‘สรรพสามิต’ โอดรายได้วืด 6,000ล้าน เหตุคนไทยดื่มเหล้า-เบียร์น้อยลง!





 

"สรรพสามิต" เผยยอดเก็บภาษี 7 เดือนแรก รายได้จากการเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หายไปกว่า 6,000 ล้านบาท หลังคนไทยดื่มสุรา-เบียร์น้อยลง ผู้ประกอบการปรับสูตรผลิต ทำรัฐเก็บภาษีลดลง 

วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในรอบ 7 เดือน ปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560-เมษายน 2561) ทำได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,289 ล้านบาท โดยเก็บภาษีได้ 322,132 ล้านบาท เป็นผลมาจากการเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่พลาดเป้าถึง 6,300 ล้านบาท เพราะระยะหลังคนไทยคนไทยดื่มเบียร์ ดื่มสุราน้อยลง โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ที่ปกติจะจัดเก็บภาษีได้เป็นจำนวนมาก แต่ปีนี้มีมาตรการณรงค์งดเครื่องดื่มมึนเมา ควบคู่กับการจัดโซนนิ่งตามสถานที่เล่นน้ำและสถานีขนส่งต่าง ๆ จึงทำให้ยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการเก็บภาษีน้อยลงตามด้วย

ขณะเดียวกันยังได้รับผลกระทบจากโรงงานผลิตเบียร์ได้ปรับสูตรผลิตใหม่ โดยลดปริมาณแอลกอฮอล์และลดขนาดสินค้าให้เล็กลง เช่น เดิมมีปริมาณแอลกอฮอล์ผสม 5% ก็ลดลงเหลือ 3% รวมถึงได้ปรับขนาดเบียร์กระป๋องจาก 350 ซี.ซี. เหลือ 330 ซี.ซี. เพื่อชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้น จากการถูกเก็บภาษีเข้ากองทุนผู้สูงอายุ จึงทำให้การเก็บภาษีลดลงตามไปด้วย เพราะการเก็บภาษีจะวัดจากแอลกอฮอล์ที่ผสมอยู่ อย่างไรก็ตาม แม้การเก็บภาษีจะลดลง แต่ก็เป็นผลดีต่อสุขภาพคนไทย

ทั้งนี้ การเก็บภาษีสุราและเบียร์ ในเดือนเมษายน 2561 ทำได้ต่ำกว่าเป้าหมาย โดยเก็บภาษีเบียร์ได้ 8,998 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 173 ล้านบาท ส่วนภาษีสุราเก็บได้ 5,412 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 433 ล้านบาท ทำให้ภาพรวม 7 เดือน เก็บภาษีเบียร์ได้ 42,173 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 4,341 ล้านบาท และเก็บภาษีสุราได้ 34,486 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,000 ล้านบาท 

นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า ยังมั่นใจว่าการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในปีนี้ จะทำได้สูงกว่าปีที่แล้วแน่นอน โดยจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 4-5% แต่จะทำได้ตามเป้าหมาย 600,000 ล้านบาทหรือไม่นั้น ถือเป็นความท้าทายที่กรมฯ จะพยายามทำให้ดีที่สุด แต่ยอมรับว่าเป็นเป้าหมายที่ค่อนข้างสูง

ข่าวจาก : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: