นศ.19 มหา’ลัยดัง ให้ คสช.สอบตกทุกด้าน ขอใครก็ได้เป็นนายกฯ ไม่ใช่ประยุทธ์!





 

โพลเผย น.ศ. 19 ม.ดัง ให้ คสช.สอบตกทุกด้าน-ขอใครก็ได้เป็นนายกฯ ไม่ใช่ประยุทธ์- ‘ธนาธร-ทักษิณ’ ยอดนิยม

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 20 พ.ค. ที่คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะเศรษฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ และวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนาม Social Science Forum ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และกลุ่มองค์กรทางสังคมต่างๆ ร่วมจัดกิจกรรมวิชาการ “D-Move ก้าวที่ดีเลือกทางที่เดิน”

มีการจัดแถลงข่าวและอภิปรายผล “การสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองของนักศึกษามหาวิทยาลัย” ของเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) จากกลุ่มตัวอย่าง 2,175 คน จาก 19 มหาวิทยาลัยคือ ม.ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ ม.เกษตรศาสตร์ ม.รามคำแห่ง ม.มหิดล ม.ศิลปากร ม.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ม.วลัยลักษณ์ ม.ทักษิณ ม.อุบลราชธานี ม.ขอนแก่น ม.สารคาม ม.นครพนม ม.บูรพา ม.เชียงใหม่ ม.นเรศวร และ ม.แม่ฟ้าหลวง

ผลการสำรวจความคิดเห็นแบ่งออกเป็น 3 หมวด ดังนี้ 1.รัฐประหารและ คสช. เริ่มจาก “การติดตามรายการคืนความสุข” พบว่า นักศึกษาร้อยละ 72.7 ไม่ติดตาม/ติดตามน้อย และร้อยละ 27.3 ติดตาม ส่วนคำถาม “คิดว่ากาารรัฐประหารแก้ไขปัญหาประเทศได้หรือไม่” พบว่า ร้อยละ 72.6 ตอบว่า ไม่ได้ และร้อยละ 27.4 เห็นว่า ได้ ถัดมา “ผลการทำงานของรัฐบาลในรอบ 4 ปี” ส่วนใหญ่ร้อยละ 70.6 เห็นว่า แย่/แย่มาก มีเพียงร้อยละ 29.4 เห็นว่า ดี/ดีเยี่ยม เมื่อเปรียบเทียบถึง “ทหารที่ยึดอำนาจสามารถบริหารประเทศได้ดีกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง?” ร้อยละ 86.2 บอกไม่เห็นด้วย โดยมีเพียงร้อยละ 13.8 เท่านั้น ที่เห็นด้วย

2.รัฐธรรมนูญ 2560 และแผนยุทธศาสตร์ชาติ เริ่มจากคำถามถึง “ความเชื่อมั่นรัฐธรรมนูญ 2560 สามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่” ซึ่งแบ่งเป็น 5 ด้านคือ ปราบโกง คุ้งครองสิทธิเสรีภาพ แก้การซื้อเสียง แก้คอร์รัปชั่น ปกป้องสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมสวัสดิการ พบว่า ส่วนใหญ่เกินครึ่ง นักศึกษาไม่เชื่อมั่นว่า รัฐธรรมนูญจะแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ ต่อข้อถามถึง “ความเชื่อมั่นแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะพาประเทศไทยไปสู่ความเจริญก้าวหน้าได้หรือไม่” พบว่า ร้อยละ 70.8 ไม่เชื่อมั่น มีเพียงร้อยละ 29.2 เท่านั้น ที่เชื่อมั่น

3.ความหวังและการเลือกตั้ง เริ่มจาก “ความหวังสำหรับอนาคตประชาธิปไตย” พบว่า หมดความหวังถึงร้อยละ 75.4 มีความเพียงร้อยละ 24.6 เมื่อถามถึง “เห็นด้วยหรือไม่ที่จะมีนายกฯคนนอก” ส่วนมากร้อยละ 75.2 บอกไม่เห็นด้วย มีเห็นด้วยเพียงร้อยละ 24.8 เมื่อถามถึง “ในอนาคตมีการเลือกตั้งจะไปหรือไม่” ร้อยละ 72.9 ระบุไป ร้อยละ 4.2 ระบุไม่ไป และร้อยละ 21.6 ระบุยังไม่ตัดสินใจ ส่วน “จะลงคะแนนเสียงให้พรรคใด” พบว่า จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 22.7 พรรคทางเลือกใหม่ๆ ร้อยละ 21.6 พรรคเพื่อไทยร้อยละ 20.3 พรรรคอนาคตใหม่ ร้อยละ 10 พรรคอื่นๆ ร้อยละ 8.6 พรรคทหาร ร้อยละ 2.5 และไม่เลือกพรรคใด ร้อยละ 14.4

สำหรับ “คนที่อยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี 10 อันดับแรก” พบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ร้อยละ 70.6 (ในส่วนนี้ร้อยละ 35 ระบุ ใครก็ได้ที่ไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์) ถัดมา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ร้อยละ 6.8 นายทักษิณ ชินวัตร ร้อยละ 5.7 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 4.1 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 1.9 นายอุดม แต้พานิช ร้อยะละ 1.6 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ร้อยละ 1.3 นายอาทิวราห์ คงมาลัย ร้อยละ 1.1 และนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ร้อยละ 0.9

ผศ.ดร.สามชาย ศรีสันต์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากผลสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 2,175 ตัวอย่าง คิดว่าเพียงพอในการสะท้อนความเห็น สิ่งที่รัฐบาลนี้ทำในระบบการศึกษา สะท้อนว่าเรากำลังปิดกั้นความคิดเชิงวิพากษ์ที่สำคัญมากต่อระบบการศึกษาในศตวรรษที่ 21 นักศึกษาเกินครึ่งสนใจการเมือง และสนใจการมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านโซเชียลมีเดีย แต่การมีส่วนร่วมทางการเมืองในมหาวิทยาลัยมีเพียง 30% สะท้อนว่าเราปิดกั้นระบบโครงสร้างในการแสดงออกในมหาวิทยาลัย จากที่มีการปิดกั้นต่างๆ มีทหารเข้าไปปิดกั้นการเสวนา ถ่ายรูปคนที่มาร่วมงาน เรากำลังถอยหลังสู่สิ่งที่เคยเป็นเก่าๆ

“จากการที่ผู้สูงอายุเข้ามาผูกขาดทางการเมือง เราเป็นสังคมผู้สูงอายุและสถานที่ที่รวมตัวผู้สูงอายุมากสุดตอนนี้คือ สนช. อายุเฉลี่ยคือ 64 ปี เกินครึ่งเป็นคนวัยเกษียณ ปฏิรูปร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดความเป็นไปประเทศ แต่นักศึกษาไม่ดูรายการคืนความสุข โพลบอกว่านักศึกษามองผลงานรัฐบาลแย่มาก ไม่เชื่อมั่นการปฏิรูป ไม่เชื่อมั่นแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

“เมื่อให้นักศึกษาประเมินว่ารัฐบาลผ่านมาตรฐานคุณวุฒิการศึกษาหรือไม่ พบว่าด้านคุณธรรม จริยธรรม นักศึกษาไม่เชื่อว่าปราบโกงได้ ข่าวที่นักศึกษาสนใจ 3 อันดับแรกคือข่าวคนอยากเลือกตั้ง เสือดำ และนาฬิกาหรู โดยโพลทำก่อนเรื่องบ้านป่าแหว่ง ส่วนทักษะทางปัญญาดูจากคนที่อยากให้เป็นนายกฯ มีคนอยากให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯแค่ 1.9% ด้านทักษะการสื่อสารและการวิเคราะห์จากที่เขาบอกว่าคนไทยไม่อยากเลือกตั้ง แต่โพลออกมาว่าคนอยากเลือกตั้ง 74.1% และคนเลือกพรรคทหารแค่ 2.5% แสดงว่ามีการสื่อสารและวิเคราะห์ที่ผิดพลาด ส่วนทักษะการสื่อสารระดับบุคคล แม้มีการสื่อสารจากรัฐบาลออกมาจำนวนมาก แต่โพลบอกว่าไม่เชื่อมั่นให้ทหารเข้ามาบริหารประเทศ สามารถบอกได้ว่านักศึกษาไม่เชื่อมั่นในรัฐบาล ไม่เอาพรรคทหารและพรรคที่ทหารสนับสนุน รวมถึงไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์” ผศ.ดร.สามชายกล่าว

นายธนพล พันธุ์งาม ตัวแทนนักศึกษา ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มีความคิดเห็นจากคนรอบตัวไม่ได้มองว่าพล.อ.ประยุทธ์หรือรัฐบาลทหารน่าเชื่อถือ บางคนมองในฐานะตลกคนหนึ่ง สัมพันธ์กับผลโพลที่ไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลทหาร แม้เขาพยายามจะสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ แต่ไม่ได้เข้าถึงหรือเข้าใจความต้องการและความเห็นของคนรุ่นใหม่อย่างจริงจัง และมีการแสดงท่าทีว่าไม่อยากให้นักศึกษามายุ่งเรื่องการเมือง การปิดกั้นทำให้พื้นที่แสดงออกของคนรุ่นใหม่ลดน้อยลง การให้ความเชื่อมั่นในรัฐบาลทหารจึงเป็นไปไม่ได้เลย

“ช่วงแรกที่ทำการรัฐประหารหลายคนคิดว่าจะเป็นความหวัง แต่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่เห็นอะไรมากขึ้น ในโซเชียลมีเดียจะเห็นว่าเวลามีการรณรงค์เรื่องซิงเกิลเกตเวย์หรือ พ.ร.บ.คอมพ์ คนจะร่วมลงชื่อเยอะมาก รวมถึงเรื่องแหวน พล.อ.ประวิตร รัฐบาลนี้ทำให้เราไม่เชื่อถือ เมื่อบอกว่ามาปราบโกงแต่ไม่ได้ทำจริง คนรุ่นใหม่ก็ไม่เชื่อมั่นและอยากได้สิทธิตัวเองคืนมาในการเลือกผู้นำของตัวเอง” นายธนพลกล่าว

ข่าวจาก : มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: