึง ประเทศเยอรมนี มีกฏหมายบังคับให้ผู้เลี้ยงสุนัขและแมว ต้องจ่ายเงินภาษีบำรุงท้องที่ให้กับเขตปกครองท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ ซึ่งแต่ละท้องที่จะเรียกเก็บภาษีในอัตราที่แตกต่างกันออกไป เช่น ในกรุงเบอร์ลิน ที่เป็นเมืองหลวงของเยอรมนี มีการเรียกเก็บภาษีจากผู้ครอบครองสุนัขและแมวในอัตราตัวละ 140 ยูโรต่อปี (ปีละ 5,300 บาท) และหากผู้ใดมีสุนัขและแมวในความครอบครองมากกว่า 1 ตัว สุนัขและแมวตัวต่อๆ ไป (ตัวที่ 2,3,4…..) จะถูกเก็บภาษีในอัตราตัวละ 180 ยูโรต่อปี (ปีละ 6,820 บาท)

ใน ประเทศนิวซีแลนด์ บังคับให้สุนัขและแมวทุกตัวที่มีอายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ต้องถูกเจ้าของหรือผู้ดูแลนำมาขึ้นทะเบียน พร้อมกับฝังไมโครชิพ รวมถึงติดป้ายแท็ก ซึ่งจะมีการเปลี่ยนสีทุกปี ขณะที่ในนิวซีแลนด์ไม่มีการเก็บภาษีสุนัขและแมว มีแต่เพียงการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเล็กน้อยในการฝังไมโครชิพและลงทะเบียนเท่านั้น

ข่าวจาก : อัมรินทร์ทีวี

 

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: