แก๊งครูโต้ชักดาบหนี้ ช.พ.ค. งดจ่ายไม่เรียกเบี้ยว แค่รอชำระถ้ามาเจรจา(มีคลิปสัมภาษณ์)





 

กรณีกลุ่มวิชาชีพครู รวมตัวกว่า 100 คน ประกาศปฏิญญามหาสารคาม เรียกร้องให้รัฐบาลและธนาคารออมสิน พักหนี้ โครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครู และบุคลากรทางการศึกษา หรือ ช.พ.ค. ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 61 เป็นต้นไปนั้น

 

 

วันที่ 16 ก.ค. 61 ทีมข่าวเดินไปเจอกับ นายธีร์สุริยนต์ สุวรรณวงศ์ เลขาธิการสมาคมช่วยเพื่อนครู เปิดเผยว่า เหตุผลที่ต้องการให้รัฐบาลพักหนี้ให้กับครูจำนวน 450,000 ราย เนื่องจากพบว่ามาตราฐานการชำระ การเรียกเก็บหนี้ รวมถึงดอกเบี้ยไม่คงที่ หรือมีการคิดดอกเบี้ยไม่เป็นไปตามกฏหมาย มีการทุจริตแอบแฝงธุรกิจประกัน ทำให้ระบบการกู้เงินของข้าราชการครูไม่มีมาตราฐานที่ชัดเจน จึงอยากให้รัฐบาลพูดคุยกับธนาคาร ทบทวนแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้จบ เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระต่อครูรายอื่นๆ

 


นายธีร์สุริยนต์ สุวรรณวงศ์ เลขาธิการสมาคมช่วยเพื่อนครู

 

อีกทั้ง อยากให้มีการทบทวนปรับมาตราฐานระบบการส่งเงินของสำนักงานคณะกรรมการและสวัสดิการ สวัสดิภาพ ข้าราชการครู และบุคลรากรทางการศึกษา หรือ สกสค. เพราะได้ทำการหักเงินทุกวันที่ 30 ของเดือน แต่นำส่งล่าช้า ทำให้ถูกเรียกเก็บเบี้ยปรับเพิ่ม ส่วนการหยุดจ่ายเงิน เพื่อชำระหนี้ชั่วคราว สมาคมฯ และสมาชิกได้ประสานผ่านตัวแทนเครือข่ายว่า จะหยุดชำระเงินชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 61 เป็นต้นไป และจะขอให้ทำการพักหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 61 เป็นต้นไป เพื่อให้รัฐบาลและธนาคาร ทบทวนแก้ไขปรับปรุงระบบโครงสร้างให้มีความชัดเจน

นอกจากนี้ สำหรับกรณีที่กระแสสังคมออกมาวิพากษ์วิจารณ์ กรณีการไม่ชำระหนี้ของครู ทำนองว่าเป็นการสร้างหนี้ แล้วมีเจตนาไม่ชำระนั้น นายธีร์สุริยนต์ ระบุว่า สังคมกำลังเข้าใจผิดว่า ครูจะเบี้ยวหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ดูเพียงคลิปสั้น ๆ ที่ประกาศออกมา โดยใจความทั้งหมดไม่ใช่เป็นการเบี้ยวหนี้ แต่ต้องการหยุดจ่าย เพื่อให้มีการเจรจาก่อน ซึ่งจะเริ่มชำระได้เมื่อใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการพักหนี้ และรัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าวเมื่อใด

นอกจากนี้ เงื่อนไขของการกู้เงินครั้งแรก คือให้มีการทำประกันชีวิตล่วงหน้า 9 ปี ตามอัตราจำนวนของการกู้เงิน จนกระทั่งล่าสุด เปลี่ยนกรมธรรม์จากประกันชีวิตมาเป็นประกันอุบัติเหตุ ซึ่งการทำประกันก็เพื่อเป็นเครื่องการันตีว่า หากวันหนึ่งลูกหนี้เสียชีวิต เงินประกันดังกล่าวจะสามารถเป็นหนี้ชำระแทนได้

ขณะที่ นายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความ ระบุว่า ส่วนตัวมองว่ากรณีดังกล่าว เป็นเรื่องที่แปลกในสังคมไทย คนที่เป็นครู เป็นบุคคลที่มีการศึกษาสูงมาก บางคนจบปริญญาตรี ปริญญาโท แต่มีแนวคิดผิดเงื่อนไขสัญญา ซึ่งสังคมก็กำลังมองว่าคนเหล่านี้ทำเพื่ออะไร เพราะพฤติกรรมแบบนี้ เรียกว่าหนีชำระหนี้ หรือ ชักดาบ คือ ผิดนัด ผิดศีลธรรม และผิดกฎหมายหรือไม่ และในฐานที่เป็นลูกศิษย์ ก็ยังไม่เคยเห็นใครสอนให้ทุจริตหรือคดโกง มีแต่สอนให้เด็กอดทน อดออม ประหยัด

ทั้งนี้ นอกจากผิดเรื่องศิลธรรมแล้ว ยังมีเงื่อนไขไม่ชำระหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้สามารถฟ้องดำเนินคดีได้ แต่ถ้าเป็นหนี้เกินกว่า 1,000,000 บาท ก็อาจถูกฟ้องล้มละลายได้ อีกทั้งผู้ที่ค้ำประกันหนี้ดังกล่าว ยังต้องมีปัญหาตามไปด้วย เพราะส่วนใหญ่เป็นการค้ำแบบวนเวียนกันไปมา คนหนึ่งกู้ คนหนึ่งค้ำประกันให้ และวันถูกฟ้อง ก็อาจถูกฟ้องร่วมกันได้

นายเกิดผล กล่าวต่อว่า แม้ว่าครูจะอ้างว่าเป็นการขอเว้นการจ่ายช้ำระเงินหนี้ชั่วคราว แต่ไม่สามารถอ้างได้ เพราะการชำระหนี้มีเงื่อนไขระบุไว้ชัดเจน เมื่อผิดสัญญาก็ถูกเก็บค่าปรับ หรือถ้าไม่จ่ายต่อเนื่อง ธนาคารก็สามารถฟ้องร้องได้ทันที และดอกเบี้ยก็ยังเดินต่อไป ไม่ได้หยุด แม้ว่าจะไม่จ่าย ดังนั้นการทำแบบนี้จะทำให้มีความผิด รวมถึงธนาคารก็จะได้รับความเสียหายอย่างมาก อีกทั้งหากรัฐบาลยังไม่ได้มีการประกาศพักชำระหนี้ให้ แต่เหล่าครูกระทำการโดยไม่จ่ายหนี้ ก็จะถือว่ามีความผิด ยกเว้นแต่หากมีมาตรการออกมาจากรัฐบาลว่ามีการพักชำระหนี้ให้ ครูก็สามารถไม่จ่ายเงินได้

ส่วนกรณีเรื่องการจ่ายเงินประกันล่วงหน้านั้น ทนายเกิดผล ระบุว่า ในวันที่ทำสัญญา ครูทุกคนรู้เงื่อนไขดี แต่ก็ยังยอมที่จะเซ็นสัญญาหรือกู้เงิน เพราะเงินสมทบส่วนดังกล่าวเป็นเงินสำรองกองทุนฌาปนกิจศพ ดังนั้น ก็มีเงื่อนไขระบุชัดเจนในสัญญา ให้ทำการสมัครหรือจ่ายตั้งแต่ก่อนกู้เงิน ซึ่งหากจะอ้างว่าไม่ถูกต้องทำเกินกว่าเหตุนั้น อ้างไม่ได้ ดังนั้น จึงอยากให้ทุกคนไม่เห็นแก่ตัว ในเมื่อก่อหนี้แล้วก็ควรชำระตามเงื่อนไข

ข่าวจาก : อัมรินทร์ทีวี

 

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: