เปิดตำราเถ้าแก่อาชีวะ! ‘วิว-อารยะ จารุธาณินทร์’จากเด็กอาชีวะแผนกคหกรรม สู่เจ้าของร้านสเต๊กรายได้3แสนต่อเดือน!





 

จากเด็กที่สนใจเรื่องการทำอาหารตั้งแต่เล็ก “วิว” อารยะ จารุธาณินทร์ เด็กหนุ่มที่ปัจจุบันวัยเพียง 24 ปี ได้กลายเป็นเจ้าของร้านสเต๊ก พอร์เทอร์เฮาส์ ซึ่งเปิดให้บริการอยู่ที่ Meeting Market ถนน บรมราชชนนี กรุงเทพมหานคร 

“วิว” อารยะ เล่าว่าสนใจการทำอาหารมาตั้งแต่เด็ก โดยเริ่มทำจากเมนูง่ายๆ พอถึงเวลาที่ต้องเลือกเรียนต่อด้วยความรักในเรื่องอาหาร เขาจึงเลือกเรียนด้านการทำอาหารที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา ในระดับชั้น ปวช. และ ปวส. แผนกคหกรรม เอกอาหารและโภชนาการ ซึ่งครอบครัวก็ให้ความเห็นชอบ และสนับสนุนอย่างดี
“วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภาจะโดดเด่นในสูตรอาหารของชาววังที่เป็นอาหารไทยโบราณแบบดั้งเดิม ขนมไทยก็เป็นสูตรชาววัง เป็นสูตรที่มีค่า หาเรียนยาก ที่นี่ผมได้ฝึกปฏิบัติเยอะมาก นอกจากทำอาหารไทยแล้ว ยังได้เรียนร้อยมาลัย แกะสลัก ไปจนถึงเย็บผ้าด้วยเพราะทั้งหมดนำมาใช้กับงานอาหารได้ ถือเป็นการเปิดโลกกว้างให้ผมมากๆ จากที่คิดว่า ทำอาหารก็แค่เราต้องทำให้อร่อยก็พอ แต่จริงๆ แล้วมันมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกหลายอย่างที่ทำคัญและต้องนำมาประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นรสชาติอาหาร สีสันอาหาร การเลือกใช้ภาชนะการตกแต่งจาน และองค์ประกอบในการจัดโต๊ะ ฯลฯ” เถ้าแก่ร้านสเต๊กหนุ่มกล่าว

 

ระหว่างที่เรียน ปวช. ปี 3 “วิว” เริ่มทดลองเปิดร้านสเต๊ก ก่อนจะพัฒนา ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ จนเมื่อเรียนจบ ปวส. จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภาแล้วเขาก็ใช้พื้นฐานจากการเรียนในระดับ ปวช.-ปวส. ไปต่อยอดในระดับปริญญาตรี และสามารถเปิดร้านพอร์เทอร์เฮาส์ ที่มีจุดเด่นเรื่อง “สเต๊กถาด” ที่ได้รับความนิยมมากในหมู่ลูกค้า เพราะในสเต๊กหนึ่งถาดมีอาหาร 7-8 อย่าง ทั้ง สเต๊ก ไส้กรอก สลัด มันบด ฯลฯ โดยกิจการสเต๊กในปัจจุบันสามารถทำรายได้ให้เขา 2-3 แสนบาทต่อเดือนเลยทีเดียว

เรื่องราวความสำเร็จของ "วิว" อารยะ เด็กหนุ่มที่เรียนจบอาชีวศึกษา สายคหกรรม เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ที่เด็กอาชีวะ-เด็กช่าง สามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ไปสร้างอาชีพ ไปประกอบกิจการจนเติบโตได้

 

 

อย่างไรก็ตามด้วยค่านิยมของสังคมที่นิยมเรียนต่อในสายสามัญ ทำให้ตลาดแรงงานคุณภาพของไทยยิ่งขาดแคลนเหล่าช่างฝีมือซึ่งก็คือบุคลากรสายอาชีวศึกษา ทั้งนี้จากผลสำรวจและการจัดอันดับดัชนีการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศไทยประจำปี 2559 และแนวทางการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ยุค 4.0 บ่งชี้ว่า สาเหตุที่ประเทศไทยติดลำดับ 48 จาก 130 ประเทศ ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ เป็นเพราะเด็กไทยยังขาดทักษะด้านแรงงานทั้งในส่วนของปริมาณและคุณภาพ

ขณะที่หากวัดด้วยความหลากหลายทางทักษะ (Skill Diversity) ประเทศไทยติดอันดับ 106 จาก 130 ประเทศ ซึ่งต่ำกว่าประเทศมาเลเซีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน โดยทั้ง 5 ประเทศนี้ล้วนมีผลิตภาพที่สูงกว่าแรงงานไทยตั้งแต่ 1.6-3 เท่า ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าหากประเทศไทยจะเข้าสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ต้องมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานให้สอดรับกับภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนไทยและผู้เชี่ยวชาญทักษะรุ่นใหม่ ด้วยเหตุนี้เอง แนวทางการพัฒนากำลังคนหรือการปรับตัวเพื่อก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ จึงจำเป็นต้องมีการสร้างแรงงานรุ่นใหม่ในระดับอุดมศึกษาเพื่อป้อนตลาดแรงงานจำนวน 3.32 ล้านคน โดยแบ่งเป็นระดับอาชีวศึกษา 1.99 ล้านคน และระดับมหาวิทยาลัย 1.33 ล้านคน

ยิ่งปัจจุบันจากการวางระบบการศึกษาที่ดีจากความร่วมมือแบบทวิภาคีของสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ทำให้นักเรียนอาชีวศึกษาได้เรียนแบบลงมือปฏิบัติจริง ทั้งยังสามารถทำงานและหารายได้ระหว่างเรียน เพราะมีทักษะฝีมือที่ได้ฝึกฝน จนในที่สุด หากมีความมุ่งมั่นก็จะสามารถเอาชนะใจตัวเอง เอาชนะอุปสรรค สร้างเนื้อสร้างตัว ดูแลครอบครัว และสุดท้ายมีรายได้ที่ดีได้ เพราะเหตุนี้ มูลนิธิเอสซีจีองค์กรสาธารณกุศลที่มุ่งมั่นในการพัฒนาคนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน จึงริเริ่มและให้การสนับสนุน “โครงการอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ” มาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มให้การสนับสนุนทุนการศึกษาในสาขาช่างอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี 2556 ต่อมาในปี 2558 ได้เพิ่มการให้ทุนการศึกษาอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติในสาขาบริการ ปัจจุบันมีนักเรียนทุนอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติอยู่ทั่วประเทศกว่า 1,500 คน โดยนักเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จะมีโอกาสได้รับทุนการศึกษาสูงสุดถึงปีละ 20,000 บาท และเมื่อศึกษาต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ก็มีสิทธิ์จะได้รับทุนสูงสุดถึงปีละ 25,000 บาทเลยทีเดียว

ทั้งนี้ นอกจากการมอบทุนการศึกษารวมถึงการพัฒนาศักยภาพนักเรียนทุนฯ อย่างเหมาะสมตามระดับชั้นการศึกษาแล้ว มูลนิธิเอสซีจียังได้มุ่งทำการสื่อสารนำเสนอข้อดีของการเรียนสายอาชีวะ เพื่อให้สังคมเห็นถึงเส้นทางความสำเร้จของบุคคลที่เรียนสายอาชีพ และนำไปสู่การเกิดทัศนคติที่ดีต่อการเรียนอาชีวะ ซึ่งในที่สุดทำให้เหล่านักเรียนอาชีวะภาคภูมิใจในเส้นทางที่ตัวเองกำหนด

แม้ในปัจจุบันภาพลักษณ์ของนักเรียนอาชีวศึกษาในสายตาของคนในสังคมบางส่วนจะมองว่าสุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรง และมีเรื่องตีรันฟันแทง แต่ในความเป็นจริงแล้วสถาบันอาชีวศึกษา และนักเรียนส่วนใหญ่ที่มีมากกว่า 400 แห่ง และเกือบ 7 แสนคนทั่วประเทศ ถือเป็นกำลังสำคัญของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ การเลือกเรียนตามความชอบ ความถนัดจะเป็นเส้นทางนำไปสู่อนาคตที่สดใส เพราะเมื่อเรียนในสิ่งที่ชอบ ก็จะสามารถทำได้ดี สามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้ ดังภาพยนตร์สั้นเรื่อง "ทางเลือก" ที่สร้างขึ้นจากเค้าโครงเรื่องจริงของเด็กอาชีวะ

“เอก” เด็กหนุ่มที่เขากับแม่ต้องอาศัยอยู่ในบ้านของพ่อเลี้ยง โดยเอกต้องทนเห็นภาพแม่ถูกพ่อเลี้ยงทำร้ายเป็นประจำ แต่ด้วยความที่เอกเลือกเรียนอาชีวะ จึงได้รับการฝึกฝนทักษะฝีมือช่างทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติระหว่างเรียน สามารถทำงานหารายได้เสริมระหว่างเรียนที่อู่ซ่อมรถแห่งหนึ่ง ด้วยฝีมือประกอบกับความขยันอดทน ทำให้เขามีรายได้เลี้ยงตัว มีเงินเก็บทั้งๆ ที่ยังเรียนอยู่ ขณะเดียวกันความกดดันที่ได้จากพ่อเลี้ยง ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น แต่ด้วยความใฝ่ดี อดทน มุมานะ และโอกาสที่ได้รับจากการเรียนอาชีวะ ทำให้เอกสามารถเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง และเลือกตัดสินใจทำอะไรบางอย่างเพื่อที่เขาและแม่จะได้ไม่ต้องใช้ชีวิตในแบบเดิม หนังสั้นเรื่องนี้สะท้อนให้สังคมเห็นว่าคนทุกคนเลือกได้ เลือกที่จะดี เลือกที่จะเป็น ถ้าคุณอยากรู้ว่าบทสรุปของชีวิตเองจะเป็นอย่างไร หาคำตอบได้จากหนังสั้นเรื่อง “ทางเลือก”

 

 

ข่าวจาก : ผู้จัดการออนไลน์อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: