หลักการคำนวน”รายได้ต่อเดือน” ก่อนนำไปคำนวณสินเชื่อ (สำหรับมนุษย์เงินเดือน)





เวลาที่ไปยังโครงการ แล้วเราอยากรู้ว่าสามารถยื่นกู้ได้เท่าไร ทีมเซลมักจะถามถึงเงินเดือน แล้วก็ตอบเลยว่ากู้ได้หรือไม่ได้ ซึ่งนั่นเป็นการคิดคำนวณที่ลวกเกินไป คุณอาจจะมีรายได้บางอย่างที่ธนาคารคิดเพิ่มให้นอกจากฐานเงินเดือน หรือคุณอาจจะไม่สามารถกู้สินเชื่อผ่านได้แต่คุณกลับได้ใบจองกลับบ้านมา  เอาเป็นว่าในบทความนี้ เรามาดูกันดีกว่าว่ารายได้ที่แท้จริงที่ธนาคารจะนำไปคิดในการปล่อยสินเชื่อมีอะไรบ้าง และให้เท่าไร

[ads]

1. ขั้นที่ 1 แบ่งก้อนรายได้เป็น 3 ก้อน

1.1 ก้อนฐานเงินเดือน

คือเงินเดือนตามฐานเงินเดือนเลย ไม่มีการหักลบประกันสังคม หรือภาษี ก้อนนี้ธนาคารจะคิดให้ 100% จากเงินเดือนในเดือนล่าสุดที่คุณได้ 

1.2  ก้อนของรายได้อื่นๆ ที่ได้จากบริษัท

ก้อนนี้จะขึ้นอยู่กับว่ารายได้นั้นเป็นรายได้อะไร อัตราในการคิดก็จะแตกต่างกันไป ก่อนนี้เมื่อคำนวณเสร็จแล้วจะเอาไปบวกกับฐานเงินเดือนครับ

1.3 ก้อนหนี้ (ในระบบ)

ก้อนนี้เป็นก้อนที่เอาไว้ลบกับรายได้ด้านบนครับ วิธีคิดไม่ยาก แต่จะมีที่แปลก ๆ หน่อยก็ตรงหนี้บัตรเครดิต 

 

A. ก้อนฐานเงินเดือน


ใช้ฐานเงินเดือนในเดือนสุดท้ายที่ได้รับเลยครับ ขอให้ปรากฏใน Statement ของธนาคาร และมีหลักฐานเป็นสลิปเงินเดือน ก็ใช้ได้เลยครับ  ใครที่พึ่งได้ขึ้นเงินเดือนก็อาจจะรอให้เงินเดือนก้อนใหม่ออกก่อนแล้วยื่นกู้ทันทีก็ได้ครับ ก็จะทำให้การยื่นกู้ง่ายขึ้น  สำหรับก้อนนี้คิด 100%  ไม่ต้องหักลบกับอะไรทั้งสิ้น เก็บก้อนนี้เอาไว้ เดี๋ยวเราเอามาคำนวณในตอนสุดท้าย

 

B. ก้อนรายได้อื่น ๆ จากบริษัท


คอนเสปของก้อนร้ายได้อื่น ๆ คือ

  • – อะไรที่ตายตัวได้เท่ากันทุกเดือน ธนาคารคิดให้ 100%
  • – อะไรที่ไม่เท่ากันทุกเดือน ธนาคารเฉลี่ยแล้วคิดให้ 50%
  • – อะไรที่ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ธนาคารอาจจะไม่ทำมาคิดให้เลย

1. ค่าคอมมิชชั่น

   สำหรับคนที่ทำงานด้านงานขาย ฐานเงินเดือนอาจจะไม่สูง แต่ค่าคอมมิชชั่นอาจจะเยอะมากครับ  …แต่ในความเป็นจริงธนาคารมองเงินส่วนนี้เป็นรายได้ที่ไม่แน่นอน ดังนั้นธนาคารจะคิดให้แค่ 50%  โดย..จะนำค่าคอมมิชชั่นทั้ง 6 เดือนล่าสุดมาบวกกัน แล้วหาร 6 = เท่ากับค่าคอมมิชชั่นเฉลี่ยในแต่ละเดือน

ค่าคอมมิชชั่นเฉลี่ยต่อเดือน X 50% =  รายได้ที่สามารถเอาไปคิดเพิ่มได้

* ควรได้ค่าคอมมิชชั่นทุกเดือนนะครับ ถ้า 1 หรือ 2 เดือนใน 6 เดือนล่าสุดไม่ได้เลย ธนาคาอาจจะไม่คิดให้ทั้งหมด

2. ค่าโอที หรือค่าล่วงเวลา

   ต้องได้ทุกเดือนอย่างต่ำ 6 เดือนนะครับ จะเท่าไรก็ได้  ธนาคารจะนำมาเฉลี่ย 6 เดือนแล้วคิดให้ 50% คล้ายกับค่าคอมมิชชั่นเลยถ้ามีเดือนไหนที่ไม่ได้เลย ธนาคารอาจจะมองว่านโยบายของบริษัทมีการปรับเปลี่ยน และธนาคารอาจจะไม่นำมาคิดให้เลยก็ได้ครับ

3. โบนัส

   โบนัสเป็นรางวัลที่บริษัทให้เป็นประจำทุกปีครับ แต่บางที่อาจจะให้เป็นทุก 6 เดือน หรือทุก 3 เดือน ก็แล้วแต่นโยบายบริษัท ซึ่งธนาคารคิดให้ครับ ขึ้นอยู่กับว่าโบนัสเหล่านั้นคือโบนัสแบบไหน รายได้ก้อนนี้ธนาคารอาจจะดูย้อนถึง 2 ปีนะครับ 

– เอกสารที่ต้องมีหากจะให้ธนาคารคิดรายได้ตัวนี้ด้วยคือใบรับรองโบนัสที่ออกโดยบริษัท หรือเอกสารภงด.91

3.1 โบนัสตามผลกระกอบการ

เป็นรายได้ที่ไม่มั่นคง ธนาคารคิดให้ 50% หรือไม่คิดให้เลยครับ 

  • – กรณีที่ไม่คิดให้เลยคือมีบางงวดที่ไม่ได้  ซึ่งธนาคารอาจจะดูย้อนหลังถึง 2 ปี
  • – หากได้ทุกงวด ธนาคารจะนำโบนัสทั้งหมด มาเฉลี่ยต่อเดือน แล้วคิดให้ที่ 50%

3.2 โบนัสที่ต้องได้แน่นอน

   อันนี้เป็นไปตามนโยบายบริษัท โดยในบริษัทที่ให้โบนัสกับพนักงานแบบไม่ต้องดูผลกระกอบการ และจำนวนที่พนักงานได้มีการฟิกเอาไว้ ไม่มีการสวิง ธนาคารจะนำมาเฉลี่ยเป็นรายได้ต่อเดือน แล้วคิดให้เต็ม ๆ 100% เลย

ยกตัวอย่างปีนี้ได้ 120,000 บาท  ก็ตกเดือนละ 10,000 บาท  เอา 10,000 ไปบวกกับฐานเงินเดือนได้เลย

4. รายได้อื่น ๆ เช่นค่าน้ำมัน ค่าวิชาชีพ ค่าตำแหน่ง  ฯลฯ รายได้เหล่านี้ให้คิดเป็น 3 เคส

4.1 ได้ทุกเดือนในอัตราที่คงที่

เช่นค่าตำแหน่ง  วิชาชีพ ค่าเสื่อมอุปกรณ์ส่วนตัว(บางที่เหมาจ่ายทุกเดือนเท่ากันหมด) หากได้ทุกเดือน ในอัตราที่เท่ากันตลอด สามารถนำรายได้จำนวนนี้ไปบวกกับฐานเงินเดือนได้เลย ธนาคารคิดให้ 100%

4.2 ได้ทุกเดือน แต่ไม่เท่ากัน 

ธนาคารจะนำมาเฉลี่ยหาว่าแต่ละเดือนได้เท่าไร แล้วคิดให้ที่ 50% ครับ  รายได้เหล่านี้เช่น ค่าเดินทางที่คิดตามกิโลเมตร ค่าทำงานนอกสถานที่ตามแต่โอกาส ค่าอาหารต่าง ๆ เป็นต้น 

4.3 ได้บ้างไม่ได้บ้าง

ถ้าเป็นในบางเดือนได้ บางเดือนไม่ได้ โดยเฉพาะใน 6 เดือนล่าสุด ธนาคารอาจจะไม่นำมาคิด

หลังจากได้รายรับทั้งหมดแล้ว ให้นำมารวมกันเอาไว้ ต่อไปเราจะมาดูเรื่องของหนี้กัน ว่าธนาคารคิดยังไง

 

C. ก้อนหนี้ และรายจ่าย


ธนาคารไม่คิดก้อนที่เป็นรายจ่ายเช่นค่ากินอยู่ ค่าเดินทาง ค่าหอ(ซื้อคอนโดแล้วก็ไม่ต้องอยู่หอ) ธนาคารจะคิดก้อนที่เป็นภาระหนี้อย่างเดียว โดยธนาคารจะดูข้อมูลจากบูโรเท่านั้น หมายความว่าหนี้นอกระบบธนาคารก็จะไม่นำมาคิดด้วย

1. หนี้ที่มีอัตราผ่อนตายตัว

เช่น สินเชื่อต่าง ๆ สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ และการผ่อนของผ่านบัตรเครดิต  มีอัตราการผ่อนต่อเดือนเท่าไรก็ตามนั้นได้เลยครับ   เช่น ผ่อนบ้าน 10,000/ด.  ผ่อนรถ 3,000/ด. ผ่อนทีวีผ่านบัตร 5,000/ด. ก็จัดว่ามีภาระหนี้ต่อเดือน 10000+3000+5000 = 18,000 /เดือน   

* ถ้ามีการผ่อนของผ่านบัตรเครดิตค้างอยู่ แนะนำให้ผ่อนให้หมด หรือโปะให้หมดก่อน เพราะจริง ๆ แล้วมันเป็นมูลค่าไม่เยอะหรอก เพียงแต่งวดมันน้อย รายจ่ายต่อเดือนมันก็เลยสูง ซึ่งไม่ค่อยดีกับการกู้สินเชื่อ

2. หนี้บัตรเครดิต

ถ้าคุณจ่ายเต็มจำนวนทุกเดือน ธนาคารถือว่าคุณไม่มีหนี้บัตรเครดิต (อันนี้ไม่นับรวมการผ่อนของ ถ้าผ่อนของจะอยู่ข้อ 1 ด้านบน) แต่ถ้าคุณเน้นจ่ายขั้นต่ำเป็นหลัก หรือจ่ายไม่เต็มคิดตามนี้

((จำนวนที่ไม่ได้จ่าย 6 เดือน) หาร 6 ) x 10% = ภาระหนี้บัตรเครดิตต่อเดือน

ธนาคารไม่ได้มองว่าปกติคุณจ่ายต่อเดือนเท่าไร แต่จะมองว่าคุณมีหนี้บัตรเหลือเฉลี่ยต่อเดือนเท่าไร และต้องจ่ายเป็นขั้นต่ำให้หนี้บัตรเท่าไร

* บัตรเครดิตอาจจะเป็นหนี้ที่ไม่สูง แต่การผ่อนบัตรต่อเดือนอยู่ที่ 10% ซึ่งเป็นถ้าเทียบกับสินเชื่อ จะเป็นการผ่อนที่ใช้ระยะเวลาผ่อนหมด 1 ปีพอดี ถือว่าเป็นระยะเวลาที่สั้น ทำให้จำนวนที่ต้องจ่ายค่อนข้างสูง  หากคุณจะกู้สินเชื่อบ้านและคอนโด แนะนำให้ทำดังนี้

–  จ่ายเต็มจำนวนเป็นระยะเวลา 6 เดือนก่อนยื่นกู้สินเชื่อบ้านและคอนโด

– หากต้องรีบยื่นกู้ ให้จ่ายเต็มบัตรแบบเต็มจำนวนและทำการยกเลิกบัตรไปเลย  ซึ่งคุณสามารถเปิดบัตรใบเดิมได้อีกครั้งทั้นทีหลังจากธนาคารอนุมัติสินเชื่อแล้ว โดยไม่มีผลอะไรกับการอนุมัติสินเชื่อบัตร และวงเงินบนบัตร(อย่าบอกธนาคารว่ากู้สินเชื่อบ้านและคอนโดผ่านก็แล้วกัน)

ขอบคุณภาพเเละเนื้อหาจาก:www.estopolis.com

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: