‘ยูเอ็น’ลุกฮือ! ค้านไทยประหารชีวิต ซัดวิธีการไม่โปร่งใส-ไม่ได้แจ้งล่วงหน้า!





 

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR) แสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อการประหารชีวิตนายธีรศักดิ์ หลงจิ และคัดค้านการใช้โทษประหารชีวิตในทุกสถานการณ์ดังที่เน้นย้ำโดย เลขาธิการสหประชาชาติในหลายวาระ

จากกรณีที่เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. กรมราชทัณฑ์เผยแพร่แถลงการณ์ว่า นายธีรศักดิ์ อายุ 26 ปี ถูกประหารชีวิตด้วยวิธีการฉีดยาหรือสารพิษ เขาถูกตัดสินประหารชีวิตจากเหตุทำร้ายและใช้มีดแทงบุคคลอื่นจนถึงแก่ความตายในภาคใต้ของประเทศไทย จนกระทั่งขณะนี้ เหตุผลของการดำเนินการประหารชีวิตนายธีรศักดิ์ยังไม่ปรากฏแน่ชัด โดยพิจารณาว่ารัฐบาลไทยมิได้ดำเนินการประหารชีวิตในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา พัฒนาการที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงเนื่องจากประเทศไทยได้แสดงให้เห็นถึงแนวทางที่มีความก้าวหน้าสอดคล้องกับรัฐจำนวนมากที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว

น.ส.ซินเทีย เวลิโก้ ผู้แทนของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า การนำเอาโทษประหารชีวิตกลับมาใช้ใหม่ สวนทางกับคำมั่นสัญญาของประเทศไทยทั้งในระดับประเทศและนานาประเทศ ระหว่างการทบทวนสถานการณ์ภาพรวมด้านสิทธิมนุษยชนโดยสมาชิกสหประชาชาติ ตามกลไก Universal Periodic Review เมื่อปี 2559 ประเทศไทยได้ให้คำมั่นว่าจะดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต คำมั่นดังกล่าวได้รับการกล่าวย้ำอีกในแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติฉบับที่ 3 เราเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ดำเนินมาตรการต่างๆ โดยเร่งด่วนเพื่อคืนสู่ภาวะการงดเว้นการใช้โทษประหารชีวิตในกระบวนการนำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยสมบูรณ์

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมมนุษยชนฯยังมีความกังวลด้วยว่า การประหารชีวิตได้ดำเนินการขึ้นโดยปราศจากการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ความโปร่งใสเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประชาชนโดยทั่วไปที่จะได้รับทราบเพื่อการอภิปรายสาธารณะและความรับผิดตามระบอบประชาธิปไตย ยิ่งไปกว่านั้น ประชาคมโลกซึ่งกำลังขับเคลื่อนไปด้วยความก้าวหน้าสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตก็มีความสนใจที่จะติดตามการเคารพและปกป้องสิทธิการมีชีวิตอยู่ทุกหนทุกแห่งด้วย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้สรุปว่าการเข้าถึงข้อมูลของรัฐในเรื่องการใช้โทษประหารชีวิตถือเป็นผลประโยชน์อันชอบธรรมของสาธารณชน และส่งผลต่อการตระหนักว่าเป็นสิทธิทั่วไปที่จะเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวนั้น ภายใต้มาตรา19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมมนุษยชนฯยังคงกังวลใจจากการถอยหลังของการปฏิรูปโทษประหารชีวิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การประหารชีวิตที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้เป็นภาพสะท้อนอีกภาพหนึ่งของแนวโน้มข้อกังวลในเรื่องนี้

ข่าวจาก : ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: