เฉลยข้อสงสัย อุบัติเหตุของ “น้องอิน” ว่าทำไม BMW X1 “ถุงลมถึงไม่ระเบิด” จนเป็นเหตุทำให้เสียชีวิต?!(ชมคลิป)





เป็นเรื่องสะเทือบขวัญอย่างมาก สำหรับข่าวอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่คร่าชีวิตดาราวัยรุ่น น้องอิน ณัฐนิชา กลายเป็นที่ถกเถียงกันไปทั่วในโลกโซเชียลว่าทำไมชนแรงขนาดนั้น ถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับถึงไม่จุดระเบิดออกมาเพื่อช่วยลดแรงกระแทก ดูจากภาพและคลิป VDO หลังจากเกิดอุบัติเหตุบริเวณซากรถจะเห็นว่าม่านนิรภัยทั้งสองฝั่งของ BMW X1 นั้นทำงานตามหน้าที่แต่ตำแหน่งของถุงลมนิรภัยกลับไม่ทำงาน BMW X1 sDRIVE 20d ของ น้องอิน ณัฐนิชา มีถุงลมนิรภัยทั้งฝั่งคนขับและคนนั่ง รวมถึงม่านนิรภัยด้านข้างซ้าย-ขวา ทั้งสองฝั่ง รวมถุงลมและม่านนิรภัยทั้งหมด 4 ตำแหน่ง เมื่อเกิดอุบัติเหตุชนปะทะด้านข้างด้วยความแรงจนถึงระดับที่เซนเซอร์ตั้งเอาไว้ ม่านนิรภัยด้านข้างจะจุดระเบิดออกมาเพื่อทำหน้าที่ลดแรงกระแทกในขณะที่ด้านข้างของรถปะทะกับสิ่งกีดขวาง

จากคลิปวิดีโอที่บันทึกหลังจากเกิดอุบัติเหตุ ม่านนิรภัยทั้งสองข้างของ BMW X1 ทำงาน แต่ความแรงกับตำแหน่งที่ปะทะอยู่ใกล้กับเสาหน้าด้านขวา ซึ่งเป็นตำแหน่งของคนขับนั้น ดูจากความเสียหายของเสาหน้าพบว่าเกิดจากการฟาดด้านข้างฝั่งขวาตรงกับเสาหน้าที่อยู่ใกล้ตำแหน่งคนขับมาก จากความเร็วที่ใช้กลายเป็นความรุนแรงมากจนเสาหน้าด้านขวาและหลังคาทั้งผืนพับงอเข้าไปจนเกือบจะถึงกลางรถ! ความเร็วที่ชนปะทะไม่น่าจะต่ำกว่า 120-140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 

สำหรับเงื่อนไขที่จะทำให้ถุงลมด้านหน้าคนขับและคนนั่งทำงานหรือจุดระเบิดออกมาเมื่อเกิดอุบัติเหตุ คือ การชนปะทะต้องรุนแรงจนถึงจุดที่เป็นอันตรายต่อผู้โดยสารในรถ โดยมีการคำนวณเรื่องแรงปะทะในจุดที่เซนเซอร์ตรวจจับได้ว่ามีความรุนแรงมาก ถุงลมก็จะทำงานทันที ตัวแปรอีกประการหนึ่งก็คือ ถุงลมอาจทำงานครบทุกตำแหน่ง หรือไม่ครบทุกตำแหน่ง ขึ้นอยู่กับการรับข้อมูลของเซนเซอร์ที่จะสั่งให้ถุงลมระเบิดออกหรือไม่ระเบิด ในรถที่มีถุงลมหลายตำแหน่ง เมื่อรถถูกชนเพียงจุดใดจุดหนึ่ง แต่อีกจุดที่ดูแล้วเสียหายแต่ถุงลมกลับไม่ทำงาน  ถุงลมนิรภัยจะทำงานปกป้องคนในรถเฉพาะโซนที่ปะทะแล้วก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บรุนแรง เป็นอันตรายต่อคนขับและผู้โดยสารเท่านั้น ถุงลมจะทำหน้าที่ลดอาการบาดเจ็บรุนแรงได้ดีในย่านความเร็ว 60-80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากมากกว่านั้นก็ไม่อาจรับประกันได้ว่าคนในรถจะปลอดภัยหรือไม่ สำหรับโซนที่ปลอดภัยหรือแรงจีที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดการชนหากไม่ถึงเกณฑ์หรือความรุนแรงไม่ถึงจุดที่เซนเซอร์ตั้งเอาไว้ ถุงลมนิรภัยก็อาจจะไม่ทำงาน

ไม่ควรคิดว่ามีถุงลมรอบคันแล้วจะรอดทุกเคส จากความคิดแปลกๆ ที่ว่า เสียชีวิตได้ไงถ้ามีถุงลม ควรเข้าใจว่า ถุงลมนิรภัยมีหน้าที่ลดความรุนแรงจากการบาดเจ็บในการชนปะทะเท่านั้น ไม่ใช่อุปกรณ์ช่วยรักษาชีวิตของคนขับหรือผู้โดยสารในรถ หากขับรถใช้ความเร็วสูงมากแล้วเกิดการชนปะทะหรือฟาดด้านข้าง แรงปะทะที่เกิดขึ้นจากความเร็วทำให้ชิ้นส่วนของรถเมื่อเกิดอุบัติเหตุกระจัดกระจายเละเทะจากแรงที่ชน ยิ่งเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งเละหนักเท่านั้น ถุงลมรอบคันที่ระเบิดขึ้นพร้อมๆ กันก็ไม่อาจปกป้องชีวิตของคนในรถได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นรถยุโรปราคาหลายล้านหรือหลายสิบล้าน เมื่อชนปะทะด้วยความเร็วสูงถุงลมนิรภัยก็ไม่อาจช่วยชีวิตเอาไว้ได้ ถุงลมนิรภัยจึงเหมือนกับเป็นปราการสุดท้าย เมื่อปัจจัยอื่นๆ ของระบบความปลอดภัยในรถไม่สามารถป้องกันได้แล้ว
ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของน้อง อิน ณัฐนิชา ด้วยครับ.

ขอบคุณภาพจากคลิปวิดีโอจาก : เดลินิวส์ , https://www.facebook.com/chang.arcom , https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: