9 พ.ค.นี้เตรียมตัว! คนไทยเตรียมดูปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาบนดาวพฤหัส” โคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุด!!!





วันที่ 7 พ.ค. นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิตย์ ปราชญ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านดาราศาสตร์ไทยและที่ปรึกษาหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.ฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า ดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ในช่วงเช้าประมาณ 07:10 น.ของวันที่ 9 พฤษภาคม  ที่ระยะทางประมาณ 658 ล้านกิโลเมตร หรือ 4.40 หน่วยดาราศาสตร์ ซึ่งในวันดังกล่าว ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏบนท้องฟ้ายาวนานตลอดคืน ส่องสว่างสุกใส ตั้งแต่ช่วงดวงอาทิตย์ตกดินจนถึงรุ่งเช้า สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน บนท้องฟ้า ฝั่งทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งดาวพฤหัสจะมีค่าความสว่างปรากฏประมาณ -2.5 (ความสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงประมาณ -12.6) และหลังจากนี้เรายังสามารถชื่นชมความสวยงามของดาวพฤหัสบดีได้จนถึงเดือนกันยายน

นายวรวิทย์ กล่าวต่อว่า ดาวพฤหัสบดี จะมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Jupiter Opposition) หมายถึง ตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ โลก และดาวพฤหัสบดี เรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลาง จึงเป็นตำแหน่งที่ใกล้โลกที่สุด นอกจากนี้การที่ดาวพฤหัสบดีอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ หมายถึงเมื่อดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ดาวพฤหัสบดีก็จะโผล่พ้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออก และจะปรากฏบนท้องฟ้าให้เรายลโฉมเป็นเวลายาวนานตลอดทั้งคืน จนถึงดวงอาทิตย์ขึ้นในเช้าวันถัดไป ส่วนในวันที่ 9 พ.ค. ดาวพฤหัสบดีจะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวคันชั่ง (Libra) ตั้งแต่เวลาประมาณ 19:00 น. (ตามเวลาประเทศไทย)นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า เราสามารถสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย และจะตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เวลาประมาณ 06.00 น. ในเช้าวันที่ 10 พ.ค. สำหรับการชมปรากฏการณ์ ที่จะเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่เวลา 20 นาฬิกาเป็นต้นไป แต่ถ้าจะให้ดีก็เกือบใกล้ๆเที่ยงคืน สำหรับในวันที่ 9 พ.ค.เป็นวันที่เราสามารถเห็น เข็มขัดเมฆ เห็นเมฆที่ปรากฏอยู่บนดาวพฤหัสบดีอย่างชัดเจนถ้าชมผ่านกล้องดาว และข้อสำคัญเราจะเห็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่าสุริยุปราคา บนดาวพฤหัสบดีได้ด้วยเวลานั้น ซึ่งอยากให้ประชาชนทุกท่านนักเรียนนักศึกษาได้พบประสบการณ์ดีๆ ขอให้มาสังเกตการณ์ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.ฉะเชิงเทรา นายวรวิทย์ กล่าวต่ออีกว่า  ดาวพฤหัสบดี เป็นดาว ที่กาลิเลโอ ใช้กล้องส่องจนพบ พร้อมดาวบริวารอีก 4 ดวง ซึ่งเราจะเห็นดาวบริวารทั้ง 4 ดวง ของดาวพฤหัสบดีนั้นเคลื่อนไหว เคลื่อนที่ได้ ในระยะเวลาไม่นานซึ่งน่าสนใจมาก เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของดาวบริวารขนาดยักษ์ทั้ง 4 ที่เห็นชัดเจน และสามารถสังเกตได้ด้วยกล้องดูดาว ประกอบไปด้วยไอโอ (Io) ยูโรปา (Europa) แกนิมีด (Ganymead) และคัลลิสโต (Callisto) ซึ่งเป็นดาวบริวารของดาวพฤหัสบดีที่ใหญ่และสังเกตได้ด้วยกล้องขนาดเล็กดังนั้นวันที่ใกล้โลกที่สุดเราจึงสามารถสังเกตดาวขนาดนี้ได้ดีที่สุดด้วย จึงอยากขอเชิญชวนทุกท่านให้มาชม แล้วจะได้เห็นจุดแดงใหญ่ ที่เรียกว่าตาพายุของดาวพฤหัสบดี ในวันนั้น ด้วยกล้องดูดาวขนาดใหญ่ของหอดูดาวฉะเชิงเทรา เริ่มเข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ใกล้เที่ยงคืน เราถึงจะปิดบริการ” นายวรวิทย์ กล่าวต่อด้วยว่า สำหรับการรับชมปรากฏการณ์ดาวพฤหัสเข้าใกล้โลกนั้น ทางหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.ฉะเชิงเทรา ได้เตรียมตั้งกล้องดูดาวรวม 7 ตัว หลายขนาด สำหรับประชาชน ที่จะเข้ารับชม และหากสังเกตด้วยกล้องสองตา หรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก จะเห็นดวงจันทร์บริวารหลักทั้ง 4 ดวงของดาวพฤหัสบดี หรือที่เรียกว่า ดวงจันทร์ของกาลิเลียน (Galilean Moons) ได้แก่ ไอโอ (Io) ยูโรปา (Europa) แกนิมีด (Ganymead) และคัลลิสโต (Callisto) รวมถึงแถบเมฆบนดาวพฤหัสบดีได้อีกด้วย หากใช้กล้องโทรทรรศน์ที่มีหน้ากล้องตั้งแต่ 8 นิ้ว กำลังขยายตั้งแต่ 50 เท่าขึ้นไป จะมองเห็นจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดี (Great Red Spot) ได้อย่างชัดเจน ซึ่งคืนวันที่ 9 พ.ค. จะสังเกตเห็นจุดแดงใหญ่ได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 19:00 – 20:00 น. และจะปรากฏอีกครั้งในเวลาประมาณ 02:00 – 06:00 น. ของวันที่ 10 พฤษภาคม “นอกจากการสังเกตการณ์ดาวพฤหัสบดีที่ใกล้โลกที่สุดในรอบปีแล้ว วันดังกล่าวยังมีปรากฏการณ์สุริยุปราคาบนดาวพฤหัสบดีให้ได้ติดตามกันด้วย โดยดวงจันทร์ยูโรปาจะโคจรผ่านหน้าดาวพฤหัสบดี เกิดเป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาบนดาวพฤหัสบดี ในช่วงเวลาประมาณ 18:20-20:36 น. นับเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าติดตาม และระหว่างรอชมปรากฏการณ์ มีห้องนิทรรศการดาราศาสตร์ซึ่งท่านสามารถสังเกต -เข้าใจการเกิด เมฆบนดาว พฤหัสบดี และพร้อมกันยังมีท้องฟ้าจำลองเปิดให้ประชาชนทุกท่านได้เข้าชมในภาพยนตร์เรื่องระบบสุริยะ” นายวรวิทย์ กล่าว

ขอบคุณที่มา : Khaosod

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: