ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์หญิงเก่ง ‘หม่อมป้อม-ม.ล.ขวัญทิพย์ เทวกุล’กรรมการรายการแข่งทำอาหารชื่อดัง ผู้เชี่ยวชาญอาหารไทยชาววัง ที่เคยคิดหนีจากครัวไทยแต่ก็ไม่พ้น!!(มีคลิป)





 

บทสัมภาษณ์โดย : บุษกร ภู่แส กรุงเทพธุรกิจ 22 พฤศจิกายน 2558

ไม่ว่าจะให้คำนิยามของเธอว่าอะไร ทั้งหญิงแกร่งบ้าพลัง เจ้าแม่ตำราอาหาร ไม่นับงานพิธีกรและนักร้องกิตติมศักดิ์ ทุกสิ่งล้วนนำมาซึ่งความสุข

ม.ล.ขวัญทิพย์ เทวกุล หรือคุณป้อม ทายาทของวังเทวะเวสม์ เติบโตมากับครอบครัวที่รักการทำอาหาร มีคุณย่า(ม.ร.ว.สอางค์ เทวกุล) ทำกับข้าวเก่ง และคุณแม่ (ประเทือง เทวกุล ณ อยุธยา ) ก็ชอบทำอาหาร ทั้งวัฒนธรรมของบ้านนี้จะรับประทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตา สมาชิกในครอบครัวมีเวลาให้กัน ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ รวมถึงถ่ายทอดเคล็ดลับการทำอาหารให้กับลูกหลานไปด้วย ทำให้ซึมซับเสน่ห์ปลายจวักมาโดยไม่รู้ตัวตั้งแต่เด็ก 

"เรื่องการทำอาหารไม่เกิดจากความสมัครใจ แต่ถูกบังคับให้ตื่นมาทำโน่นนี่นั่นในครัว ทำให้ไม่ชอบการเข้าครัว พี่น้องทั้ง 4 คนถูกบังคับเหมือนกันหมด แต่เราเป็นลูกคนเล็กและเป็นคนเดียวที่จดสูตรอาหารไว้ เนื่องจากตอนนั้นแค่คิดว่าขี้เกียจจำจึงจดเอาไว้ แต่สิ่งเหล่านี้มันกลับเป็นสิ่งที่ช่วยให้เรานำมาใช้ทำอาหารได้จนถึงทุกวันนี้” คุณป้อมเริ่มต้นบทสนทนากับอดีตวัยเยาว์ในวังเทวะเวสม์ 

ม.ล.ขวัญทิพย์เข้าศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีโอกาสทำงานในล็อกซเล่ย์ได้ปีกว่า ทำทุกอย่างที่หัวหน้าให้ทำทั้งๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน ใครให้ทำอะไรก็ทำไปแล้วก็ทำได้ทุกอย่าง เพราะเป็นคนที่มีคติในการใช้ชีวิตมาตั้งแต่เด็กว่า อย่าบอกว่า “ทำไม่ได้” ถ้าหากยังไม่ได้ลองทำ 

เธอเชื่อว่า คนเราถ้าลองพยายามทำแล้วมันทำได้ทั้งนั้น แต่จะดีหรือไม่ดีอีกเรื่องหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้ชีวิตเธอไม่เคยหยุดนิ่ง เพราะลองทำทุกอย่าง หลังจากนั้นแต่งงานเดินทางไปอยู่กับสามีที่สหรัฐอเมริกา ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตเปลี่ยนจากสาวออฟฟิศมาเป็นแม่บ้านเต็มตัวได้มาฝึกปรือฝีมือทำอาหาร 

“ชีวิตเมืองนอก อยากกินโน่นกินนี่ก็ไม่มี หายาก ฉะนั้น อยากกินอะไรก็ลุกขึ้นทำ ถ้าเทียบกับคนอื่นถือว่า โชคดีที่เราได้พื้นฐานมาจากครอบครัวเยอะ เวลานึกมันเหมือนภาพที่เคยผ่าน ว่าเมนูนี้เขาทำแบบนี้ เมนูนั้นเขาทำแบบนั้นก็ลงมือทำได้เลยพอไปอยู่ต่างประเทศเริ่มทำกับข้าวกินเอง เพื่อนฝูงมารับประทานก็ชอบ บอกว่าอร่อย แต่ไม่เคยรู้ตัวเลยว่า ตัวเองทำอาหารอร่อย และไม่เคยคิดว่าตัวเองทำอาหารได้อะไรได้มาก่อน” 

ขณะเดียวกันช่วงไหนที่เธอกลับเมืองไทยจะมาค้นหาสมุดจดตำรับอาหารที่แอบจดเอาไว้ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ด้วยลายมือโย้เย้ ขึ้นๆ ลงๆ มาผสมผสานกับความทรงจำที่เป็นภาพในอดีตที่เห็นแม่ครัว คุณย่า คุณแม่ ทุกคนทำครัว มันเป็นภาพความทรงจำที่ติดตาเมื่อนึกถึงจะจำรสชาติได้เหมือนกับว่าเป็นคนที่มีพรสวรรค์ด้านอาหาร แต่ไม่รู้ตัวมาก่อน กว่าจะรู้ตัวว่าชอบการทำอาหารก็โตแล้ว 

นอกเหนือจากพรสวรรค์ฝีมือในการทำอาหารที่ดีจากครอบครัวแล้วม.ล.ขวัญทิพย์ ยังมีระบบความคิดที่เป็นลำดับขั้นตอน ในการคำนวณต้นทุน กำไร แตกต่างจากแม่ครัวไทยส่วนใหญ่ หลังจากที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในต่างประเทศแล้ว เธอสั่งสมทักษะการทำอาหารมาเรื่อยๆ ยกตัวอย่าง เวลาที่พี่น้องสี่คนเจอหน้าหรือจะไปรับประทานทานข้าวที่บ้านของคุณพ่อคุณแม่ หน้าที่เข้าครัวก็ตกเป็นเธอทุกครั้งหรือในกรณีอยากกินอะไรเป็นพิเศษก็เป็นเธอทุกทีไป จนเริ่มสนุกจากการอ่านตำราโน่นนี่นั่น ต่อมากระโดดเข้ามาในอาชีพเชฟ เนื่องจากมีญาติผู้น้องชวนเปิดร้านอาหาร 

แต่การที่มีแรงบันดาลใจในการทำร้านอาหาร “ไม่ใช่” คำตอบของคนชอบทำอาหาร เนื่องจากมีความเครียดในเรื่องรายรับรายจ่ายของร้าน ที่ขึ้นอยู่กับจำนวนลูกค้าได้สร้างความกดดันให้กับเธอมาก เมื่อเริ่มรู้สึกไม่สนุกจึงตัดสินใจออกมาทำงานบริษัทกับครอบครัว(อดีต)สามีอยู่ระยะหนึ่ง 

ต่อมาหลังจากหย่าก็ลาออกมาเปิดร้านอาหารที่สุขุมวิท เริ่มต้นดีแต่มาเจอวิกฤติการชุมนุมทางการเมืองจึงต้องปิดกิจการ ระหว่างนั้นมีผู้ติดต่อเข้ามาพร้อมโจทย์ให้ขบคิด เช่น ผู้ประกอบการเครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของผัก ผลไม้ ขอให้ช่วยคิดนำวัตถุดิบเหล่านั้นมาทำเป็นอาหารเพื่อใช้ในงานเปิดตัว หรือการทำดินเนอร์ให้กับไวน์ วิสกี้ อาหารเพื่อสุขภาพ ฯลฯ จนถูกเรียกว่าเป็น “ฟู้ด ครีเอเตอร์” รวมทั้งการเป็นที่ปรึกษาให้กับร้านอาหารในการวางระบบการบริการจัดการทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

“ทุกวันนี้มีความสุขมากที่ได้ทำให้สิ่งที่รัก ไม่ว่าจะเป็น งานพิธีกร ร้องเพลง งานด้านอาหาร เขียนหนังสือ ที่ปรึกษา และงานที่ทำกับโครงการ SCB Challenge ฯลฯ งานนี้ไม่มีรีไทร์ อาศัยประสบการณ์เฉพาะตัว” 

สำหรับชีวิตคู่ที่ไม่สามารถเดินไปสู่จุดของความสวยงาม ด้วยเหตุผลของคนสองคนนั้น ม.ล.ขวัญทิพย์ บอกว่า ไม่ใช่ความผิดใครทั้งสิ้นและไม่มีใครจะรู้ดีไปกว่าคนสองคน เธอมีความคิดที่จะหย่าตั้งแต่ลูกคนเล็กอายุ 5 ขวบ แต่รอเวลาให้ลูกทั้งสามเติบโตพอที่จะรับรู้และเข้าใจได้ จึงตัดสินใจแยกทางตอนอายุ 44 ปี เมื่อลูกคนโตอายุ 20 ปี คนที่สองอายุ18 ปี และคนเล็กอายุ 15 ปี ณ เวลานั้นลูกๆ เข้าใจได้โดยไม่ต้องอธิบาย 

เธอมองว่า ช่วง10 ปีก่อนที่จะหย่าทำให้ความรู้สึกเจ็บลดลงเพราะได้เตรียมตัวเตรียมใจที่จะอยู่ด้วยตนเองมาพอสมควรแล้ว ส่วนเรื่องที่คนอื่นจะนินทาอะไรคงไปห้ามไม่ได้ มาถึงจุดนี้ถือเป็นบทพิสูจน์เพื่อนที่คบกันมาได้ด้วยว่า ใครเป็นมิตรแท้ที่คบหาสมาคมต่อไป หรือใครที่ถูกจัดอันดับเป็นแค่คนเคยรู้จัก 

ม.ล.ขวัญทิพย์ เชื่อว่า ชีวิตเลือกได้ที่จะสุขหรือทุกข์ ความสุขกับความร่ำรวยของแต่ละคนไม่เท่ากัน ทั้งยังไม่เสมอต้นเสมอปลายอีกด้วย ยกตัวอย่าง ปัจจุบันเธอทำงานฟรีแลนซ์ ทำในสิ่งที่รัก ไม่ร่ำรวยแต่มีความสุข สมัยก่อนอยากมีบ้านหลังใหญ่ เพราะนั่นคือความหรูหรา สุขสบาย แต่ตอนนี้ขอมีบ้านเล็กๆ 

“ความคิดเปลี่ยนแปลงไปตามวัย อาจมาจากประสบการณ์ อายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้เรียนรู้ทั้งความสุข ความทุกข์ทั้งหลาย ทำให้คิดแบบนี้ ณ วันนี้ เพราะมาตรฐานเปลี่ยนไปตามกาลเวลา บางคนมีเงิน 1,000 บาทก็รู้สึกว่ารวยแล้ว กินง่ายอยู่ง่าย แต่บางคนมี 100,000 บาทยังรู้สึกว่าไม่รวย ฉะนั้น ความร่ำรวยวัดตรงไหน ความสุขวันนี้ของเราคือ ได้นั่งกินข้าวอยู่ในบ้านเล็กๆ ทำอะไรอยู่ในบ้านกับลูกก็มีมีความสุขแล้ว” 

 

คลิปจาก : JSL Global Media

 

คลิปจาก : Creative Thailand Channel

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: