ย้อนเหตุการณ์ดัง! ครบรอบ25ปีโศกนาฏกรรม ‘รอยัลพลาซ่าโคราชถล่ม’ฝังร่าง137รายทั้งเป็น!(มีคลิป)





 

Thaijobsgov Clip
เผยแพร่โดย Thitiporn Udjai · 1 นาที · 
เหตุการณ์ผ่านมา 25 ปีแล้ว แต่สิ่งที่ทุกคนจำได้ไม่เคยลืมและกลายเป็นเรื่องที่ชาวนครราชสีมาจดจำทุกวันนี้ คือ เหตุการณ์ "โรงแรมรอยัลพลาซ่า" ซึ่งตั้งอยู่กลางเมืองโคราช ระหว่างถนนจอมสุรางค์และถนนโพธิ์กลางถล่ม เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2536 เวลา 10.10 น. ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์โศกนาฏกรรม

ขณะเกิดเหตุมีการอบรมสัมมนา ซึ่งมีผู้อยู่ในอาคารทั้งหมด 379 คน ประกอบไปด้วยกลุ่มข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ 117 คน กลุ่มพนักงานบริษัทเชลล์ประเทศไทยจำกัด จำนวน 59 คน กลุ่มบุคคลทั่วไปที่พักอยู่ในโรงแรมจำนวน 78 คน และกลุ่มพนักงานโรงแรม จำนวน 125 คน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 137 คน(ข้าราชการครู 47 คน พนักงานเชลล์แห่งประเทศไทย 24 คน พนักงานโรงแรม 33 คน และผู้มาใช้บริการ 33 คน) และได้รับบาดเจ็บ 227 คน

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กู้ภัยจากหลายหน่วยงาน ร่วมค้นหาผู้รอดชีวิตภายใต้ซากตึกโรงแรมรอยัลพลาซ่าที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก เจ้าหน้าที่ต้องคลานเข้าไปใต้ซากอาคารที่อาจถล่มซ้ำลงมาได้ทุกเมื่อ ซึ่งการระดมความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง

ส่วนสาเหตุของตึกโรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่ม เกิดจากการดัดแปลงต่อเติมโครงสร้างอาคาร จาก 3 ชั้นเป็นอาคาร 6 ชั้น พร้อมห้องประชุมสัมมนาขนาดใหญ่อยู่ชั้น 6 ทำให้เสารับน้ำหนักตัวอาคารไม่ไหว อีกทั้งโครงสร้างเสายังไม่ได้เชื่อมยึดติดกัน เมื่อเสาที่ตั้งอยู่บนคานแบกรับน้ำหนักมากเกินไป จึงทำให้คานหลุดออกจากหัวเสาที่ชั้น 2 ทำให้โครงสร้างอาคารบนหัวเสายุบตามและส่งแรงดึงรั้งกระทบเสาต้นข้างเคียงให้หักล้มตามมาในที่สุด

นอกจากนี้ ทางโรงแรมรอยัลพลาซ่า มีโปรเจ็กต์ขยายตึกโรงแรมเป็น 6 ชั้นแล้ว ยังมีอีก 3 โครงการที่จะทำอีกคือ ปรับปรุงคาเฟ่ ซึ่งเป็นแม่เหล็กสถานบันเทิงที่ทำรายได้ดีใหม่ทั้งหมด พร้อมกับจะสร้างอาคารจอดรถสูง 8 ชั้นที่ใช้งบสูงถึง 30 ล้านบาท สามารถจอดรถได้ 400 คัน และสุดท้ายเป็นการจัดงานใหญ่ ฉลองครบรอบ 10 ปี โรงแรมในเดือน พ.ย. 2536 แต่เกิดเหตุการณ์โรงแรมถล่มในวันที่ 13 ส.ค. 2536 เสียก่อน

สำหรับการดำเนินคดีต่างๆ สิ้นสุดลงเมื่อปี 2543 โดยศาลฎีกาพิพากษาจำคุกนายบำเพ็ญ พันธ์รัตนอิสระ วิศวกรควบคุมการก่อสร้างตลอดชีวิต ส่วนผู้บริหารโรงแรมทั้งหมดพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุผลจากคำพิพากษา เพราะผู้บริหารโรงแรมไม่มีความรู้เรื่องโครงสร้าง โดยได้ว่าจ้างวิศวกร คือ นายบำเพ็ญ ซึ่งมีความรู้มารับผิดชอบในการต่อเติมอาคารโรงแรม ดังนั้นผู้บริหารจึงไม่มีความผิด ศาลจึงพิพากษายกฟ้องจำเลยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

อนึ่ง ในด้านการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่เสียชีวิต ศาลได้พิพากษาให้ บริษัท รอยัลพลาซ่าโฮเตล จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่เสียชีวิตทั้งหมด ทางโรงแรมได้ชดใช้เงินให้กับผู้เสียชีวิตรวม 5 ล้านบาท และเงินที่รับบริจาคอีก 5 แสนบาท เฉลี่ยแล้วผู้เสียชีวิต ญาติได้รับเงินรายละ 80,000 บาท และผู้พิการได้รับรายละ 50,000 บาท

และทุกวันที่ 13 ส.ค.ของทุกปี ทางครอบครัวและญาติของผู้เสียชีวิต จะมาทำบุญและอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เคราะห์ร้ายเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการส่งวิญญาณผู้เสียชีวิตที่ล่วงลับให้ไปสู่สุคติ และเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เคราะห์ร้าย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 13  ส.ค.61ที่ผ่านมา ที่ศาลาการเปรียญวัดพระนารายณ์วรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครราชสีมา นำโดย นายทองขาว โคตรโยธา ประธานมูลนิธิเพื่อการศึกษาสามัญศึกษาจังหวัดนครราชสีมา (องค์กรสาธารณประโยชน์) อดีตผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายศิลปะสิทธิ์ ทับทิมธงไชย อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสุรนารี พร้อมผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์อาคารโรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่ม เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2536 และญาติผู้เสียชีวิตและผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษาสังกัดโรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดนครราชสีมากว่า 80 คน ร่วมจัดกิจกรรมทำบุญถวายภัตตาหารเพลให้พระภิกษุ สามเณร จำนวน 36 รูป พร้อมกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา สังกัดกรม สศ.เดิม และ สศจ.นครราชสีมา เดิมที่เสียชีวิต และดวงวิญญาณผู้ล่วงลับ ในโอกาสครบ 25 ปี (เบญจเพส) รวมทั้งมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่มีผลการเรียนดีจำนวน 6 ทุน 

โดยผู้ร่วมกิจกรรม เปิดเผยว่า เหตุการณ์ดังกล่าวผ่านมาแล้ว 25 ปี แต่ทุกคนที่สูญเสียยังจดจำเหตุการณ์ดังกล่าวได้ดี เพราะมันหลอกหลอนจิตใจของทุกคนอยู่ตลอดเวลา เมื่อนึกถึงทีไรน้ำตาตกในไม่เคยลืมเลือนและยากที่จะลบความเจ็บช้ำในเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากความเห็นแก่ได้ของหุ้นส่วนผู้บริหารและเจ้าของสถานประกอบการที่ทำให้เพื่อนครู บุคลากร รวม 47 ชีวิตต้องสังเวยชีวิต ส่วนญาติของผู้เสียชีวิตทุกคนต่างได้รับความกระทบกระเทือนด้านจิตใจจนมาถึงปัจจุบัน

เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นอุทาหรณ์และเป็นคดีตัวอย่างให้กับผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกี่ยวกับการดำเนินการก่อสร้างอาคารและการอนุญาตแบบแปลนก่อสร้างอาคารที่ไม่ถูกต้องตามหลัก พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ปัจจุบันที่ดินของอดีตโรงแรมรอยัลพลาซ่า เป็นกรรมสิทธิ์ของ “ศิลาปาร์ค” เจ้าของโรงแรมดิไอยรา

ข่าวจาก : หนังสือพิมพ์แนวหน้า, ข่าวดังข้ามเวลา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: