เจ้าของห้องเช่าร้อง ‘บิ๊กตู่’ เลิกประกาศ สคบ.ห้ามเก็บบิลค่าน้ำค่าไฟเกินจริง ชี้ทำไม่ได้!





 

ผู้ประกอบการธุรกิจห้องเช่า ร้อง “บิ๊กตู่” ยกเลิก ประกาศ สคบ. ห้ามย้ายของผู้เช่าผิดสัญญา-เก็บบิลค่าน้ำค่าไฟเกินจริง บอกทำขาดทุน เสี่ยงโทษอาญา

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 28 พฤษภาคม ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจห้องเช่า นำโดย น.ส.รัชตา ตันติวิทยากุล พร้อมด้วย ดร.จิณณา สืบสายไทย และผู้ประกอบการห้องเช่ากว่า 60 คน เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กรณีได้รับความเดือดร้อนจากประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เรื่องให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัย เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2561 ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยไม่มีการขอความเห็นหรือความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ จึงอยากให้ยกเลิกประกาศดังกล่าว และให้การจัดทำขึ้นใหม่ต้องมีการถามความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ เพราะหลายเรื่องไม่มีความชัดเจน สร้างภาระให้กับผู้ประกอบการ เช่น

1. ประเด็นการห้ามผู้ประกอบการกำหนดอัตราค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปาเกินกว่าราคาที่การไฟฟ้า การประปาเรียกเก็บจากผู้ประกอบการ ซึ่งในทางปฏิบัติผู้ประกอบการจะไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะค่าบริการดังกล่าวมีค่าผันแปรในทุกรอบบิล ทั้งรอบบิลที่ผู้ประกอบการเรียกเก็บจากผู้เช่า รวมถึงรอบบิลที่การไฟฟ้า การประปาเรียกเก็บจากผู้ประกอบการก็ไม่ตรงกัน ดังนั้นประกาศดังกล่าวจึงมีผลทำให้ผู้ประกอบการทุกราย ต้องกระทำการฝ่าฝืนประกาศที่มีโทษทางอาญา เพราะไม่สามารถที่จะได้อัตราที่ถูกต้องตามประกาศของกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ

2. ประเด็นให้การคุ้มครองผู้เช่าจนเกินควร โดยให้สามารถยกเลิกสัญญาเช่าได้ก่อนครบกำหนด ซึ่งจะก่อภาระต่อผู้ประกอบการที่จะใช้สัญญา เพื่อการวางแผนงานการขายห้องเช่าหรือทำการส่งเสริมการขาย และเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลซ่อมบำรุงห้องพักให้พร้อมใช้งานทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนมือผู้เช่า

3. ด้วยประกาศดังกล่าวให้การคุ้มครองผู้เช่าที่กระทำผิดสัญญา ที่มีพฤติกรรมอันก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบสุขของผู้เช่าอื่น หรือกระทำการผิดกฎหมาย ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้ ก่อนการแจ้งยกเลิกล่วงหน้า 30 วัน

4. ประเด็นการคุ้มครองผู้เช่าที่ไม่ชำระค่าเช่า หรือกระทำผิดสัญญา ไม่มีไม่หนีไม่จ่าย ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถกลับเข้าครอบครองห้องเช่าเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยประกาศดังกล่าวผลักภาระให้ผู้ประกอบการต้องไปฟ้องร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลเอง โดยการดำเนินคดีฟ้องร้องเพื่อขอกลับเข้าครอบครองต้องใช้เวลานานนับปีมีค่าใช้จ่ายมากมาย ทั้งนี้ผู้ประกอบการหลายราย ต้องกู้ยืมเงินจากธนาคารในการลงทุน ต้องจ่ายดอกเบี้ยปันทรงในแต่ละเดือน อาจต้องปิดกิจการลงไปในที่สุด

ที่มา: มติชนออนไลน์ 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: