กองทัพบกยืนยัน ‘เรือเหาะ’คุ้มค่า-ตอบโจทย์ลดความรุนแรงภาคใต้!





 

ผบ.ทบ.แจงยิบ ปม ทบ.ปลดระวางเรือเหาะ บอกเป็นยุทโธปกรณ์ใหม่ เชื่อคุ้มค่า ทำก่อเหตุลด แม้ใช้งานไม่ครบ 100%

เมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ถ.วิภาวดีรังสิต พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงการปลดประจำการเรือเหาะตรวจการณ์ของกองทัพบก ว่า เป็นการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพบกตามปกติ ความมุ่งหมายเพื่อเป็นเครื่องมือให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในขณะนั้นสถานการณ์มีการสูญเสียเจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือน จึงจัดซื้อเรือเหาะเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ดูแลความปลอดภัย ของประชาชน และใช้ตรวจการ พื้นที่สำคัญ 3 พื้นที่ในตัวเมืองหลัก และสนับสนุนการปฏิบัติการทางยุทธวิธี เช่นการปิดล้อมตรวจค้น

ทั้งนี้ขั้นตอนการจัดหาเป็นไปตามขั้นตอนตามปกติ มีการจัดตั้งคณะกรรมการรายชุดเพื่อพิจารณา เมื่อรับมาใช้งานในระยะหนึ่ง ได้รับการร้องเรียน ไม่มีการตรวจสอบการจัดหาและราคาและทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เข้าไปตรวจสอบก็ไม่พบสิ่งผิดปกติ ส่วนขั้นตอนการใช้งานนั้นเริ่มใช้งานมาตั้งแต่ปี 2553

พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวต่อว่า สำหรับเรือเหาะเป็นยุทโธปกรณ์ที่เราไม่เคยใช้งานมาก่อนถือเป็นยุทโธปกรณ์ใหม่ที่ไม่เคยมีใช้ในภูมิภาคนี้ แต่วัตถุประสงค์แนวความคิดในการใช้งาน ถือว่าตอบโจทย์ ด้วยความเป็นยุทโธปกรณ์ใหม่จึงเกิดความขรุขระในการใช้งานและมีการใช้งานมาอย่างต่อเนื่อง และในปี 2556 ก็ประสบอุบัติเหตุเนื่องจากสภาพอากาศและมีการซ่อมไปในระยะหนึ่งและนำกลับมาใช้งานต่อ ขณะนั้นผมเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกได้ลงไปตรวจสอบการใช้งานซึ่งสถิติในการใช้งานน้อยลงไปมาก จึงให้มีการตรวจสอบรายละเอียดพบว่าประสบปัญหาในการใช้งานจึงได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาความคุ้มค่าในการใช้งาน หรือการส่งซ่อม และคณะกรรมการได้พิจารณาว่าการชำรุดของผืนผ้าใบเป็นไปตามห้วงระยะเวลาไม่คุ้มค่าสำหรับการส่งซ่อม ต้องจำหน่ายเรือเหาะ มูลค่า 66 ล้านบาท จากมูลค่ารวม 340 ล้านบาท

ผบ.ทบ.กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่รวบรวมสถิติการใช้งานเรือเหาะตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมา แต่ต้องเข้าใจว่าเรือเหาะเป็นยุทโธปกรณ์ในการป้องปราม ไม่สามารถชี้ตัวบุคคลและจับตัวได้ คล้ายกับอากาศยานที่บินตรวจการณ์ ซึ่งการปฏิบัติงานทุกครั้งมีการจดบันทึกเอาไว้บางปีก็ใช้งาน 30 ครั้ง และถ้าหากเป็นช่วงแรกแรกของการใช้งานก็มีเป็นจำนวนมาก

“ผมคิดว่าเรือเหาะมีความคุ้มค่าในการใช้งาน เนื่องจากทำให้สถิติการปฏิบัติการของฝ่ายตรงข้ามลดลง จนมาถึงในปัจจุบันซึ่งเรือเหาะอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของยุทโธปกรณ์ในการป้องปรามแต่ต้องสรุปตัวเลขอีกครั้งซึ่งผมพร้อมที่จะชี้แจง กับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อย่างไรก็ตาม ถือเป็นประสบการณ์ในการทำงาน เหมือนเราไปซื้อของในห้างแล้วคิดว่าดีแล้วแต่เมื่อนำมาใช้งานก็ไม่ดีร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ก็สามารถใช้งานได้” ผบ.ทบ.กล่าว

เมื่อถามว่ารวมถึงการซื้อรถถังของจีนด้วยหรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวว่า การจัดซื้อของดูที่ความต้องการของหน่วยและเมื่อหน่วยเสนอขึ้นมากองทัพบกก็จะจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาคุณสมบัติเฉพาะว่าเหมาะสมหรือไม่ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการการจัดหาโดยจะมีการประกวดราคาการแข่งขันขึ้นอยู่กับยุทโธปกรณ์แต่ละประเภท

เมื่อถามอีกว่า ได้มีการพูดคุยกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่เป็นผู้อนุมัติในการจัดซื้อในสมัยนั้น พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุย ซึ่งการจัดหายุทโธปกรณ์เป็นเรื่องของกองทัพไม่ใช่ตัวบุคคล และตนก็มาเป็นผู้บัญชาการทหารบกในขณะนี้ก็ต้องรับผิดชอบในการดำเนินการต่อไป

” ขอให้เห็นใจเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผมก็พยายามจัดหายุทโธปกรณ์ ที่มีคุณค่า อย่างเหตุการณ์การลอบวางระเบิดเมื่อเช้าที่ผ่านมาก็มีเสียชีวิตไป 4 นาย แม้เราจะใช้รถหุ้มเกราะ แต่ขณะนี้ระเบิดมีการพัฒนาให้เกิดความรุนแรงขึ้นมาก ขออย่ามองแค่มุมเดียว ขอให้มองถึงการรักษาชีวิตของผู้ใต้บังคับบัญชาที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ด้วย” พล.อ.เฉลิมชัยกล่าว

ข่าวจาก : มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: