‘เสือดำ’ ที่ถูกฆ่าอาจเป็นตัวสุดท้ายของผืนป่าไทย





 

"ดำรง พิเดช" อดีตอธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เผย เสือดำที่ถูกฆ่าครั้งนี้ อาจเป็นเสือดำตัวสุดท้ายที่เหลืออยู่

การจับกุม เปรมชัย กรรณสูต เจ้าสัว อิตัลไทยครั้งนี้ พบว่า มีการล่าสัตว์ป่าไก่ฟ้าหลังเทา เก้ง และเสือดำที่ถูกแล่เนื้อหนังออกมาและหั่นเป็นชิ้น ซึ่งเสือดำพบมากในป่าดิบชื้นในทวีปเอเชีย เช่น อินเดีย เนปาล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในเบงกอล หรือชวา ส่วนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ห้วยขาแข้ง และอุ้มผาง เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ฯ สามารถบันทึกภาพวิดีโอของเสือดำจากกล้องดักถ่ายได้บ่อยครั้ง ซึ่ง เสือดำ เป็น 1 ใน 10 สัตว์อนุรักษ์ หากพบเห็นในพื้นที่ใดก็จะแสดงความสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนั้น

 

 

 

สถานการณ์เสือดำในไทยมีจำนวนลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ห้ามมิให้ผู้ใดทำการล่า หรือมีไว้ในครอบครอง ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท

 

 

ดำรง พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า เสือดำที่ถูกฆ่าครั้งนี้ อาจเป็นเสือดำตัวสุดท้ายที่เหลืออยู่ ซึ่งหากตัวนี้เป็นจริงก็ถือว่าเป็นภัยพิบัติอย่างใหญ่หลวงของประเทศ ที่จะไม่มีให้ลูกหลานได้เห็นอีกต่อไป

เช่นเดียวกับ ไก่ฟ้าหลังเทา เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ซึ่งจำนวนลดน้อยลงเรื่อยๆ พบได้ทางภาคตะวันตกไปจนถึงคอคอดกระในภาคใต้ เมื่อปี 2558 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินจากวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปยังน้ำตกป่าละอู เพื่อทอดพระเนตรความเขียวชอุ่มของผืนป่า แล้วทรงปล่อยไก่ฟ้าหลังเทา 10 ตัว ไก่ป่าตุ้มหูแดง 19 ตัว รวมถึงนกและเม่น เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์และรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ

นอกจากนี้ ผืนป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ยังเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายหลักในกาญจนบุรี คือแม่น้ำแควน้อยและแม่น้ำแควใหญ่ อย่างไรก็ตาม ไฮไลต์ของเขตรักษาพันธุ์ฯ แห่งนี้คือสัตว์ป่าหลายชนิดที่หาชมได้ยาก บางชนิดอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ และบางชนิดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น รวมทั้งสัตว์คุ้มครองอื่นๆ ได้แก่ ช้างป่า วัวกระทิง เสือชนิดต่างๆ ฯลฯ รวมทั้งไก่ฟ้าหลังเทา เป็ดหงส์ เป็ดก่า นกเงือก และอื่นๆ อีกมากมายที่สะท้อนความสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งได้รับการประเมินคุณค่าให้เป็นแหล่งมรดกทางธรรมชาติ ด้วยคุณสมบัติโดดเด่นตามเกณฑ์การพิจารณา 3 ข้อ คือ

1.มีความดีเด่นในด้านวิวัฒนาการทางชีวภาพ-ชีวาลัย เป็นพิเศษของโลก เพราะประกอบด้วยระบบนิเวศวิทยาทั้ง 4 ภูมิภาค คือ ภูมิภาคซุนเดอิก (Sundaic) ภูมิภาคอินโด-เบอร์มิส (Indo-burmese) ภูมิภาคอินโด-ไชนีส (Indo-chinese) และภูมิภาคไซ โน-หิมาลายัน (Sino-himalayan)

2.เป็นแหล่งธรรมชาติพิเศษที่เป็นต้นน้ำที่สำคัญหลายสายของไทย มีป่าไม้นานาชนิดประกอบด้วยเทือกเขา เนินเขา ตลอดจนทุ่งหญ้า ลักษณะทั้งหมดจึงมีคุณค่าในด้านวิทยาศาสตร์ มีความงดงามทางธรรมชาติที่หายากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และ 3.เป็นแหล่งพันธุกรรมของพืชและสัตว์หลากชนิด โดยมีสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ถึง 28 ชนิด เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 15 ชนิด นก 9 ชนิด และสัตว์เลื้อยคลานอีก 4 ชนิด

ข้อมูลจาก : โพสต์ทูเดย์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: