รู้ก่อนรับเงิน! รัฐแจก 2,850บาทต่อเดือน คนจนเอาไปใช้อะไรได้บ้าง?





 

สำหรับผู้ที่ผ่านเกณฑ์การลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 ในรอบแรกนั้น คนจนรากหญ้า หรือชาวบ้านร้านตลาดใกล้จะได้เฮกันเต็มทีแล้ว หลังกระทรวงการคลังเตรียมคลอดมาตรการดูแลสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ซึ่งรายละเอียดที่ภาครัฐเขากำหนดมาจะเป็นอย่างไร เงินสองพันกว่าบาทนี้เอาไปใช้อะไรได้บ้าง? ใช้เงินเกินได้หรือไม่? เช็กได้ที่นี่!

1. เมื่อวันที่ 25 ก.ค.60 นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภายใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า(ต้นเดือน ส.ค.นี้) กระทรวงการคลังได้เสนอไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบมาตรการสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับผู้ที่ผ่านเกณฑ์การลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 ในรอบแรก

2. นายสมชัยกล่าวว่า กรมบัญชีกลางได้สรุปความต้องการใช้เงินในโครงการดังกล่าวแล้ว โดยคาดว่าจะใช้วงเงินไม่เกิน 40,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการคำนวณตัวเลขเบื้องต้นจากประชาชนที่คาดว่าจะได้รับสิทธิประมาณ 14 ล้านคน

3. กรมบัญชีกลางจะแจกบัตรสวัสดิการภายใน เดือน ส.ค.-เดือน ก.ย. เพื่อนำไปใช้ได้ทันในวันที่ 1 ต.ค.นี้

4. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด รัฐให้ความช่วยเหลือสวัสดิการต่อคนต่อเดือนไม่เกิน 2,850 บาท โดยแบ่งเป็นค่ารถเมล์ไม่เกิน 600 บาท ค่าโดยสารรถไฟ 1,000 บาท ค่ารถโดยสารบริษัทขนส่งจำกัด (บขส.) 800 บาท ค่าไฟฟ้า 200 บาท ค่าน้ำประปา 150 บาท และค่าสินค้าร้านธงฟ้าประชารัฐ 100 บาท ซึ่งจะเป็นสวัสดิการช่วยเหลือในสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้มีรายได้น้อย โดยจะเริ่มมีผล 1 ต.ค.2560 นี้

5.“ทางกระทรวงการคลัง จะเตรียมบัตรสวัสดิการไว้ให้ผู้ที่มีสิทธิ์ และจะใส่วงเงินไว้ให้ ยกตัวอย่างเช่น ใส่เงินให้หลักพันบาทต่อเดือน เพื่อนำไปใช้จ่ายค่าไฟฟ้า หรือค่าคมนาคม โดยในส่วนนี้จะให้เดือนต่อเดือน หากเกินกว่านั้นจะต้องออกค่าใช้จ่ายเอง แต่ในกรณีที่ใช้จ่ายไปเพียง 300 บาท ที่เหลือ 300 บาท ก็จะส่งคืนกลับกระทรวงการคลังและเริ่มรับใหม่ในเดือนถัดไป” นายสมชัยกล่าว

6. กระทรวงการคลัง ได้เร่งดำเนินการเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น เพียงพอต่อการดำรงชีพ จะได้ไม่ก่อหนี้นอกระบบ โดยในจำนวนของผู้ที่มาลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย 14.1 ล้านคน พบว่ามีหนี้นอกระบบอยู่ 1.3 ล้านคน มูลหนี้รวมดอกเบี้ย 8 หมื่นล้านบาท

7. สำหรับผู้ที่มีหนี้นอกระบบสามารถเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ได้ โดยเริ่มจากการไกล่เกลี่ยหนี้ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ และจัดหารายได้เสริม ฟื้นฟูอาชีพ เพิ่มรายได้ให้ผู้ที่มีหนี้นอกระบบ รวมทั้งยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่นๆ เช่น สินเชื่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และพิโกไฟแนนซ์ 
(หมายเหตุ : พิโกไฟแนนซ์ คือ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด วงเงินไม่เกิน 50,000 บาท หลักประกันมีหรือไม่มีก็ได้ ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใดๆ ได้ไม่เกิน 36% ต่อปี)

8. ในส่วนของการช่วยเหลือผู้มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 30,000 บาทนั้น จะเสนอ ครม.เป็นระยะที่สอง อาจจะมีการเติมเงินให้ เช่น กรณีมีรายได้ 28,000 บาทต่อปีรัฐอาจจะเติมเงินให้ 2,000 บาท แต่ ณ ขณะนี้ ยังไม่มีข้อสรุป

9. ในส่วนของการช่วยเหลือผู้มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 30,000 บาทนั้น เบื้องต้น มีการวางแผนว่า คนที่ได้รับเงินต้องเข้าโครงการฝึกอาชีพเพื่อพัฒนาตัวเอง และจะมีการประเมินผลทุกเดือน เพื่อตรวจสอบว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะบางรายอาจประกอบอาชีพทำมาหากินเลี้ยงชีพ จนมีรายได้เกินกว่าจะได้รับการช่วยเหลือ และถ้าสามารถทำเช่นนี้ได้ ย่อมถือว่าโครงการประสบผลสำเร็จ

10. ปลัดกระทรวงการคลัง ย้ำว่า ไม่ต้องการให้ประชาชนรอความช่วยเหลือจากภาครัฐเท่านั้น แต่การช่วยเหลือต้องเป็นการพัฒนาเพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

ข่าวจาก : ไทยรัฐออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: