ซึมเศร้าหรือไบโพลาร์? มาสังเกตอาการป่วยของ 2 โรคนี้กันเถอะ





   ปัจจุบันเราคงได้ยินหรืออ่านข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายกันอยู่บ่อยๆ ซึ่งสาเหตุของการฆ่าตัวตายนั้นส่วนหนึ่งมาจากการที่บุคลนั้นๆ มีสภาวะทางจิตใจที่ไม่ปกติ บางรายอาจจะมีภาวะโรคซึมเศร้าหรือโรคไบโพลาร์ร่วมด้วย ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าทั้งสองโรคนี้มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร Science Illustrated จะพาคุณไปทำความรู้จักกับโรคซึมเศร้าและโรคไบโพลาร์ให้มากขึ้น

[ads]

โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder) คือ โรคทางจิตเวชที่เกิดจากความผิดปกติของสารเซโรโทนิน (Serotonin) ในสมองมีปริมาณลดลง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยทั้งร่างกาย จิตใจ และความคิด รู้สึกท้อแท้ หงอยเหงา เบื่อหน่าย ไม่สนุกสนานกับชีวิต นอนไม่หลับ สะดุ้งตื่นกลางดึก ฝันร้ายบ่อยครั้ง ส่งผลกระทบให้ความสามารถในการทำงานลดลง และอาจตกอยู่ในภาวะรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าจนอยากฆ่าตัวตายได้ แต่จุดเด่นของโรคซึมเศร้าอยู่ที่อารมณ์เบื่อเศร้าจะค่อนข้างชัดเจน

ในขณะที่โรคไบโพลาร์ (Bipolar) ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอารมณ์สองขั้ว คือ ภาวะแมเนีย (Mania) และภาวะซึมเศร้า กล่าวคือ ไบโพลาร์จะมีลักษณะที่มีอารมณ์ช่วงหนึ่งสนุกสนานครื้นเครง รื่นเริง สลับกับอารมณ์ซึมเศร้าอีกช่วงหนึ่ง เราจึงเรียกไบโพลาร์ว่าโรคเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย บางคนอาจจะเรียกว่า โรคอารมณ์แปรปรวน หรือโรคคนสองบุคลิกนั่นเอง

สิ่งที่มีความเหมือนกันของทั้งสองโรคนี้ก็คือ จะเห็นได้ว่าภาวะซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นได้กับโรคซึมเศร้าและโรคไบโพลาร์ แต่ภาวะซึมเศร้าของโรคไบโพลาร์จะมีความรุนแรงมากกว่าโรคซึมเศร้า ทั้งยังมีแนวโน้มกระทบไปถึงความสามารถในการทำงาน การใช้ชีวิตในสังคม และความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวอีกด้วย

สามารถจำแนกความแตกต่างของภาวะซึมเศร้าระหว่างโรคซึมเศร้ากับโรคไบโพลาร์ได้ดังนี้

อาการโรคซึมเศร้า

– รู้สึกกลุ้มใจ ซึมเศร้าทุกวัน และเกือบจะทั้งวัน

– รู้สึกเบื่อกับทุกอย่างรอบตัวเป็นประจำ ไม่อยากสังสรรค์หรือออกสังคม

– เบื่ออาหาร

– นอนไม่หลับ

– กระวนกระวาย หรือมีอาการซึมๆ เนือยๆ ไร้เรี่ยวแรง

– รู้สึกอ่อนเพลียง่าย เหนื่อยง่าย เหมือนร่างกายอ่อนแอลง

– รู้สึกไร้ค่า ไร้ความสามารถ

– ร้องไห้ง่ายโดยไม่มีสาเหตุ รวมทั้งอาจมีอาการปวดที่ไม่ทราบสาเหตุร่วมด้วย

– มีอาการใจลอย ไม่มีสมาธิ หมกมุ่นอยู่แต่เรื่องเดิมๆ

– เบื่อชีวิต มีบางช่วงที่รู้สึกอยากตาย

ถ้ามีความรู้สึกเบื่อเศร้าอย่างอาการข้างต้นติดต่อกันนานกว่า 2 สัปดาห์ ร่วมกับอาการกินไม่ได้นอนไม่หลับจนผอมลง และเกิดความรู้สึกอยากตายมากขึ้น ลักษณะนี้อาจเข้าข่ายป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

อาการของภาวะซึมเศร้าในโรคไบโพลาร์

– มักเกิดอาการซึมเศร้าครั้งแรกในช่วงวัยรุ่นหรือวัยเรียน อีกทั้งยังมีอาการเป็นพักๆ เดี๋ยวเศร้าเดี๋ยวปกติวนไปมาหลายครั้ง

– ความคิดช้าลง พฤติกรรมต่างๆ ก็ช้าลงเช่นกัน

– นอนมากขึ้น

– เจริญอาหารมากขึ้น

– รู้สึกโดดเดี่ยว ขาดกำลังใจ เหมือนกลายเป็นคนไร้ค่า

– มองโลกในแง่ร้ายไปหมด รู้สึกว่าโลกไม่สดใส ไม่มีอะไรน่าสนุก ไม่ร่าเริง

– มีอาการวิตกกังวลอย่างรุนแรง

– ตกอยู่ในสภาวะหลงผิด อารมณ์ผิดปกติจนอาจควบคุมความประพฤติของตัวเองไม่ได้

– กลายเป็นคนมีปัญหากับสังคม รู้สึกว่าคนรอบข้างไม่เป็นมิตร ไม่สนใจตน

– มีประวัติติดยาเสพติด หรือเคยกระทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย

– มีประวัติโรคไบโพลาร์หรือโรคซึมเศร้าในครอบครัว

นอกจากนี้จุดเด่นที่ทำให้โรคซึมเศร้าและโรคไบโพลาร์มีความแตกต่างกันก็คือ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะรู้สึกเบื่อหน่ายและเศร้าแทบจะตลอดเวลา ทว่าผู้ป่วยโรคไบโพลาร์อาจมีภาวะซึมเศร้าสลับกับอารมณ์ร่าเริงเกินปกติ บุคลิกของผู้ป่วยโรคไบโพลาร์จะสลับสับเปลี่ยนกันเหมือนเป็นคนละคนเลยล่ะ เช่น เราอาจเคยเห็นเพื่อนหรือคนที่อยู่รอบข้างที่อยู่ดีๆ ก็ขยันทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย บางคนดูเหมือนมีแผนการและความคิดสร้างสรรค์มากมาย เวลาพูดคุยด้วยจะสังเกตว่าพูดมาก พูดเร็ว แต่ดูกระจัดกระจายไม่ปะติดปะต่อ เปลี่ยนเรื่องเร็วจนตามไม่ทัน มีพลังงานเหลือเฟือในการทำงานวางแผนโครงการต่างๆ มากมาย รวมทั้งดูมีความมั่นใจในตัวเองมาก คิดว่าตัวเองมีความสามารถสูง บางคนที่เป็นมากอาจมีความคิดหลงผิด (delusion) ว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษ มีพลังอำนาจวิเศษเหนือธรรมชาติ บางคนมีลักษณะใช้จ่ายเกินตัวผิดปกติ ถ้าเป็นคนประหยัดจะใช้เปลืองมากขึ้น ถ้าเป็นคนใช้เงินอยู่แล้วก็จะมากขึ้นอีก บางคนบริจาคเงินมากมาย หรือเอาเงินมาแจกเพื่อน นอนดึกมากขึ้น อารมณ์อาจเป็นลักษณะดีผิดปกติ ดูไม่สมเหตุสมผล หรือมีอารมณ์หงุดหงิดมาก ความอดทนต่ำหุนหันพลันแล่น ทำให้มีเรื่องกับใครได้ง่าย อาจถึงขั้นอาละวาดทำร้ายคนหรือสิ่งของได้

การดูแลรักษา

ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรับการรักษา ในบางรายมีความจำเป็นจะต้องให้ยาปรับอารมณ์ให้คงที่ (mood stabilizer) ร่วมด้วย

อย่างไรก็ตามคนที่เป็นโรคไบโพลาร์ ส่วนใหญ่เมื่อได้รับประทานยา อาการจะดีขึ้นจนเป็นปกติ และสามารถทำงาน ใช้ชีวิตปกติได้เหมือนไม่เคยป่วยมาก่อน ที่สำคัญคือระวังการกำเริบของโรค เพราะผู้ป่วยไบโพลาร์ ช่วงเมเนียมักไม่คิดว่าตัวเองป่วย หากอาการดีขึ้นก็มักหยุดยาเอง ซึ่งโรคจะกำเริบได้หากรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ รวมถึงการพักผ่อนไม่เป็นเวลา การดื่มแอลกอฮอล์และความเครียด

ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคนี้จึงไม่ควรทำงานที่พักผ่อนไม่เป็นเวลา เช่น งานที่ต้องอยู่เวรเป็นกะ และควรหลีกเลี่ยงการทำงานที่สร้างความเครียดหรือกดดันมากเกินไป อย่างไรก็ตาม อาการต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น บางครั้งอาจเกิดจากโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรคไบโพลาร์ก็ได้ ดังนั้นการไปพบจิตแพทย์จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด

ขอบคุณข้อมูลจาก:สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: