เมื่ออาจารย์จากจุฬาฯ โพสต์ข้อความว่า “ผมควรไปเป็น อ.ราชภัฏ” จะดีกว่า !





ศ.ดร.สมภาร พรมทา อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวอย่างน่าสนใจ ระบุว่า 


อยากพูดเรื่องมหาวิทยาลัยราชภัฏสักหน่อยครับ และที่จะพูดต่อไปนี้ผมประสงค์จะพูดกับผู้บริหารการศึกษาที่ดูแลการศึกษาของชาติเป็นหลัก


หลายปีมานี้ผมมีโอกาสไปช่วยสอนในราชภัฏหลายแห่ง(ขอเรียกสั้นๆ นะครับ)ที่ไปสอนนี้ไปสอนพิเศษในหลักสูตรที่สูงกว่าปริญญาตรี การได้ไปรู้จักครูบาอาจารย์ตลอดจนนักศึกษาราชภัฏให้ภาพบางอย่างในใจของผมที่นับวันก็รุนแรงเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ


ภาพแรกคือความดิ้นรนของชาวราชภัฏที่จะพัฒนาตนให้ทัดเทียมมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่ราชภัฏ ความดิ้นรนของคนที่ถูกมองว่าอยู่ต่ำกว่าเขานี่ผมรักมาก

นี่คือเหตุผลที่ผมได้ปวารณาตัวแก่ราชภัฏเท่าที่ผมรู้จักว่าผมยินดีมาช่วยเต็มกำลังหากสุขภาพยังแข็งแรง เวลานี้มีนักศึกษาปริญญาเอกของราชภัฏหลายคนติดต่อเขียนจดหมายมาปรึกษาผมในการทำวิทยานิพนธ์อยู่ต่อเนื่องอันเป็นเรื่องที่ผมยินดีช่วยเหลือตามที่ปวารณา

ราชภัฏเกิดตามธรรมชาติเหมือนโรงเรียนวัดหรือโรงเรียนบ้านนอกที่เกิดตามธรรมชาติ สังคมนั้นจัดการแยกชั้นของผู้คนเองคนมีเงินก็มีโอกาสมากกว่า นักศึกษาราชภัฏนั้นคือเด็กที่ด้อยโอกาสเพราะเกิดนอกเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพ หรือหากเกิดในเมืองก็มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี แม้หัวพอไปได้ก็ย่อมสู้ลูกหลานคนมีเงินที่สติปัญญาพอๆ กันไม่ได้ 


ผมสอนจุฬา ผมไม่เคยภูมิใจว่าได้สอนมหาวิทยาลัยชั้นนำเลย ตรงข้าม กลับรู้สึกว่าตนผิด ผมควรไปสมัครเป็นอาจารย์ราชภัฏ แต่ผมก็ไม่ทำ


ที่พูดมานี้ผมต้องการให้ผู้บริหารการศึกษามองราชภัฏอย่างคนมีความรู้ทางสังคมวิทยาบ้าง ผมเห็นกรรมการที่ตั้งไปจากมหาวิทยาลัยอย่างจุฬาไปไล่บี้ราชภัฏเวลาตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาแล้วเศร้าใจ


เหมือนอาจารย์ที่จบจากเมืองนอกพูดฝรั่งคล่อง ไปตรวจเด็กประถมที่โรงเรียนบ้านโนนหินแห่ แล้วตกใจจะเป็นลมเมื่อลองให้เด็กพูดอังกฤษให้ฟัง เด็กมันจะพูดได้อย่างไรครับ และที่พูดไม่ได้ก็ไม่ใช่ความผิดของใครด้วย ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ เราควรเห็นใจ เข้าใจ พยายามคิดหาทางช่วย ไม่ใช่ไปไล่บี้เขา


แค่เห็นใจแล้วคิดช่วยอะไรก็คงพอไปได้ และดีวันดีคืน เพื่อให้เห็นตัวอย่างว่าผมไม่ใช่สักแต่พูด ผมขอเสนอให้ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ออกระเบียบต่อไปนี้

1. อาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐถือเป็นสมบัติชาติ ดังนั้นต้องย้ายที่ทำงานได้ เช่นย้ายผมจากจุฬาไปราชภัฏบุรีรัมย์ได้ แล้วย้ายอาจารย์จากบุรีรัมย์มาที่จุฬาได้เช่นกัน


2. การย้ายอาจมีผลต่อการพัฒนาวิชาการโดยรวมได้ ดังนั้น การย้ายควรทำหลังจากที่อาจารย์ได้รับการประเมินตำแหน่งทางวิชาการแล้ว เช่นเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่จุฬาแล้วอยู่จุฬาเกินสามปีไม่ได้ ต้องย้าย


3. ทำได้อย่างนี้จะเกิดความเสมอภาคทางการศึกษา พ่อแม่เด็กก็จะเลิกกลุ้มใจหาที่เรียนให้ลูก เรียนที่ไหนไม่ต่างกัน

ลองดูไหมครับ ไม่ต้องกลัวว่าการศึกษาชาติจะตกต่ำ ผมไปอยู่ราชภัฏแล้วสติปัญญาผมจะด้อยลงหรือ อยู่ไหนผมก็คิดและทำงานวิชาการได้

 

ขอบคุณที่มาจากเฟสบุ๊ค ศ.ดร.สมภาร พรมทา

 

รูปประกอบจาก http://www.crs.mahidol.ac.th/thai/puttapunya55.htm

 

[ads]

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: