ตำรวจมีเฮ!! คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจเตรียมเสนอรัฐบาลเพิ่มค่าครองชีพแบบ’เต็มสูบ’ ป้องกันการรีดไถ และรับส่วย!! นายสิบได้ขั้นต่ำ15,000!! นายร้อย33,000!!





 

อัดฉีดตำรวจ "เต็มสูบ"ป้องกันการรีดไถ และรับส่วย คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจเสนอรัฐบาลเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว ผนวก “เงินเพิ่มสำหรับตำแหน่ง” ส่งผลให้ตำรวจที่จบจากโรงเรียนนายสิบมีรายได้สูงขึ้นถึงเดือนละ ๑๖,๓๓๐.- บาท ถ้าจบจาก โรงเรียนนายร้อยจะได้เดือนละ ๓๖,๗๙๐.-บาท นอกจากนี้ ยังเพิ่มเงิน ”ค่าทำสำนวน”ให้พนักงานสอบสวนอีก ๑๐๐ % และจะต้องมีการทบทวนทุกรอบ ห้าปี

เสนอเพิ่มรายได้ให้ตำรวจเป็นไปตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๕๘ ง.ด้านกระบวนการยุติธรรม (๔) ที่ระบุว่า”ให้ดำเนินการ”แก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพมีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมฯลฯ” นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารกับสังคมในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม(ตำรวจ) แถลงว่าในการประชุมคณะกรรมการที่มี พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน ได้พิจารณา ถึงประเด็นการเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการของข้าราชการตำรวจ ตามที่คณะอนุกรรมการด้านการบริหารบุคคลเสนอให้พิจารณา งานตำรวจเป็นงานที่มีความเสี่ยงมากกว่าข้าราชการพลเรือนสามัญอยู่ระหว่าง ๑๓.๕๖- ๒๒.๕๗ เท่า ซึ่งในต่างประเทศนั้นค่าตอบแทนของตำรวจชั้นประทวนกับค่าตอบแทนของข้าราชการพลเรือนสามัญมีสัดส่วน ความเสี่ยง ๑.๒๘ ต่อ๑ ส่วนระดับสัญญาบัตรมีสัดส่วน ๑.๗๔ ต่อ ๑

ทั้งนีจากผลการวิจัยโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เสนอว่าข้าราชการตำรวจในสายงานป้องกันปราบปรามซึ่งมีความเสี่ยงเฉพาะในการปฏิบัติหน้าที่มากกว่างานตำรวจในกลุ่มงานอำนวยการและกลุ่มงานสนับสนุนคิดเป็นค่าเฉลี่ย ๒.๖๖ ต่อ ๒.๙๗ จึงควรได้รับเงินเพิ่มในระดับชั้นประทวนเป็นเงิน ๔,๓๐๐ – ๕,๐๐๐ บาท ต่อเดือนและในระดับสัญญาบัตรเป็นเงิน ๑๘,๕๐๐-๒๑,๕๐๐บาทต่อเดือน จะมีผลทำให้ตำรวจในสายงานป้องกันปราบปรามตำแหน่ง ผบ.หมุู่ที่จบจากโรงเรียนนายสิบ ได้เงินเดือนแรกบรรจุเดือนละ ๙,๓๓๐ บาทบวกเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว ๒,๐๐๐ บาท และเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งอีก๔,๓๐๐-๕,๐๐๐ บาท รวมรายได้เดือนละ ๑๕,๖๓๐-๑๖,๓๓๐ บาท ส่วนตำแหน่งรองสารวัตรที่จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจควรจะได้รับเงินเดือนๆแรกบรรจุ ๑๕,๒๙๐ บวกกับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่ง ๑๘,๕๐๐-๒๑,๕๐๐ บาทจะทำให้มีรายได้เดือนละ ๓๓,๗๙๐-๓๖,๗๙๐ บาท

นอกเหนือจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจยังเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการด้านการบริหารงานบุคคลที่ให้ปรับอัตราการจ่ายเงินค่าตอบแทนการสอบสวนคดีอาญาหรือที่เรียกว่า ”ค่าทำสำนวน” เพิ่มขึ้นอีก ๑๐๐% เพราะอัตราที่ใช้อยู่ กำหนดไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ และยังมิได้ปรับเพิ่มในขณะที่ค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นอัตราที่เสนอใหม่จะเป็นดังนี้ (๑) กรณีที่เกิดคดีอาญาขึ้นและไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด เดิมไม่จ่าย ส่งผลให้พนักงานสอบสวนไม่อยากทำสำนวนหรือไม่รับคดีจึงเสนอให้จ่ายค่าตอบแทนการสอบสวนคดีอาญาประเภทที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิดไม่เกินคดีละ ๕๐๐ บาท (๒) ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี เสนอให้จ่ายไม่เกินคดีละ ๑,๐๐๐ บาท (ขณะนี้จ่ายไม่เกินคดีละ ๕๐๐ บาท) (๓) ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุก ๓-๑๐ ปีเสนอให้จ่ายไม่เกินคดีละ ๒,๐๐๐บาท (ขณะนี้จ่ายไม่เกินคดีละ ๑,๐๐๐ บาท) (๔) ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุก ๑๐ ปีื ขึ้นไป เสนอให้จ่่ายไม่กินคดีละ ๓,๐๐๐(ขณะนี้จ่ายไม่เกินคดีละ ๑,๕๐๐บาท)เหตุผลในการเสนอขอปรับอัตราค่าตอบแทนการสอบสวนคดีอาญาดังกล่าวก็เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารกับสังคมแถลงด้วยว่าในการเสนอของคณะอนุกรรมการด้านการบริหารงานบุคคลนั้น ได้เสนออัตรารายได้ของตำรวจในสายงานป้องกันและปราบปราม ให้ต่ำกว่าอัตราที่เสนอโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เพราะไม่อยากให้กระทบต่องบประมาณในภาพรวมของประเทศ แต่เมื่อได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางรวมทั้งเหตุผลที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ว่าให้ ”มีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่้เหมาะสม” ซึ่งเป็นอาชีพเดียวที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม แสดงว่าปัจจุบันนี้ ตำรวจได้รับค่าตอบแทนที่ยังไม่เหมาะสม จึงอ้างว่ารายได้ไม่เพียงพอต้องหารายได้พิเศษจากการรีดไถ และรับส่วย เมื่อเพิ่มรายได้ให้แล้วควรจะได้กวดขันตำรวจที่ทุจริตและประพฤติมิชอบต่อไป ที่ประชุมจึงเห้นสมควรให้ปรับค่าตอบแทนของข้าราชการตำรวจในสายงานป้องกันปราบปรามตามผลการศึกษาวิจัยของมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง และควรมีการพิจารณาค่าตอบแทนดังกล่าวทุกห้าปีด้วย

ข่าวจาก : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: