ทำความรู้จัก ‘ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน’ ถ้ำที่ไม่ปลอดภัย เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน





 

การค้นหานักฟุตบอลทีมหมูป่า รวม 13 คน ที่เข้าไปติดอยู่ภายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ตั้งอยู่ในตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ช่วงบ่ายเมื่อวานนี้ ล่าสุดการค้นหาผ่านมาแล้วกว่า 24 ชั่วโมง ก็ยังไร้วี่แววของทั้ง 13 ชีวิต โดยนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดเชียงราย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนับร้อยนาย เข้าค้นหาผู้สูญหายอย่างต่อเนื่องท่ามกลางบรรดาผู้ปกครองและญาติของผู้สูญหายมารอด้วยความโศกเศร้า ที่ได้มาร่วมกันทำพิธีตามความเชื่อด้วยการไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ประจำถ้ำและตีกลองตามความเชื่อแต่โบราณรวมทั้งนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธี ขอเจ้าแม่นางนอนให้ปกปักรักษาทั้ง 13 คน ให้ปลอดภัยและให้ค้นหาทั้ง 13 คนพบโดยเร็ว ซึ่งการค้นหาของนักประดาน้ำตลอดทั้งวันที่ผ่านมาแม้ฝนจะไม่ตกแต่ปัญหาอุปสรรคในการค้นหาคือน้ำในถ้ำยังสูงและมีสีขุ่นมองไม่เห็นและด้วยความยาวของถ้ำกว่า 6 กิโลเมตร และมีหินงอกหินย้อยบางช่วงแคบมาก อากาศภายในถ้ำมีน้อยและปัญหาความมืดทำให้การค้นหาเป็นไปอย่างยากลำบาก

 

 

สำหรับวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ตั้งอยู่ใน เขตป่าสงวนแห่งชาติป่า ดอยนางนอน ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ความสูงจากระดับนำทะเลปานกลาง 453.00 เมตร หน่วยงานที่รับผิดชอบ ป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยนางนอนลักษณะเด่นของพื้นที่/ลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ คือเป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ ปากถ้ำเป็นห้องโถงกว้างมากภายในถ้ำจะพบกับความงามของ เกล็ดหินสะท้อนแสง หินงอก หินย้อย ธารน้ำและถ้ำลอด ถ้ำหลวงยังรอคอยความท้าทายการสำรวจจากนักท่องเที่ยวอยู่ตลอดเวลาเพราะสำรวจไปได้ไม่ถึงที่หมายก็ต้องล่าถอยออกมาด้วยพบกับอุปสรรคความยากลำบากภายในถ้ำและยังมีถ้ำเล็กๆอีก 3 แห่งในบริเวณเดียวกัน

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ สภาพธรณีวิทยานอกถ้ำ ประกอบไปด้วยชั้นหินปูน หมวดหินราชบุรี (Ratburi Group) ที่เกิดอยู่ในยุคคาร์บอนิเฟอรัส (Carboniferous) ต่อยุคเพอร์เมียน (Permian) ซึ่งมีช่วงอายุระหว่าง 345-230 ล้านปี หินที่พบมีทั้งหินปูน (Limesmtone) และหินอ่อน (Marble) สีเทาถึงเทาดำ มีซากบรรพชีวิน (Fossil) สลับด้วยหินดินดาน (Shale) สีเทา

ขณะที่ สภาพธรณีวิทยาภายในถ้ำ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูล ระบุว่า เป็นประเภทของถ้ำเขาหลวงเป็นถ้ำกึ่งแห้ง เนื่องจากบางส่วนยังมีการเกิดของหินงอก และหินย้อยอยู่ และบางส่วนแห้งแล้ว อยู่ในพื้นที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ตั้งอยู่ที่ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีลักษณะภูมิประเทศแบบหินปูน (Karst topography) มีลักษณะทางธรณีวิทยา ประกอบด้วยหินแข็งยุคคาร์บอนิเฟอรัส-เพอร์เมียน (Carboniferous-Permian: CP) หินที่พบในพื้นที่ประกอบด้วยหินปูนสีเทาอ่อน (Limestone) หินอ่อน (Marble) หินยุคนี้อยู่ในช่วงอายุประมาณ 270-320 ล้านปี ปากทางเข้าถ้ำสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 433 เมตร แนวโถงถ้ำมีโถงหลักเพียงโถงเดียว แต่เส้นทางคดเคี้ยว บางช่วงเดินเข้าถึงได้ง่าย บางช่วงมีเพดานต่ำ จนถึงเส้นทางเดินลำบาก ซึ่งการสำรวจ สำรวจจนสิ้นสุดห้องลับแล เนื่องจากทางที่จะไปโถงอื่น ๆ นั้นลำบากมาก แร่ทุติยภูมิที่พบเป็นแร่แคลไซต์ (calcite) ได้แก่ หินย้อย หินงอก เสาหิน ม่านเบคอน ผลึกแร่แปรงล้างขวด หลอดโซดา และตะกอนภายในถ้ำ ได้แก่ เศษหินถล่มจากหินน้ำไหล และหินปูน ตะกอนดินเหนียว หาดทราย พบหลักฐานที่แสดงถึงวิวัฒนาการของถ้ำจำนวนมาก เช่น รอยการไหลของน้ำเป็นริ้วคลื่นปัจจุบัน (Ripple Mark) ระดับพื้นถ้ำเก่า หินถล่มขนาดเล็ก และใหญ่จำนวนมาก รอยแตกแบบมีแรงดึง (Tension Crack) นอกจากนี้ยังพบรอยระดับน้ำ หลุมยุบ และโพรงบริเวณเพดานถ้ำ (Anastomosis) และการแตกออกของผนัง

สำหรับสถิตินักท่องเที่ยว ในช่วงฤดูฝนพื้นที่ถ้ำถูกปิด จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะมาที่ถ้ำหลวง จะมาในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึง เมษายน

โดยในส่วน สิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนอยู่ในท้องที่ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยนางนอน มีเนื้อที่ประมาณ 5,000 ไร่ กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2529 โดยหน่วยงานที่ดูแลหลักคือ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 เชียงราย

 

 

ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เคยให้ข้อมูลในเว็บไซต์ไว้ว่า ถ้ำหลวง จะปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมพื้นที่ถ้ำ ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นฤดูฝน เนื่องจากน้ำจะไหลเข้ามาท่วมภายในถ้ำซึ่งจะไม่ปลอดภัย และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ของวนอุทยานฯ พบว่า นักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวชมถ้ำส่วนมากจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ อาจเนื่องมาจากภายในถ้ำค่อนข้างเปียกชื้น และทางวนอุทยานฯ ไม่ได้มีการติดตั้งแสงไฟส่องสว่าง นักท่องเที่ยวต้องยืมหรือเช่าไฟฉายจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว รวมทั้งถ้ำหลวงอาจไม่ใช่ลักษณะถ้ำที่เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวไทย แต่อาจมีความเหมาะสมในเชิงการศึกษาวิจัย ดังนั้น ป้ายแสดงเส้นทาง หรือบอกรายละเอียดภายในถ้ำมีบ้างแต่ค่อนข้างชำรุด เนื่องจากถ้ำหลวงมีเพียงบริเวณโถงตรงปากถ้ำและโถงทางด้านขวามือเป็นถ้ำเกือบตาย คือ หินย้อยและหินงอกอาจไม่มีการเกิดแล้ว (หยุดการเติบโตแล้ว) แต่พื้นที่ถ้ำส่วนใหญ่ยัง active คือ มีการไหลผ่านของน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝนที่ต้องมีการปิดถ้ำ นอกจาก นี้ในช่วงฤดูแล้งภายในถ้ำยังมีความชื้นสูง จะเห็นได้จากหยดน้ำที่เกาะอยู่ตามผนังถ้ำ และตามหินย้อยต่าง ๆ ก็มีหยดน้ำเกาะอยู่มากมาย ดังนั้น หากมีการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมตามลำพัง และไม่มีข้อห้าม เส้นทางเดินที่ไม่ชัดเจน หรือไม่มีเครื่องกีดขวางบางส่วนในพื้นที่ถ้ำที่ค่อนข้างเป็นตำแหน่งที่เปราะบาง การเกิดของหินงอก-หินย้อยต่าง ๆ อาจได้รับผลกระทบ

ขอบคุณที่มา http://www.onep.go.th, มติชนออนไลน์ThaiPBS North

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: