ชงยกเลิกลดหย่อนภาษีคนซื้อ ‘แอลทีเอฟ’ หวังแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ-นำเงินไปช่วยคนจนเพิ่มขึ้น





 

แนะรัฐยกเลิกลดหย่อนแอลทีเอฟ มีแต่คนรวยได้ประโยชน์ ชี้ยกเลิกแล้วช่วยดึงรายได้ 9,000 ล้าน กลับไปช่วยคนจนได้

น.ส.ดวงมณี เลาวกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยในงานเสวนาโครงการติดตามเศรษฐกิจไทย ครั้งที่ 13 “อัดฉีด เก็บภาษี ช่วยใคร?” ว่า อยากเสนอให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการลดหย่อนภาษีค่าซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) เพราะคนที่ได้ประโยชน์มีเพียงกลุ่มผู้มีรายได้สูง จากข้อมูลวิจัยพบว่าสัดส่วนผู้ที่ใช้สิทธิลดหย่อนแอลทีเอฟอยู่ในกลุ่มคนรวยสุด คือรายได้มากกว่า 20 ล้านบาท ถึง 82% ไม่เป็นประโยชน์กับผู้มีรายได้น้อย คือรายได้ต่ำกว่า 5 แสนบาท ซึ่งกลุ่มนี้ใช้สิทธินี้แค่ 2% เท่านั้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐต้องเสียรายได้จากการลดหย่อนแอลทีเอฟเกือบ 9,000 ล้านบาท หากยกเลิกลดหย่อนแอลทีเอฟรัฐก็สามารถนำรายได้ส่วนนี้ไปแก้ปัญหาความยากจน ทำประโยชน์ด้านอื่นได้มากขึ้น โดยที่การยกเลิกลดหย่อนแอลทีเอฟจะไม่กระทบการพัฒนาตลาดทุน เพราะปัจจุบันตลาดทุนพัฒนาไปมากแล้ว และมีทางเลือกลงทุนหลากหลาย

ขณะที่การลดหย่อนภาษีกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) ซึ่งทำให้รัฐสูญเสียรายได้ปีละกว่า 3,700 ล้านบาท ยังสนับสนุนให้มีต่อไป เพราะเป็นการส่งเสริมโครงข่ายคุ้มครองทางสังคมระยะยาว สอดคล้องกับการเตรียมความพร้อมไทยที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ

ด้านการลดหย่อนจากการบริจาค โดยเฉพาะเพื่อการศึกษายังมีประโยชน์ควรคงไว้ โดยที่ผ่านมามียอดบริจาคหักลดหย่อนปีละกว่า 800 ล้านบาท รัฐมีรายจ่ายจากการลดหย่อนส่วนนี้กว่า 300 ล้านบาท ก็ถือเป็นการลดหย่อนที่คุ้มกว่าเงินที่รัฐสูญเสียไป

น.ส.ดวงมณี กล่าวว่า ที่ผ่านมาการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดายังเก็บได้ไม่ครอบคลุม รัฐจำเป็นต้องขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยข้อมูลที่ได้มา กลุ่มคนมีรายได้ปีละ 1-4 ล้านบาท เสียภาษีมากที่สุดเทียบกลุ่มอื่น ซึ่งเป็นไปตามหลักความสามารถจ่าย แต่หากจะให้เป็นธรรมมากขึ้นต้องดึงคนที่ควรต้องเสียภาษีเข้ามาสู่ฐานภาษีให้ได้ นอกจากนี้รัฐควรศึกษาว่ารายจ่ายผ่านมาตรการลดหย่อนภาษีต่างๆ ที่ให้ไปมีผลต่อผู้เสียภาษีแต่ละขั้นเงินได้อย่างไรและควบคุมรายจ่ายให้ดี

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า หากมองการกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ คงไม่ใช่แง่รายได้ภาษี แต่ต้องมองที่การใช้จ่ายของรัฐด้วย ซึ่งที่ผ่านมาการใช้จ่ายของรัฐทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำได้มากขึ้น เพราะรายจ่ายต่างๆ ที่ภาครัฐมี ประโยชน์ลงไปอยู่ที่กลุ่มคนมีรายได้สูงมากกว่าคนจน เช่น การสร้างรถไฟความเร็วสูง และรายจ่ายบางอย่างก็ควรจะไปลดบ้าง เช่น รายจ่ายด้านความมั่นคง

ข่าวจาก : โพสต์ทูเดย์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: