สถ.ย้ำให้งบ อปท.แล้ว ยัน ‘ผู้สูงอายุ’ ได้รับเบี้ยยังชีพปี 62 ตรงเวลาแน่นอน!!





 

วันที่ 9 ต.ค. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวถึงการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2552 ว่า สามารถจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ 3 วิธี คือ 1.รับเป็นเงินสด 2.โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากในนามผู้ที่ได้รับสิทธิ และ 3.ผู้ที่ได้รับสิทธิสามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นรับแทนได้เป็นเงินสด หรือโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ที่รับมอบอำนาจ

โดยให้เป็นไปตามความสมัครใจของผู้มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ส่วนกรณีที่บางจังหวัดได้แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกแห่งใช้วิธีการโอนเงินเข้าบัญชีผู้มีสิทธิทุกรายนั้น ก็อาจเป็นการเตรียมความพร้อมตามนโยบาย e-payment ของรัฐบาล

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ข้อ 7 ได้กำหนดให้ผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีคุณสมบัติครบถ้วนในปีงบประมาณถัดไป สามารถลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ได้ที่ อปท. ที่ตนมีภูมิลำเนา ณ สำนักงานของ อปท. หรือสถานที่ที่ อปท. ได้กำหนดไว้ตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึงเดือน พ.ย.ของทุกปี

เนื่องจากช่วงระยะเวลาของการลงทะเบียน มีระยะเวลายาวถึง 11 เดือน ทำให้อาจเกิดการลงทะเบียนคร่อมปีงบประมาณถึง 2 ปีงบประมาณ จึงขอแจ้งว่าในการลงทะเบียนในปี 2561 จะมีช่วงของการลงทะเบียน ดังนี้ 1.ลงทะเบียนช่วงเดือน ม.ค. – ก.ย. 2561 ซึ่งเป็นปีงบประมาณ 2561 จึงเป็นการลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปีงบประมาณ 2562 และ 2.ลงทะเบียนช่วงเดือน ต.ค. – พ.ย. 2561 ซึ่งเป็นปีงบประมาณ 2562 จึงเป็นการลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพในปีงบประมาณ 2563

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กรณีที่ผู้สูงอายุย้ายที่อยู่ใหม่ ก็ให้ อปท.เดิมจ่ายเบี้ยยังชีพจนถึงสิ้นปีงบประมาณ (ก.ย.) และให้ผู้สูงอายุไปลงทะเบียน ณ อปท.ที่ไปอยู่ใหม่ เพื่อรับเบี้ยยังชีพในปีงบประมาณถัดไป (ต.ค.) และการรับเบี้ยยังชีพแบบขั้นบันไดของผู้ที่มีอายุ 60 70 80 และ 90 ปี มติ ครม.ไม่ได้กำหนดอายุบริบูรณ์ไว้ จึงสามารถรับเบี้ยยังชีพได้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณพร้อมกัน รวมถึงการปรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามขั้นบันได ก็จะปรับตามปีงบประมาณ ไม่มีการปรับตามเดือนเกิดแต่อย่างใด ส่วนผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

และต่อมาได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะทำให้ขาดคุณสมบัติการได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพราะระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2552 ระบุไว้ว่า ต้องไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ อปท. รวมถึงผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐหรือ อปท.จัดให้เป็นประจำ แต่หากคุณสมบัติกลับมาครบตามระเบียบฯ ก็ต้องลงทะเบียนใหม่เพื่อรับเบี้ยยังชีพในปีถัดไป

นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับดำเนินการด้านงบประมาณรายการเงินอุดหนุนทั่วไป สำหรับโครงการสร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุ ที่ให้ อปท. ดำเนินการตั้งงบประมาณในข้อบัญญัติท้องถิ่น/เทศบัญญัติ ในหมวดงบกลาง ประเภทเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้น ขณะนี้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดสรรงบประมาณ ประจำปี พ.ศ. 2562 งวดที่ 1 (ต.ค. – ธ.ค. 2561) เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 17,051,595,900 บาท ให้แก่ อปท.เรียบร้อยแล้ว ขอให้มั่นใจได้ว่าผู้สูงอายุทุกท่านจะได้รับสวัสดิการเบี้ยยังชีพได้ตรงตามเวลาอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และมีคุณสมบัติครบถ้วน มาลงทะเบียนเพื่อแสดงความจำนงขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของ อปท. ประจำปี 2563 ได้ตั้งแต่เดือนต.ค.-พ.ย. 2561 และเดือนม.ค. – ก.ย. 2562 ด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นเป็นผู้ยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแทน โดยมีเอกสารตามที่ราชการกำหนดไว้ เพื่อจะได้มีสิทธิ์รับเงินเบี้ยยังชีพ โดยจัดเตรียมเอกสารหลักฐาน ดังนี้ 1. บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย 2. ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่เป็นปัจจุบัน และ 3. สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารในนามผู้มีสิทธิ์ ผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีสิทธิ์

ข่าวจาก : ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: