โดนใจบุคลากร สธ.! บอร์ดข้อความสะท้อนความจริงโรงพยาบาลรัฐของไทย!





 

หลังจากเกิดประเด็นรอคิวการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐ โดยเฉพาะโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จนเกิดประเด็นต่างๆ ขึ้น ทั้งกรณีเด็กชายปวดท้องอย่างหนักจนเสียชีวิตที่ รพ.พระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี หรือกรณีเด็กหญิงถูกไม้เสียบลูกชิ้นทิ่มมือ แต่ต้องรอแพทย์รักษาถึง 2 ชั่วโมง สุดท้ายต้องพาไป รพ.เอกชนแทนนั้น ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการบริการใน รพ.รัฐมากมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเกิดประเด็นเหล่านี้ ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้อย่างกว้างขวาง ล่าสุดได้มีการแชร์ข้อความในโซเชียลมีเดีย โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ในเฟซบุ๊ก Thiravat Hemachudha เกี่ยวกับบอร์ดสะท้อนภาพจริงของการบริการทางการแพทย์ ซึ่งมีผู้มาแสดงความคิดเห็นมากมาย และแชร์ต่อจำนวนมาก

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากนี้ยังมีการแชร์ในโซเชียลฯ ระบุว่ามาจากไลน์กลุ่มผู้บริหาร สธ.เล็กๆ ซึ่งอ้างถึงผู้เขียนคือนาย ไพโรจน์ จีรบุณย์ สถาปนิก ระบุถึงการทำงานของแพทย์และพยาบาลผ่านเฟซบุ๊ก “Pairoj Jeerabun” ว่า

“เพราะหมอ พยาบาล อาจพูดอะไรมากไม่ได้ เราขอพูดแทนแล้วกัน บริการทางการแพทย์ ไม่ว่าจะในระดับไหน ยกเว้นศัลยกรรมความงาม ผมกลับคิดว่าเป็นงานหนึ่งที่ถือว่าผลตอบแทนต่ำมาก เมื่อเทียบกับความรับผิดชอบที่ต้องสูงไปเสียทุกเรื่อง และยังต้องการความรอบรู้ ความรอบคอบ ความอดทน ที่มากตามไปด้วยเช่นกัน เพราะทุกชีวิตมีค่ามากสำหรับทุกคนเสมอ ความคาดหวังจึงสูง จนแทบไม่อยู่บนความเป็นจริง แต่เราจะหาบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องมีคุณสมบัติสูงมากขนาดนี้มากระจายให้พอเพียงสำหรับผู้คนทั่วประเทศได้อย่างไร เพราะ “คน” ที่จะสามารถพัฒนาจนมีคุณสมบัติสูงขนาดนี้ได้นั้น คนเก่งขนาดนี้จำนวนมากเขาก็มีทางเลือกในการทำงานอื่นๆ โดยไม่จำเป็นจะต้องมาแบกรับชีวิตผู้อื่นตลอดเวลาเช่นนี้”

“ยิ่งในยุคที่ฝ่ายผู้ป่วยพร้อมที่จะโทษทุกอย่าง โยนความผิดไปที่ผู้ให้การรักษาเสมอเช่นทุกวันนี้ โดยหลายกรณีแทบจะไม่เปิดใจรับฟังข้อเท็จจริง หรือความไม่ชัดเจนตามธรรมชาติ หรือความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ อะไรทั้งสิ้น สักวันบุคลากรทางการแพทย์อาจจะกลายเป็นอาชีพที่เยาวชนที่ตั้งใจอยากจะเรียนเพื่อเข้ามาทำหน้าที่นี้อย่างมีอุดมการณ์ … คงต้องคิดหนัก หรือตัดทิ้งเลย อาจกลายเป็นว่า เราจะได้เยาวชนที่เก่งแต่ไร้อุดมการณ์ หรือแค่เรียนไปโดยไม่สนใจอะไรเข้ามาแทน บุคลากรทางการแพทย์ที่สำนึกดีๆ ก็คงจะยิ่งขาดแคลนมากขึ้นๆ เป็นวัฏจักรเช่นนี้ไปเรื่อยๆ”

“ทั้งหมดนี้รับฟังมาจากผู้ที่เป็นหมอและพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐ ที่ล้วนผ่านโรงพยาบาลขนาดเล็กมาก่อน ที่เคยต้องรับผิดชอบชีวิตคนป่วย ต้องวินิจฉัยโรค พบเจอคนป่วยวันละเป็นร้อยคน ที่มีมาทุกรูปแบบ ผมคุยกับทุกท่าน ต่างก็พูดความในใจเช่นนี้ แนวนี้ ตรงกันทุกคน เชื่อว่าถ้าสังคมเรายังเป็นเช่นนี้ ไม่เคยยอมรับข้อจำกัดใดๆ ทางการแพทย์ที่มาจากหลายสาเหตุ

“ไม่เคยโทษตนเอง หรือญาติพี่น้อง ที่ไม่เคยจะใส่ใจในการรักษาสุขภาพแต่พอสมควร สะสมสารพัดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดโรคภัยได้เป็นร้อย มาเป็นหลายสิบปี แต่เมื่อร่างกายพังก็โยนความรับผิดชอบที่ควรมีต่อตนเองทั้งหมดมาให้เป็นภาระของบุคลากรทางการแพทย์ทันที โดยหลายคนยังมีความคิดที่เห็นแก่ตัว ที่ว่า “เป็นหมอ เป็นพยาบาล มีหน้าที่ก็รักษาไป รักษาให้หายด้วย เงินที่เรียน เงินเดือน มาจากภาษีของพวกข้า เช่นนี้แล้ว เราจะยังหวังที่จะมีหมอที่ทั้งสำนึกดี ทั้งเก่ง ทั้งรอบคอบ ทั้งอดทน แถมยังต้องพร้อมที่จะโดนด่า โดนประณาม โดนฟ้อง โดนยึดใบอนุญาต มารักษาคนเห็นแก่ตัวอย่างเรา ด้วยความยินดีและเต็มใจกันอีกเหรอครับ”

ข่าวจาก : มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: