เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค บุกกระทรวงพาณิชย์ ยื่นหนังสือให้ประกาศควบคุม ‘บริการสาธารณสุข’ ชี้ ‘ค่ารักษา-ค่ายา’แพงเกินไป!!





 

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่กระทรวงพาณิชย์ กลุ่มเครือข่ายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน นำโดยน.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์ผู้บริโภค น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ประธานอนุบริการด้านสุขภาพ ของคณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน พร้อมตัวแทนภาคประชาชน ประมาณกว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือต่อนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ผ่านนายวิชัย โภคชนกิจ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดออกประกาศให้บริการสาธารณสุข เป็นบริการควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 โดยให้ผู้ประกอบการสถานพยาบาล ดำเนินการส่งรายการราคาต้นทุนการรักษาค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลส่งให้กรมการค้าภายใน เพื่อกำหนดราคาควบคุม

นอกจากนี้ ยังขอให้กำหนดมาตราการระยะสั้นโดยประกาศราคาสูงสุดหรือราคากลาง ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการวิชาชีพ โดยให้นำราคากลางตามที่มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างสถาบันการแพทย์แห่งชาติ หรือ สพฉ. กองทุนหลักประกันสุขภาพ บัตรทอง สวัสดิการข้าราชการ และสมาคมโรงพยาบาลเอกชนมาใช้ก่อนจนกว่าจะมีการประกาศควบคุม ขอให้พัฒนาเรื่องระบบร้องเรียนและการแก้ไขปัญหาค่าบริการรักษาพยาบาล ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ ค่าบริการวิชาชีพ ที่มีราคาแพง เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และให้ทบทวนการควบคุมราคายาและบริการรักษาพยาบาล เช่น ยารักษาโรคซึ่งกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมตามประกาศคณะกรรมการราคากลางว่าด้วยสินค้าและบริการฉบับที่ 1 พ.ศ. 2521 เรื่องกำหนดสินค้าและบริการควบคุม หมวดยารักษาโรค เช่นเดียวกับการควบคุมราคาผ้าอนามัย

นายวิชัย กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจได้มีการหารือกับกระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งการควบคุมราคาการบริการด้านพยาบาล เป็นเรื่องของกระทรวงสาธารณสุขที่มีกฎหมายเฉพาะดูแลอยู่แล้ว แต่หากมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงฯก็จะพิจารณตามหน้าที่และกฎหมายที่กำหนด

ขณะที่น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า ขณะนี้คนไข้ที่ร้องเรียนมายังมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคหลายราย ถือเป็นอันดับ 2 ของร้องเรียนรองจากการโฆษณาอาหารและยา บางรายพบว่าเรียกค่ารักษาพยาบาลจากคนไข้หลายแสนบาท ซึ่งเป็นกำหนดราคาตามใจชอบ

นอกจากนี้ ยังพบว่า ยาราคาบางตัวขายเกินจากราคาหน้ากล่องถึง 400 เท่า โดยไม่มีใครเข้าไปตรวจสอบ รวมทั้งการเข้าโรงพยาบาลในกรณีฉุกเฉินที่สามารถเข้าโรงพยาบาลได้ทุกแห่งโดยไม่ต้องเสียใช้จ่าย แต่ความเป็นพบว่ามีการเก็บค่ารักษาพยาบาลจากคนไข้ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน ดังนั้นทางเครือข่ายเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจำเป็น สำหรับทุกคนที่ควรได้รับการบริการด้านการแพทย์ ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์ต้องออกประกาศให้”บริการสาธารณสุข” เป็นบริการที่ควบคุมกับสินค้าอื่นๆ หากภายใน 15 วันยังไม่มีการดำเนินการใด ทางเครือข่ายจะยื่นหนังสือต่อศาลปกครองต่อไป

ข่าวจาก : ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: