ล้วงเล่ห์ขายครีมสุดอึ้ง! กวนครีมใส่สารอันตราย แค่จ่ายตังค์ 3 วันก็ได้เลข อย.!!(มีคลิป)





 

“บริษัทรับจดแจ้งเลข อย. การันตีเจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางได้เลขอย.แน่ 100%” แต่เอ๊ะ อย่างนี้ก็ได้เหรอ?

คำถามที่ตามมาคือ หากเจ้าของแบรนด์ใส่สารต้องห้าม หรือสารอันตรายลงไปในเนื้อครีม แต่เขาไม่ได้แจ้งเรื่องนี้เข้าไปในระบบระบบ e-Submission (การขอเลขทะเบียนผลิตภัณฑ์ออนไลน์) มันจะเกิดอะไรขึ้น!?

เจ้าของแบรนด์ลักไก่ไม่บอกว่าใส่สารต้องห้าม แต่ดันได้เลขจดแจ้งไปอวดลูกค้าสวยๆ 
ส่วนผู้บริโภคก็ซวยเพราะใช้สารต้องห้าม มันควรจะเป็นเช่นนั้นหรือ?

คุณรู้หรือไม่ว่า ตั้งแต่ปี 2551-ปัจจุบัน มีเครื่องสำอางมากถึง 7.4 แสนตำรับที่มีเลข อย. วางขายอยู่ในตลาด(มากสุดในอาเซียน) แต่ใน 7.4 แสนตำรับนี้ อาจมีครีมบางตัวที่ใส่สารอันตราย จนอาจทำลายหน้าตาคุณจนพังเละก็เป็นได้!

 

 

สารี อ๋องสมหวัง เลขานุการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้บอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า ที่ผ่านมา มีบริษัทรับจดแจ้งเลข อย. เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งจุดนี้ ถือว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ครีมแบรนด์ต่างๆ ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด โดยเฉพาะ ปี 2559-2560 ที่มีผู้จดแจ้งเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากกว่าปีก่อนๆ

ขณะเดียวกัน นางนฤภา วงศ์ปิยะรัตนกุล ผู้อำนวยการสำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย อย. ยังย้ำกับทีมข่าวอีกว่า ในแต่ละวันจะมีเครื่องสำอางผ่านการจดแจ้งได้เลขที่ อย. วันละ 300-400 ราย หรือราว 80% จากจำนวนคำขอในแต่ละวัน

โดย สารี เลขานุการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ให้ข้อมูลอีกว่า “เราไม่สามารถพิจารณาจากการขึ้นทะเบียน อย.ได้เลยว่า ครีมไหนดี เครื่องสำอางไหนปลอดภัย นอกเสียจาก อย. จะไปตรวจสุ่มตรวจตอนที่ครีมพวกนี้วางขายอยู่ในท้องตลาด หาก อย. เขาพบว่า มีสารต้องห้าม ตอนนั้นแหละถึงจะถูกระงับเลข อย. ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่า วางขายกันแบบผิดๆ กันมานานเท่าไหร่ต่อเท่าไหร่แล้ว”

สิ่งที่เลขานุการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กับผู้อำนวยการสำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย อย. ได้พูดไว้ด้านบน สะท้อนให้เห็นว่า….

เมื่อบริษัทที่ให้บริการขอเลขจดแจ้ง อย. มีอยู่เกลื่อนมึง จึงเท่ากับว่า การได้มาของเลข อย. นั้น ย่อมได้มาอย่างง่ายดาย หากใครคิดจะใส่สารต้องห้าม ใส่สารอันตราย ก็ย่อมทำได้ เช่นนั้นหรือ!?

ฉะนั้น หากใครสักคนกวนครีมขึ้นมา แล้วหาเลข อย. ด้วยการจ้างบริษัทที่ให้บริการขอเลขจดแจ้ง อย. เป็นผู้จัดการให้ 
จากนั้น ก็เอาครีมออกมาขายตามท้องตลาด โดยมีเลข อย.แปะโชว์ ทั้งๆ ที่ยังไม่ชัวร์ว่า ครีมตลับนั้นๆ จะอันตรายต่อผู้บริโภคหรือไม่?

คำถาม คือ การกระทำลักษณะนี้ มันควรเกิดขึ้นแล้วหรือ!?

ผู้สื่อข่าว จึงแสวงหาข้อเท็จจริง โดยการทำทีเป็นผู้ประกอบการ ที่ต้องการผลิตครีมออกมาเป็นแบรนด์ของตัวเอง ด้วยการติดต่อไปยังบริษัทที่ให้บริการขอเลขจดแจ้ง อย.(แห่งที่ 1) ซึ่งผู้สื่อข่าวเลือกติดต่อไปยัง บริษัทแห่งหนึ่ง ที่อยู่อันดับต้นๆ บนหน้าค้นหาของกูเกิล

หญิงสาวเสียงใสของบริษัทที่ให้บริการขอเลขจดแจ้ง อย. พูดคุยกับเราด้วยท่าทีอ่อนน้อมถ่อมตน โดยที่เธอแจกแจงรายละเอียดให้เราฟังถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ว่า การจะได้มาของเลข อย.นั้น จะต้องมีค่าใช้จ่ายหลักๆ อยู่ 3 ส่วน คือ 1.ค่าดำเนินการขอสถานที่ผลิตเครื่องสำอาง 1,500 บาท 2.ค่าดำเนินการขอจดแจ้งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 4,900 บาท และ 3.ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจดแจ้งจากทางหน่วยงานราชการ ฉบับละ 900 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,300 บาท (อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีก)

 

 

เมื่อผู้สื่อข่าว ถามว่า ถ้าขอเลข อย.กับบริษัทของพี่ จะได้เลข อย. แน่นอน 100% เลยใช่ไหมคะ?

“ได้แน่นอน 100% เลยค่ะ ไม่ต้องห่วง”

ผู้สื่อข่าวจึงถามต่ออีกว่า ถ้าครีมของเรามีสารต้องห้ามอยู่ตัวสองตัว และถ้าเราจดกับที่นี่ เราจะได้เลข อย.ไหมคะ?

“สารต้องห้ามมันก็ใส่ลงไปได้อะค่ะ แต่ถ้าอย.ลงมาสุ่มตรวจ มันก็อาจจะ…” พนักงานหญิงของบริษัทที่ให้บริการขอเลขจดแจ้ง อย. ตอบอึกอัก

ไม่ถึงอึดใจ พนักงานสาวก็อธิบายต่ออีกว่า “ถ้าผลิตภัณฑ์ของลูกค้ามีสารต้องห้าม ทางเราจะตรวจสอบให้ก่อน และเราจะเป็นผู้แจ้งกับทางลูกค้าเองว่า สารตัวนี้ไม่สามารถใส่ลงไปได้และเราจะรบกวนให้ลูกค้าตัดออก

 

 

 

ผู้สื่อข่าว จึงสอบถามว่า ตัดออกในที่นี้ คือ ตัดสารอันตรายลงไปในการผลิต หรือตัดชื่อสารอันตรายที่จะยื่นใน e-Submission ไปให้ อย.?

“ตัดสารอันตรายที่เราจะยื่นไปให้ อย.ดูค่ะ” พนักงานหญิงตอบเสียงใส

แต่ว่าเราก็ยังใส่สารต้องห้ามพวกนี้ลงไปในการผลิตได้ใช่มั้ยคะ? ผู้สื่อข่าวถามย้ำเธออีกที

“ก็ใส่ลงไปได้อะค่ะ” พนักงานของบริษัทที่ให้บริการขอเลขจดแจ้ง อย. ตอบในทันที

ผู้สื่อข่าว จึงถามอีกว่า ถ้าสถานที่ผลิตครีมเป็นบ้านของเราเอง อย่างนี้จะได้ไหมคะ?

“อ้อ ตรงนี้ อย.ไม่ได้ลงไปตรวจค่ะ ใช้ที่อยู่ของบ้านเป็นโรงงานในการผลิตได้เลยค่ะ” พนักงานสาวเสียงใส ตอบเราชนิดที่ว่านี่เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ไม่จำเป็นต้องทำให้ถูกต้อง

การสนทนาระหว่างผู้สื่อข่าว และพนักงานของบริษัทที่ให้บริการขอเลขจดแจ้ง อย. ย่อมแสดงให้เห็นถึง ช่องโหว่สำคัญของระบบ e-Summission นั่นก็คือ "การไม่กรอกข้อมูลเกี่ยวกับสารต้องห้ามลงในระบบ ทั้งๆ ที่คุณอาจจะมีสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์ของคุณ แต่เมื่อคุณลักไก่ที่จะไม่กรอกสารต้องห้ามลงไป ดังนั้น คุณจึงได้เลข อย.มาอย่างง่ายดาย!"

“เครื่องหมาย อย. ที่แสดงอยู่บนบรรจุภัณฑ์ไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นปลอดภัย!” อย่างที่ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกกับเราไว้ไม่ผิดเพี้ยน

 

 

เอาล่ะ…ผู้สื่อข่าว คงโชคร้ายไปเจอบริษัทที่ให้บริการขอเลขจดแจ้ง อย.ที่อาจจะมักง่ายไปบ้าง ลองมาพิสูจน์กันอีกครั้งกับบริษัทแห่งที่ 2 ที่เขาการันตีกับเราว่า “ไม่เคยมีประวัติผู้ประกอบการที่นำครีมมาขึ้นทะเบียน อย. กับบริษัทของเขาแล้วไม่ผ่าน!”

ผู้สื่อข่าว สอบถามไปที่บริษัทแห่งนี้ ในลักษณะเดียวกับบริษัทแรก โดยช่วงแรกของการพูดคุย เป็นการคุยเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคา(7,800 บาท), ระยะเวลาในการรอรับเลข อย. (แค่ 3 วันเท่านั้น) จนเราเข้าคำถามที่ว่า หากครีมของเรา มีสารบางตัวที่ อย.ห้ามใส่ลงไป เราจะได้เลข อย.ไหม?

พนักงานหญิงวัยกลางคน ลดเสียงพูดกับเรา เบาราวกับกระซิบว่า “นักวิชาการของเรารู้หมดว่า สารตัวนี้ใช้ได้หรือไม่ ใช้ไม่ได้แล้วทำอย่างไร เรามีวิธีการ เรามีคำแนะนำให้กับลูกค้าด้วยค่ะ

ผู้สื่อข่าว จึงหย่อนคำถามไปหาเธออีกว่า “อ๋อ คือเราไม่ต้องใส่ชื่อสารอันตรายลงไปในเอกสารที่เราจะส่งไปให้ อย.ใช่ไหมคะ?”

“ใช่ ใช่ และเราก็ต้องไม่แสดงชื่อสารพวกนี้บนสลากด้วยนะคะ คือบางที คนทำงานจะทำอะไรให้ถูกต้อง 100% มันก็ไม่มีหรอกนะ แต่ว่าเราจะทำอย่างไรไม่ให้โดนอย่างที่เขาโดนกันอยู่ทุกวันนี้ อย่างที่เมจิกสกินเขาโดนอะ”

ผู้สื่อข่าว จึงถามอีกว่า ถ้าสถานที่ผลิตของเราเป็นบ้าน จะได้เลข อย. ไหมคะ?

“ได้ค่ะ ไม่ได้มีปัญหาค่ะ คุณก็เอาเลข อย.ที่ได้จากบริษัทของเราไปติดบนตัวสินค้าของคุณ โดยที่คุณใช้ที่อยู่เป็นบ้านของคุณเองเลยค่ะ” พนักงานหญิงวัยกลางคนของบริษัทที่ให้บริการขอเลขจดแจ้ง อย.แห่งที่ 2 ตอบเราด้วยอารมณ์ของคนขาดความรับผิดชอบต่อสังคม

เรื่องราวด้านบนที่ท่านได้อ่านไปนั้น สะท้อนโลกสีเทาอันแสนบิดเบี้ยวได้อย่างแจ่มชัด บริษัทรับจ้างขอเลขจดแจ้ง อย. ไม่ได้สนใจไยดีสักนิดว่า เราจะใส่สารอันตรายใดๆ ลงไปในตัวผลิตภัณฑ์ แต่สิ่งเดียวที่เขาหวัง คือ เงินจำนวนหลักพันบาทจากเรา

 

 

ล่าสุด นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้ออกมาให้คำมั่นกับผู้สื่อข่าวว่า“การขึ้นทะเบียนเครื่องสำอางผ่านช่องทางออนไลน์ หรือที่เรียกว่า e-Submission จะมีการปรับปรุง โดยเพิ่มมาตรการให้เข้มงวดขึ้น ในส่วนของเครื่องสำอาง จากนี้ไปจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารอย่างละเอียดก่อนขึ้นทะเบียน และมีการโทรไปสอบถามโรงงานที่ผลิตด้วย

อยากซื้อครีมมาใช้ พลิกหน้าพลิกหลังหาเลข อย. ให้ชื่นใจ
แต่กลายเป็นว่า เลข อย.ที่เราไว้ใจ กลับใจร้ายกับเราที่สุด
ติดตามกันไปยาวๆ งานนี้ อย.จะอุดช่องโหว่นี้ได้อย่างไร…
ที่แน่ๆ พวกคุณ(ผู้บริโภค) อย่าเพิ่งลืมเรื่องนี้ แล้วหันไปสนใจดราม่าเรื่องใหม่ก็แล้วกัน!

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์​ รายงาน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: