ค่าปรับจราจร จ่ายแล้วไปไหน? เรื่องนี้มีคำตอบ!!





 

เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่กำลังถูกพูดถึงในสังคมออนไลน์ เมื่อ “มาร์ค พิตบูล” ได้โพสต์ข้อความลงบนเพจเฟซบุ๊ก เชิญชวนให้ประชาชนร่วมลงชื่อรณรงค์ใน change.org ในหัวข้อ “ยกเลิกการแบ่งเปอร์เซ็นต์ค่าปรับจราจรให้ตำรวจ” และให้ค่าปรับจราจรทั้งหมดนำไปใช้เพื่อพัฒนาการคมนาคมและความปลอดภัยบนท้องถนน และแยกงานจราจรออกจากงานของตำรวจอย่างชัดเจน

เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา นายณัชพล สุพัฒนะ หรือ “มาร์ค พิตบูล” ได้โพสต์ข้อความลงบนเพจเฟซบุ๊ก Pitbullzone ระบุว่า ได้เสนอแคมเปญรญรงค์ผ่านทาง change.org ในหัวข้อ “ยกเลิกการแบ่งเปอร์เซ็นต์ค่าปรับจราจรให้ตำรวจ” เพื่อให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุน

 

 

โดยนายณัชพล มองว่า ตำรวจควรเอาเวลาไปรักษาความสงบสุขของบ้านเมือง จับโจร จับผู้ร้าย มากกว่าการมานั่งจับผิด หรือ ตั้งด่านจับปรับคนทำผิดกฎจราจร และได้ยกตัวอย่าง กรณีที่มีผู้แจ้งจับขโมย และเห็นว่าตำรวจไม่ได้กระตือรือร้นตามจับคนร้าย แต่กลับพยายามที่จับปรับคนใช้รถใช้ถนน ซึ่งจริงๆแล้ว หน้าที่ของตำรวจ คือ ปราบปรามผู้ร้าย และทำให้เกิดสันติสุขแก่ประชาชน พร้อมทั้งเห็นว่า “งานจราจร” ต้องแยกออกจาก “งานของตำรวจ” โดยยกตัวอย่าง เช่นบางรัฐที่สหรัฐอเมริกา จะมีระบบการจัดการเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายจราจรดีมาก เจ้าหน้าที่จราจรไม่ได้เป็นตำรวจ และจะมีชื่อเรียกเป็น traffic agent, traffic officer โดยเจ้าหน้าที่จราจรจะสังกัดกับนายกเทศมนตรีเมืองนั้นๆ  มีอำนาจจับกุมผู้ที่กระทำผิดกฎหมายจราจรทุกอย่าง แต่ไม่ได้เป็นตำรวจ

นอกจากนี้ยังระบุว่า การที่ตำรวจจราจรได้รับส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์ค่าปรับจราจรนั้นทำให้ตำรวจเน้นแต่เพิ่มยอดใบสั่งและค่าปรับเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้เน้นเรื่องความปลอดภัย หรือ ระเบียบจราจรของผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นหลัก รวมถึงทำให้ประชาชนมองว่าตำรวจพยายามข่มขู่  เพราะการจับปรับหลายกรณีเกิดจากการใช้ดุลพินิจของตำรวจเป็นหลักทำให้การปฏิบัติหน้าที่เพื่อจับกุมไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ขณะที่ พลตำรวจตรี จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า กรณีที่นายณัชพล สุพัฒนะ หรือ “มาร์ค พิตบูล” ออกมารณรงค์และเรียกร้องให้มีการยกเลิกส่วนแบ่งค่าปรับให้ตำรวจ ทางตำรวจก็ยินดีที่จะรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่อยากชี้แจงว่า ในส่วนของเงินค่าปรับ ยกตัวอย่างเช่น เงินค่าปรับ 100 บาท จะถูกแบ่งออกเป็นสัดส่วน ดังนี้  50 เปอร์เซ็นต์แรก หรือ จำนวนเงิน 50 บาท จะส่งให้กรุงเทพมหานคร หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนอีก 50 เปอร์เซ็นต์ คือ 50 บาทที่เหลือ จะถูกแบ่งให้กับคลัง 5 บาท, ตำรวจที่ออกใบสั่ง 25 บาท, สนับสนุนงานด้านจราจร 20 บาท ซึ่งการแบ่งส่วนเงินค่าปรับจราจรเป็นไปตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522

 

 

ทั้งนี้ ในส่วนของข้อสงสัยที่ว่าทำไมต้องให้เงินส่วนแบ่งค่าปรับจราจรกับตำรวจ เนื่องจากว่าตำรวจจราจรที่ทำหน้าที่โบกรถ และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน รวมทั้งบังคับใช้กฎหมาย ต้องเผชิญกับภาวะเสี่ยงด้านสุขภาพเป็นประจำทุกวัน ทั้งดวงตาที่เสี่ยงต่อต้อชนิดต่างๆ, หู ที่ต้องอยู่กับเสียงที่ดังบนท้องถนนตลอดเวลา และโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ จากการสูดดมควันพิษ และฝุ่นละอองในทุกๆวัน เงินส่วนแบ่งนี้จึงเป็นการทดแทนค่าเสี่ยงภัยให้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจำกัดในแต่ละเดือนสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท เฉลี่ยต่อคน ต่อหนึ่งเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 4,000 บาท แต่ถ้าหากใครที่มีส่วนแบ่งค่าปรับเกิน 10,000 บาท เงินส่วนเกินจะถูกส่งเข้าคลัง เพื่อไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ

สำหรับกรณีที่อยากให้มีการแยกเจ้าหน้าที่จราจรออกมาจากตำรวจ เพื่อให้ตำรวจได้ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ติดตามจับกุมคนร้ายอย่างเต็มที่ ตามข้อเสนอ ต้องอธิบายว่า ในปัจจุบันการทำงานของตำรวจก็ได้มีการแบ่งหน้าที่การทำงานอย่างชัดเจนแล้ว ว่าตำรวจส่วนใดเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านไหน อย่างตำรวจจราจรก็ทำหน้าที่ 2 ส่วน คือ อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนบนท้องถนน และการบังคับใช้กฎหมายแก่ผู้ที่ทำผิดกฎจราจร พร้อมสอดส่องการกระทำผิดต่างๆ ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์ หรือ มาเลเซียจะไม่มีเงินส่วนแบ่งค่าปรับจราจรอย่างประเทศไทย แต่ก็ต้องยอมรับในข้อแตกต่าง คือ เรื่องของเงินเดือน และสวัสดิการที่ได้รับ ซึ่งหากจะเสนอให้ตำรวจมีฐานเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น แลกยกเลิกการรับส่วนแบ่งค่าปรับจราจร คงเป็นไปได้ยาก เพราะการปรับขึ้นเงินเดือนให้ตำรวจเพียงหน่วยงานเดียว อาจส่งผลกระทบกับอาชีพข้าราชการส่วนอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องของนโยบายของรัฐบาลที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปพิจารณา

ข่าวจาก : PPTVHD36

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: