อัยการฯ ชี้ข้อกฎหมาย เปิดช่องเลิกสัญญาสร้างบ้านพักตุลาการ รื้อถอนก็ทำได้!





 

จากกรณีข้อพิพาทระหว่างประชาชนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เรื่องการก่อสร้างบ้านพักตุลาการ ในพื้นที่เชิงดอยสุเทพนั้น และกลายเป็นกระแสสังคมส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยการในการก่อสร้างโครงการดังกล่าว และขอให้มีการรื้อถอน ระงับโครงการนั้น

เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ได้โพสต์เฟซบุ๊กอธิบายข้อกฎหมาย เกี่ยวกับสัญญาก่อสร้างโครงการที่ทำการเเละบ้านพักตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่จังหวัดเชียงใหม่มีข้อความ ว่า กรณีบ้านพักตุลาการของศาลอุทธรณ์ภาค 5 บริเวณเชิงดอยสุเทพ มีประเด็นข้อกฎหมายที่น่านำมาพิจารณา ผมจึงขอให้ความเห็นทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวในประเด็นข้อกฎหมายที่น่าสนใจ ดังนี้

1. ประเด็นแรก ภายหลังจากที่ผู้มีอำนาจหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า จะไม่มีการเข้าใช้ประโยชน์ในบ้านพักตุลาการบนพื้นที่พิพาทอีกต่อไป การก่อสร้างบ้านพักตุลาการที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ยังมีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญาจ้างก่อสร้าง และมีข้อกฎหมายและข้อสัญญาที่เป็นทางออกของเรื่องนี้หรือไม่ อย่างไร

ในกรณีนี้ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 137 วรรคสอง ประกอบกับพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 128 กำหนดให้ส่วนราชการสามารถตกลงกับคู่สัญญาเพื่อเลิกสัญญาได้ หากเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ทางราชการ หรือเพื่อแก้ไขข้อเสียเปรียบของทางราชการในการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นต่อไป ตามระเบียบนี้ไม่ใช่ทางราชการไปบอกเลิกสัญญา แต่เป็นการให้สิทธิคู่สัญญาที่เป็นหน่วยราชการที่จะไปตกลงกับคู่สัญญาที่เป็นเอกชนเพื่อเลิกสัญญา หากเห็นว่าการปฏิบัติตามสัญญาต่อไปจะไม่เป็นประโยชน์แก่ทางราชการ หรือจะทำให้ราชการเสียเปรียบหรือเสียหายได้ ซึ่งเป็นการตกลงเลิกสัญญากันโดยสมัครใจของทั้งฝ่ายราชการและเอกชน

หากผู้มีอำนาจหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นว่า น่าจะพิจารณาหาหนทางอื่นนอกเหนือจากการก่อสร้างบ้านพักต่อไปให้แล้วเสร็จตามสัญญาทั้งที่รู้แน่ชัดว่าจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากบ้านพัก การมาพิจารณาดูแนวทางการใช้ความตกลงโดยสมัครใจของคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายดังกล่าวเพื่อเลิกสัญญา โดยอาศัยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ฯ ข้อ 137 วรรคสอง ประกอบกับพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง ฯ มาตรา 128 โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมที่เอกชนคู่สัญญาพึงมีสิทธิได้รับ และชดเชยความเสียหายให้แก่เอกชนอย่างเหมาะสม ก็น่าจะช่วยลดงบประมาณที่ราชการจะต้องใช้จ่ายไปในการก่อสร้างบ้านพักลงได้ เพราะมีการยุติการก่อสร้างลงก่อนทำให้ไม่ต้องมีการใช้จ่ายงบประมาณราชการไปจนการก่อสร้างบ้านพักแล้วเสร็จ

ส่วนหากเจรจากับเอกชนแล้วเอกชนไม่ตกลงด้วยที่จะเลิกสัญญา ก็มีทางออกต่อไปตามข้อสัญญา คือ ตามสัญญาจ้างก่อสร้างที่เป็นแบบมาตรฐานที่หน่วยงานราชการใช้ทำสัญญากับเอกชน จะมีข้อสัญญาที่ให้สิทธิคู่สัญญาที่เป็นหน่วยงานราชการปรับลดเนื้องานก่อสร้างตามสัญญาได้ โดยอ้างเหตุผลความจำเป็นของทางราชการ และหากคู่สัญญาที่เป็นเอกชนไม่ยินยอมด้วยอีก ก็มาสู่หนทางที่สาม คือ การบอกเลิกสัญญา โดยหน่วยงานราชการนั้นคงต้องพิจารณาชั่งน้ำหนักระหว่างการบอกเลิกสัญญากับการให้สัญญาจ้างก่อสร้างดำเนินไปจนแล้วเสร็จตามสัญญาว่าอย่างใดราชการจะได้รับประโยชน์มากกว่ากัน และอย่างไหนราชการจะเสียหายน้อยที่สุด

2. ประเด็นที่สอง บ้านพักตุลาการของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ก่อสร้างอยู่บนพื้นที่ที่มีปัญหาพิพาท จะสามารถรื้อถอนได้หรือไม่ ในประเด็นนี้มีกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องที่ควรพิจารณา ดังนี้

2.1 ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 215 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการกับพัสดุที่หมดความจำเป็นได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ เช่น ขาย แลกเปลี่ยน โอนให้แก่หน่วยงานของรัฐ หรือองค์การสาธารณกุศล แปรสภาพหรือทำลาย ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่หน่วยงานรัฐกำหนด

หากมีความชัดเจนว่าจะไม่มีการเข้าใช้ประโยชน์ในบ้านพักตุลาการอย่างแน่นอน บ้านพักตุลาการนี้ก็อาจจะถือว่าอยู่ในความหมายของพัสดุที่หมดความจำเป็นได้ และสามารถดำเนินการกับบ้านพักตามระเบียบกระทรวงการคลัง ฯ ข้อ 215 ดังกล่าว ด้วยการขาย แลกเปลี่ยน โอน แปรสภาพหรือทำลายได้

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีปัญหาในการตีความคำว่า พัสดุหมดความจำเป็น โดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องในเรื่องนี้มีความเห็นว่า พัสดุหมดความจำเป็นจะต้องเป็นพัสดุที่ผ่านการใช้งานมาแล้วเท่านั้น ไม่รวมถึงพัสดุใหม่ที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน ดังนั้น ระเบียบกระทรวงการคลัง ฯ ข้อ 215 นี้อาจไม่สามารถนำมาใช้บังคับกับกรณีของบ้านพักตุลาการที่เป็นบ้านเพิ่งสร้างใหม่ได้ แม้จะหมดความจำเป็นในการใช้งานแล้วก็ตาม ซึ่งเพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องนี้ว่า สามารถนำเอาระเบียบกระทรวงการคลัง ฯ ข้อ 215 มาใช้บังคับกับการรื้อถอนบ้านพักตุลาการได้หรือไม่ ควรที่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจะหารือเรื่องนี้ไปยังคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐต่อไป

2.2 หากปรากฏว่า ระเบียบกระทรวงการคลัง ฯ ข้อ 215 ดังกล่าวข้างต้น ไม่สามารถนำมาใช้กับการรื้อถอนบ้านพักตุลาการได้ ก็ยังมีแนวทางในการดำเนินการเพื่อรื้อถอนบ้านพักต่อไปได้ตามระเบียบและกฎหมาย ด้วยการขอยกเว้นไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง ฯ ข้อ 215 เพื่อที่จะทำการรื้อถอนบ้านพัก โดยขอยกเว้นต่อคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ซึ่งมีอำนาจตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง ฯ มาตรา 29 (4) ในการอนุมัติยกเว้นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง ฯ ได้

ข่าวจาก : ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: