กางให้ดูจะๆ! เผยบัญชี ‘เงินเดือน-เงินวิทยฐานะ-ค่าตอบแทนพิเศษ’ครู เห็นแล้วอ๋อเลยว่าพอใช้หนี้’ธ.ออมสิน’ไหม?





 

กรณีกลุ่มครูมหาสารคาม ประกาศปฏิญญามหาสารคาม เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2561  โดยเรียกร้อง 1.ขอให้รัฐบาลและธนาคารออมสินพักหนี้โครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ทุกโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป และ 2. ลูกหนี้ ช.พ.ค. จำนวน 4.5 แสนคน จะยุติการชำระหนี้กับธนาคารออมสินตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไป

ต่อมาธนาคารออมสินมีหนังสือเวียนถึงกรรมการผู้จัดการ/หัวหน้าสำนักงานเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 เรื่องขอให้เร่งดำเนินการฟ้องคดีกับลูกหนี้สินเชื่อครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ไม่เข้าร่วมมาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ โดยถ้าลูกหนี้คนไหน ผิดนัดชำระหนี้และได้ส่งจดหมายบอกกล่าวไปแล้ว ให้เร่งฟ้องคดีทันที โดยกำชับว่าให้ฟ้องภายในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2561 ส่วนคนไหนที่ผิดนัด แต่ธนาคารยังไม่ส่งจดหมายเตือน ก็ให้รีบเตือนภายในเดือนกรกฎาคมนี้ และเร่งฟ้องร้องในเดือนสิงหาคม 2561

แม้ธนาคารออมสินจะออกมายืนยันว่าหนังสือเร่งรัดฟ้องร้อง ไม่เกี่ยวกับปฏิญญามหาสารคาม ด้วยเป็นการทวงหนี้ปกติ แต่ทั้งนี้ด้วยไทม์ไลน์ที่ใกล้เคียงกัน จึงเลี่ยงความเข้าใจผิดได้ยาก

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวเกิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ฝ่ายหนึ่งมองว่าครูมีเงินเดือนน้อย ไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายหนี้ ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าเงินเดือนของครูไม่น้อย แต่ปัญหาคือขาดวินัยทางการเงิน

“มติชน” จึงได้หาข้อมูลพบว่าฐานเงินเดือนของครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามพ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลกรทางการศึกษา(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 มีดังนี้

เงินเดือนขั้นต่ำ/ขั้นสูงของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ปัจจุบัน ดังนี้ ครูผู้ช่วย ขั้นต่ำ 15,050 บาท ขั้นสูง 24,750 บาท , ครูคศ.1  ขั้นต่ำ 15,440 บาท ขั้นสูง 34,310 บาท, ครูคศ.2  ขั้นต่ำ 16,190 บาท ขั้นสูง 41,620 บาท, ครูคศ.3  ขั้นต่ำ 19,860 บาท ขั้นสูง 58,390 บาท , ครูคศ.4  ขั้นต่ำ 24,400 บาท ขั้นสูง 69,040 บาท ,  และ ครูคศ.5 ขั้นต่ำ 29,980 บาท ขั้นสูง 76,800 บาท

 

 

 

(หมายเหตุ : โดยปกติเงินเดือนครูจะไต่ระดับไปเรื่อยๆ ตามลู่วิ่งของตัวเอง จนชนเพดานสูงสุดในแต่ละอันดับ เมื่อชนเพดานแล้วก็จะขยับไปกินเงินเดือนในลู่วิ่งต่อไปโดยอัตโนมัติ เช่น ครูผู้ช่วย กินเงินเดือนต่ำสุด 15,050 บาท ไปจนถึง 24,750 บาท เมื่อชนเพดานแล้ว ก็จะขยับไปกินเงินเดือนในระดับใกล้เคียงของเดิมในลู่วิ่งต่อไปคือคศ.1 โดยอัตโนมัติ เช่น เมื่อชนเพดานเงินเดือนสูงสุด 24,750 บาท ในลู่วิ่ง ครูผู้ช่วย ก็จะขยับไปกินเงินเดือนในลู่วิ่งครูคศ.1 ในเงินเดือน 25,240 บาท และจะวนลูปแบบนี้ไปจนถึงครูคศ.5  แต่สำหรับคนที่ต้องการให้เงินเดือนขยับสูงขึ้นเร็วกว่าระบบปกติ จะมีระบบฟาสแทร็กคือการทำวิทยฐานะเพื่อให้เลื่อนขั้นเงินเดือนเร็วขึ้น และวิทยฐานะดังกล่าว ก็ยังมีเงินวิทยฐานะด้วย โดยระบบวิทยฐานะ มีขึ้นก็เพื่อจูงใจให้ครูพัฒนาตัวเอง เพื่อนำความรู้ไปพัฒนานักเรียนต่อ แต่ทั้งนี้การทำวิทยฐานะในแต่ละระดับซึ่งไล่ตั้งแต่วิทยฐานะชำนาญการ(ชน.) ชำนาญการพิเศษ(ชนพ.) เชี่ยวชาญ(ชช.)และเชี่ยวชาญพิเศษ(ชชพ.) นั้นจะมีเงื่อนไขของแต่ละระดับอยู่ เช่น ครูผู้ช่วย จะยื่นขอทำวิทยฐานะชำนาญการได้ จะต้องรับราชการมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ปี  ก็ขยับมาเป็นครูคศ.1 จึงจะมีสิทธิทำผลงานเพื่อยืื่นขอรับการพิจารณามีวิทยฐานะชำนาญการได้ เป็นต้น)

สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีวิทยฐานะ จะมีอัตราเงินวิทยฐานะ ดังนี้ วิทยฐานะชำนาญการ(ชน.)  3,500 บาท (เงินเดือนอยู่ในลู่วิ่ง คศ.1) , วิทยฐานะชำนาญพิเศษ(ชนพ.)  5,600 บาท (เงินเดือนอยู่ในลู่วิ่ง คศ.2), วิทยฐานะเชี่ยวชาญ(ชช.) 9,900 บาท (เงินเดือนอยู่ในลู่วิ่ง คศ.3) , วิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ(ชชพ.) 13,000 บาท(เงินเดือนอยู่ในลู่วิ่ง คศ.4) , 15,600 บาท (เงินเดือนอยู่ในลู่วิ่ง คศ.5) (อัตราเงินเดือนแต่ละอันดับ ดูตารางเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงด้านบนประกอบ)

 

 

 

(หมายเหตุ ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ได้แก่ รองผู้อำนวยการโรงเรียนและผู้อำนวยการโรงเรียน ส่วนตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา ได้แก่ รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ และ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ)

ทั้งนี้ ไม่เพียงแค่เงินเดือนและเงินวิทยฐานะเท่านั้น ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีวิทยฐานะตั้งแต่ชำนาญการพิเศษขึ้นไป ยังจะได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษโดยอัตโนมัติอีกด้วย ซึ่งเงินค่าตอบแทนพิเศษดังกล่าว จะมีอัตราเท่ากับเงินค่าวิทยฐานะ ทั้งนี้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งยังคงมีผลมาถึงปัจจุบัน ซึ่งมีอัตราดังนี้ ค่าตอบแทนพิเศษสำหรับวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ 5,600 บาท, ค่าตอบแทนพิเศษสำหรับเชี่ยวชาญ 9,900 บาท และค่าตอบแทนสำหรับวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ 13,000/15,600 บาท (ยกเว้นวิทยฐานะชำนาญการ ที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนพิเศษ) และเงินตอบแทนพิเศษดังกล่าว มีเฉพาะข้าราชการครูเท่านั้น ข้าราชการอื่นไม่มี แม้แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยก็ไม่มี

(ฉะนั้นวิทยฐานะ+ค่าตอบแทนพิเศษ มีดังนี้ วิทยฐานะชำนาญพิเศษ(ชนพ.) 5,600+5,600 =11,200 บาท ,  วิทยฐานะเชี่ยวชาญ(ชช.)  9,900+9,900 = 19,800 บาท, วิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ(ชชพ.) คศ.4 13,000+13,000=26,000 บาท, (คศ.5) 15,600+15,600 = 31,200 บาท)

ด้านนายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า ส่วนใหญ่ครูเกษียณอายุราชการด้วยเงินเดือนอยู่ที่ 50,000 บาท แต่ที่บ่นกันว่าเงินไม่เพียงพอที่จะใช้หนี้ ก็เนื่องจากเงินวิทยฐานะและเงินค่าตอบแทนพิเศษไม่ได้ถูกนำมาคิดคำนวณในเงินบำเหน็จบำนาญ ตัวอย่างเช่น สมัยยังเป็นครูประจำการ รับเงินเดือนอยู่ที่ 50,000 บาทและครูส่วนใหญ่มีวิทยฐานะอยู่ที่ชำนาญการพิเศษ ซึ่งจะได้เงินวิทยฐานะ 5,600 บาท บวกอีก 5,600 บาท(ค่าตอบแทนพิเศษ) รวมเป็น 11,200+50,000 บาท แต่เมื่อเกษียณอายุราชการ เงินวิทยฐานะและค่าตอบแทนพิเศษดังกล่าวไม่ได้รับ และไม่ได้ถูกนำมาคิดคำนวณเป็นเงินบำเหน็จบำนาญด้วย ยิ่งกว่านั้น เงินเดือนยังโดนหักไปอีก 30-40% ตามอายุราชการ เพราะครูส่วนใหญ่รับราชการอยู่ที่ 30 ปี ฉะนั้นเงินเดือน 50,000 บาท ก็จะถูกหักไปประมาณ 30-40% เหลือรับบำเหน็จบำนาญจริงอยู่ที่ 30,000-40,000 บาท

นายอดิศร กล่าวต่อว่า สำหรับครูประจำการนั้น เงินเดือนเหลือเฟือแน่นอน ไม่มีปัญหาในการชำระหนี้ เพราะก่อนเกษียณ ส่วนใหญ่เงินเดือน 50,000 บาทเมื่อรวมกับเงินวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและค่าตอบแทนพิเศษ 5,600+5,600 บาท จึงใช้จ่ายได้สบาย อย่างไรก็ตามครูส่วนหนึ่งที่กู้โครงการการฌาปนกิจช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา(ช.พ.ค.) นั้น เพราะเข้าใจว่าเป็นเงินค่าทำศพ คือปกติสมาชิกช.พ.ค.จะต้องจ่ายค่าทำศพให้เพื่อนครูที่เสียชีวิต ศพละ 1 บาท ซึ่งแต่ละเดือน มีครูเสียชีวิตประมาณ 600-700 คน หรือจ่ายเงินช.พ.ค.ราวๆ เดือนละ 600-700 บาท โดยเงินค่าทำศพที่ทายาทจะได้รับดังกล่าวนั้น ครูก็เข้าใจว่าเป็นการกู้เงินค่าทำศพดังกล่าวมาใช้ โดยไม่ต้องการให้ทายาท ต้องการกู้มาใช้เอง แต่ไม่รู้เลยว่าแท้จริงแล้วเป็นเงินในอนาคตแถมดอกเบี้ยสูงมาก และบริษัททิพยประกันภัยก็บังคับให้ทำประกันชีวิตตลอดสัญญาโดยหักทันทีที่กู้ อย่างโครงการ ช.พ.ค.รุ่นแรกๆ ดอกเบี้ย MLR – 0.5% รุ่นหลังๆ MLR -0.85% หลังจากนั้นก็เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวซึ่งสูงมาก แต่ที่ครูต้องกู้ช.พ.ค. เพราะไม่มีช่องทางการอื่น ไม่มีทางเลือก เนื่องจากการกู้ธนาคาร ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ครูกู้ไม่ได้ เพราะไม่มีหลักทรัพย์

“ก่อนที่จะขอโอนไปเป็นอาจารย์ ผมเคยเป็นครูประถม เคยเป็นครูใหญ่  ผมเคยกู้ ช.พ.ค.ไปซื้อที่นา ทิพยประกันภัยบังคับทำประกันชีวิตตลอดสัญญา หักไปทันทีที่กู้ 6 หมื่นบาท แถมดอกเบี้ยสูงมาก กู้ไปปีกว่าๆ เจอดอกเบี้ยแพง เลยเข็ด รีบไปกู้ที่อื่นมาปิดบัญชี ปิดบัญชีแล้วได้เงินประกันคืนมาแค่หมื่นเดียว” นายอดิศร กล่าวและว่า ครูส่วนใหญ่กู้มาทำธุรกิจหรือไม่ก็ทำการเกษตร แต่เนื่องจากเกิดความผิดพลาดเพราะทำธุรกิจไม่เป็น เลยเกิดปัญหา แต่ถามว่าครูที่กู้มาใช้จ่ายไม่เหมาะสม มีไหม อย่างพวกเล่นพนัน ก็มี แต่เป็นส่วนน้อยมาก

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าเป็นครูประจำการ ไม่น่ามีปัญหาเรื่องไม่มีเงินชำระหนี้ใช่หรือไม่ นายอดิศร กล่าวว่า ไม่มีปัญหาแน่นอน เพราะก่อนเกษียณ ครูส่วนใหญ่เงินเดือนอยู่ที่ 50,000 บาท เมื่อรวมกับเงินวิทยฐานะ+เงินค่าตอบแทนที่ได้เท่ากับเงินวิทยฐานะอยู่ที่ 5,600+5,600 บาท ก็เท่ากับ 50,000+5,600+5,600 =61,200 บาท ก็ใช้จ่ายได้เหลือเฟือ

เมื่อถามต่อว่า ยิ่งครูที่มีวิทยฐานะเชี่ยวชาญและเชี่ยวชาญพิเศษ ก็ยิ่งมีรายได้สูงขึ้นใช่หรือไม่ อย่างเชี่ยวชาญ 9,900 +9,900 บาท เป็นต้น นายอดิศร กล่าวว่า ตามหลักการเป็นอย่างนั้น คือ วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ได้ 5,600+5,600 บาท เชี่ยวชาญ 9,900+9,900 บาท และ เชี่ยวชาญพิเศษ 13,000+13,000 บาท หรือ 15,600 +15,600 บาท ยกเว้นวิทยฐานะชำนาญการที่จะไม่ได้บวกในส่วนของค่าตอบแทนพิเศษ แต่ทั้งนี้ในความเป็นจริง ครูส่วนใหญ่ของประเทศ จะมีวิทยฐานะอยู่ที่ “ชำนาญการพิเศษ” เป็นส่วนใหญ่ คนที่ได้วิทยฐานะเชี่ยวชาญ มีน้อยมาก ยิ่งเชี่ยวชาญพิเศษ ทั่วประเทศมีไม่กี่ราย ซึ่งส่วนใหญ่เกษียณไปแล้ว ส่วนที่ถามว่าทำไมวิทยฐานะชำนาญการ ถึงไม่ได้รับค่าตอบแทนพิเศษ 3,500 บาทนั้น เรื่องนี้ตนตอบไม่ได้ อย่างคนที่เคยเป็นครูที่ได้รับวิทยฐานะชำนาญการ 3,500 บาท เมื่อโอนมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เงิน 3,500 บาท ก็ไม่ได้ด้วย(สมัยนั้นที่ยังรับโอน) เรื่องค่าตอบแทนพิเศษเท่ากับเงินวิทยฐานะนี้มีมาตั้งแต่สมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ยังไม่มีการยกเลิกมาจนถึงทุกวันนี้ เหมือนอ้อยเข้าปากช้าง ที่เมื่อมีมติมาแล้ว ไม่มีรัฐบาลชุดไหนกล้าที่จะยกเลิก และค่าตอบแทนพิเศษดังกล่าวมีเฉพาะข้าราชการครูด้วย ข้าราชการอื่นไม่มี แม้แต่อาจารย์มหาวิทยาลัย ก็ไม่มีบวกค่าตอบแทนพิเศษให้

อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามไปทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ได้คำตอบว่า ครูที่มีวิทยฐานะ ชนพ. ชช. และชชพ. จะได้เงินตอบแทนพิเศษจริง และมีครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้วิทยฐานะ “เชี่ยวชาญพิเศษ” ทั่วประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแค่ 6 คน ดังนี้ 1.นายนคร ตังคะพิภพ ผอ.โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จ.เพชรบุรี 2.นางศรีลักษณ์ ผลวัฒนะ ครู โรงเรียนเบญจมราชาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาวิทยาศาสตร์ (เคมี) 3.นางสาวพลพิมล ชาญชัยเชาวน์วิวัฒน์ ครู โรงเรียนบางมด สีสุกหวาดจวนอุปถัมภ์ สาขาวิทยาศาสตร์ (เคมี) 4.นายสมเดช ศรีแสง ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 1 5.นางสาวรัตนา สถิตานนท์ ครู โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย (สาขาภาษาไทย) และ 6.นางกิตติกร คัมภีรปรีชา ศึกษานิเทศก์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1 โดยปัจจุบันทั้งหมดได้เกษียณอายุราชการไปแล้ว

สำหรับกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าวิทยฐานะ ไม่ได้ได้กันง่ายๆ นั้น จากข้อมูลสำนักงาน ก.ค.ศ. พบว่า ปัจจุบันมีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีวิทยฐานะ ที่ยังประจำการอยู่โดยยังไม่เกษียณ มีดังนี้ วิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ(ชชพ.) ปัจจุบันไม่มี, เชี่ยวชาญ (ชช.) รับ 9,900+9,900 บาท จำนวน 545 คน ชำนาญพิเศษ(ชนพ.) รับ 5,600+5,600 บาท จำนวน 142,521 คน และชำนาญการ(ชน.) รับ 3,500 บาท จำนวน 147,911 คน ทั้งนี้จากครูและบุคลากรทางการศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ที่ยังประจำการอยู่ทั้งหมด 692,560 คน

แต่อย่างไรก็ตามดังที่กล่าว หลังเกษียณอายุราชการ เงินวิทยฐานะและเงินตอบแทนพิเศษดังกล่าว จะไม่ได้นำมารวมกับเงินเดือนเพื่อคิดเป็นเงินบำเหน็จบำนาญ แต่จะคิดจากเงินเดือนเพียงอย่างเดียวซึ่งส่วนใหญ่อายุราชการอยู่ที่ 30 ปีฉะนั้นเงินบำนาญจึงเหลือโดยเฉลี่ยอยู่คนละ 30,000-40,000 บาท/เดือน จากก่อนเกษียณรับอยู่ที่ 50,000 บาทซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ พยายามออกมาชี้แจงว่ากลุ่มคนที่ประกาศปฏิญญามหาสารคาม คือกลุ่มครูเกษียณอายุราชการ ส่วนครูประจำการ ยังคงมีวินัยในการจ่ายหนี้

 

 

ทั้งนี้ โครงการ ช.พ.ค.มีครูสมัครเป็นสมาชิกช.พ.ค. อยู่ 947,164 ราย ช.พ.ส.มีสมาชิกอีก 386,603 ราย ในจำนวนดังกล่าว มีข้าราชการครูที่เป็นลูกหนี้ธนาคารออมสินอยู่ประมาณ 4 แสนกว่าราย มูลหนี้รวมกว่า 4 แสนล้านบาท เฉลี่ยเป็นหนี้รายละ 1 ล้านบาท ใน 7 โครงการ มีผู้กู้โครงการ ช.พ.ค.1-7 จำนวน 484,435 บัญชี เป็นเงิน 418,937.94 ล้านบาท

โดยข้อมูลผู้กู้เงินโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.1-7 รวบรวมโดยธนาคารออมสิน และ สกสค. อัพเดตเมื่อวันที่ 30 เมษยน 2561 มีดังนี้ โครงการ ช.พ.ค.1 วงเงิน 2 แสนบาท จำนวน 10,519 บัญชี เป็นเงิน 2,030.89 ล้านบาท, โครงการ ช.พ.ค.2 -โครงการ ช.พ.ค.3 วงเงิน 2 แสนบาท จำนวน 23,404 บัญชี เป็นเงิน 2,623.49 ล้านบาท, โครงการ ช.พ.ค.4 วงเงิน 2 แสนบาท จำนวน 4,803 บัญชี เป็นเงิน 624.04 ล้านบาท, โครงการ ช.พ.ค.5 วงเงิน 6 แสนบาท จำนวน 45,573 บัญชี เป็นเงิน 20,113.65 ล้านบาท, โครงการ ช.พ.ค.6 วงเงิน 1.2 ล้านบาท จำนวน 175,780 บัญชี เป็นเงิน 146,943.87 ล้านบาท, และโครงการ ช.พ.ค.7 วงเงิน 3 ล้านบาท จำนวน 223,499 บัญชี เป็นเงิน 238,586.99 ล้านบาท รวม 483,578 บัญชี เป็นเงิน 410,923 ล้านบาท

 

สำหรับอัตราดอกเบี้ยของโครงการ ช.พ.ค. 1-7 มีดังนี้

โครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.2 และโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.3 อัตราดอกเบี้ย MLR หรือร้อยละ 6.50 ต่อปี

โครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.4 อัตราดอกเบี้ย MLR หรือร้อยละ 6.50 ต่อปี

โครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.5 อัตราดอกเบี้ย MLR หรือร้อยละ 6.50 ต่อปี

โครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.6 อัตราดอกเบี้ย MLR-0.5 หรือร้อยละ 6.00 ต่อปี

โครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.7 อัตราดอกเบี้ย MLR-0.85 หรือร้อยละ 5.65 ต่อปี

โครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.7 (ตั้งแต่ 1 เมษายน 2558) อัตราดอกเบี้ย MRR-0.85 หรือร้อยละ 6.15 ต่อปี

และโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ส.อัตราดอกเบี้ย MLR หรือร้อยละ 6.50 ต่อปี

(ส่วนโครงการเงินกู้ ช.พ.ค. 1 ทำกับธนาคารกรุงไทย)

อย่างไรก็ตามเมื่อ 7 พ.ค. 61 สกสค.ได้ทำบันทึกข้อตกลงหรือเอ็มโอยูใหม่กับธนาคารออมสินเพื่อผ่อนปรนเงื่อนไขชำระหนี้ โดยจากเดิม เงินค่าบริหารจัดการที่ธนาคารออมสินส่งคืนให้โครงการที่ 2-7 จำนวนร้อยละ 0.5 – 1 ผ่านกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการ ช.พ.ค.-ช.พ.ส. ซึ่งปีหนึ่งๆ คิดเป็น 2 พันกว่าล้านบาท/ปีนั้น ก็เปลี่ยนเป็นให้ธนาคารนำไปลดดอกเบี้ยให้แก่ครูที่มีวินัยการชำระหนี้ที่ดี แทน ทั้งนี้ หากใครยืนยันชำระหนี้เท่าเดิม ดอกเบี้ยที่ธนาคารคืนให้จะถูกนำไปลดเงินต้น ทำให้สามารถชำระหนี้หมดเร็วขึ้น ส่วนรายใดต้องการลดงวดเงินผ่อนจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง สามารถติดต่อมายังธนาคารออมสิน ขอปรับปรุงงวดผ่อนชำระตามอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงได้

เรียกว่าเป็นมาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ซึ่งมีผลใช้บังคับไปแล้วเมื่อเดือนมิ.ย. 61 ที่ผ่านมา โดยอัตราการปรับลดดอกเบี้ยใหม่ มีดังนี้

โครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.2 และโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.3 อัตราดอกเบี้ยเดิม MLR หรือร้อยละ 6.50 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยใหม่ MLR-0.5 หรือร้อยละ 6.00 ต่อปี เท่ากับดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 0.5 ต่อปี,

โครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.4 อัตราดอกเบี้ยเดิม MLR หรือร้อยละ 6.50 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยใหม่ MLR-0.75 หรือร้อยละ 5.75 ต่อปี เท่ากับดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 0.75 ต่อปี,

โครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.5 อัตราดอกเบี้ยเดิม MLR หรือร้อยละ 6.50 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยใหม่ MLR-1.00 หรือร้อยละ 5.50 ต่อปี เท่ากับดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 1.00 ต่อปี,

โครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.6 อัตราดอกเบี้ยเดิม MLR-0.5 หรือร้อยละ 6.00 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยใหม่ MLR-1.25 หรือร้อยละ 5.25 ต่อปี เท่ากับดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 0.75 ต่อปี,

โครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.7 อัตราดอกเบี้ยเดิม MLR-0.85 หรือร้อยละ 5.65 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยใหม่ MLR-1.35 หรือร้อยละ 5.15 ต่อปี เท่ากับดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 0.50 ต่อปี,

โครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.7 (ตั้งแต่ 1 เมษายน 2558) อัตราดอกเบี้ยเดิม MRR-0.85 หรือร้อยละ 6.15 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยใหม่ MRR-1.35 หรือร้อยละ 5.65 ต่อปี เท่ากับดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 0.50 ต่อปี,

โครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ส.อัตราดอกเบี้ยเดิม MLR หรือร้อยละ 6.50 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยใหม่ MLR-0.75 หรือร้อยละ 5.75 ต่อปี เท่ากับดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 0.75 ต่อปี

ส่วนโครงการ ช.พ.ค.1 ทำร่วมกับธนาคารกรุงไทย จึงไม่ได้รับการลดดอกเบี้ย

ทั้งนี้เป็นที่มาที่ทำให้ธนาคารออมสินร่อนหนังสือเร่งรัดชำระหนี้ เนื่องจากมองว่าธนาคารเองก็มีมาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขชำระหนี้แล้ว แต่ถ้ายังไม่เข้าโครงการอีกแล้วยังจะชักดาบ ก็จะให้ฝ่ายคดีเร่งรัดฟ้องร้องทันที

อย่างไรก็ตามกลุ่มครูที่ออกมาเคลื่อนไหว มองว่าเงื่อนไขโครงการเงินกู้ ช.พ.ค. ไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุว่าธนาคารออมสินจับมือกับบริษัทแห่งหนึ่ง บังคับให้ทำประกันชีวิต โดยบังคับให้เริ่มทำประกันชีวิตตลอดสัญญา ตั้งแต่โครงการเงินกู้ ช.พ.ค.ที่มีเงินกู้เกินกว่า 6 แสนบาทขึ้นไป ส่งผลให้โครงการเงินกู้ช.พ.ค. ตั้งแต่โครงการที่ 5 -7 (วงเงินกู้ 6 แสนบาท, 1.2 ล้านบาท และ 3 ล้านบาท) จะต้องทำประกันชีวิตตลอดสัญญา 9 ปีกล่าวคือโดนหักเงินกู้ทันทีที่เริ่มกู้ และเมื่อครบ 9 ปีแล้วยังผ่อนหนี้ไม่หมด ก็จะต้องมาทำสัญญาประกันชีวิตใหม่โดยคิดจากเงินต้นที่เหลืออยู่ ซึ่งการทำประกันชีวิตดังกล่าว กลุ่มครูมองว่าไม่เป็นธรรมและไม่มีความจำเป็นต้องทำประกันชีวิต และมองว่ามีใครได้รับผลประโยชน์หรือไม่จากการที่ครูทำประกันชีวิตดังกล่าว นอกจากนี้มองว่าดอกเบี้ยที่ลดให้ดังกล่าว ยังแพงไป

ขณะที่ธนาคารและบริษัทชี้แจงว่าเรื่องประกัน ไม่ได้บังคับ แต่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ที่ให้ทำประกันชีวิตก็เพื่อลดความเสี่ยงจากหนี้เสีย ด้วยเหตุว่ารายที่ทำประกันชีวิต จะใช้คนค้ำประกันน้อยกว่ารายที่ไม่ทำประกันชีวิต เช่น กรณีวงเงินกู้เกินกว่า 2,400,000 บาท แต่ไม่เกิน 3,000,000 บาท กรณีผู้กู้ ทำประกัน จะใช้ผู้ค้ำประกันแค่ 3 คน แต่ถ้าผู้กู้ไม่ทำประกัน จะใช้ผู้ค้ำประกัน 10 คน เป็นต้น ซึ่งเรื่องบุคคลค้ำประกันนั้น จะมีการกำหนดจำนวนผู้ค้ำประกันตามวงเงินกู้

ข่าวจาก : มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: